xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : แบไต๋“บิ๊กตู่”ทำประชามติ ยึดหลัก “4ไม่” ปัดไขก๊อก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 ตอน แบไต๋“บิ๊กตู่”ทำประชามติ ยึดหลัก “4ไม่” ปัดไขก๊อก



การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ถกเถียงหารือเรื่องวิกฤติชาติ ในวันแรก ดูเหมือนจะมี ส.ส. และ ส.ว. หลายคน แบไต๋ท่าทีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกม็อบราษฎรใหม่ หรือ ม็อบสามนิ้ว จี้ให้ลาออก ออกมาเสนอแนวทางให้ทำประชามติถามประชาชนว่า

จะให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลาออกหรือไม่

ถือเป็นมิติใหม่ทางการเมืองพอสมควร กับการให้ทำประชามติ กับคำถามว่า นายกรัฐมนตรีควรออกจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเปิดช่องเอาไว้ โดยในมาตรา 166 ระบุเพียงว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ”

คนอ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น ก็จะเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญเขียนข้อห้ามไว้ชัดว่า การทำประชามติ ต้องไม่ถามเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล ดังนั้น ข้อเสนอนี้คงทำไม่ได้โดยกฎหมาย ไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น

แต่การที่ ส.ส. และ ส.ว.หลายคน รวมไปถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะซือแป๋กฎหมาย ชี้ช่องแบบเป็นนัยว่า ในกรณีที่มีกรรมวิธีการถามที่แยบยลและแนบเนียนก็เป็นเรื่องน่าพิจารณา ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดนี้ มีการวางแผนไว้ มีคนในรัฐบาลคิดอยู่จริงๆ

ท่าทีขว้างหินถามทางนี้ นอกจากเป็นการหนั่งกระแวสภาแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ถึงตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยอมลาออก ตามข้อเรียกร้องของ “ม็อบราษฎร” อย่างแน่นอน แม้จะถูกกดดันเท่าใดก็ตาม

ทำให้เข้าใจว่า การเสนอให้ทำประชามติเพื่อถามว่า ตัวเองควรจะ “อยู่” หรือ “ไป” คือ การหากระบวนการทุกวิถีทางเพื่อจะอยู่ต่อ ในอำนาจการเมืองต่อไป โดยไม่สนเสียงไล่ของม็อบราษฎรใหม่ ที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน

หากคิดทำประชามติเพื่อหยั่งเสียงนายกฯตู่จะอยู่หรือไปต้องอย่าลืมว่า การทำประชามตินั้น มีต้นทุนที่สูงมาก ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้งบร่วม 4,000 ล้านบาท ขณะที่ในกฎหมายประชามติ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการคำนวณเบื้องต้นแล้วว่า การทำประชามติ 1 ครั้ง จะต้องใช้เงินถึง 3,000 ล้านบาท
หากต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อจะถามประชาชนว่า ควรจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก หรือ ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มันคุ้มแล้วใช่หรือไม่ กับการแค่ถามเพื่อใครคนเดียว

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การนำงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่สามารถเอาไปช่วยเหลือประชาชนได้มากมาย มาแลกกับการขอความชอบธรรมแก่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับกระตุ้นความไม่พอใจของคนที่เงียบเสียงอยู่ ให้ออกมายืนตรงข้ามรัฐบาล

ข้อที่สุ่มเสี่ยงการทำประชามติจะละลายเงินไปเปล่าๆ ก็คือแม้การทำประชามติจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างแฟร์ แต่ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจรัฐในมือ ย่อมยิ่งถูกมองว่า ใช้กลไกรัฐเพื่อช่วยให้ตัวเองมีอำนาจต่อ จะยิ่งทำให้ประชาชนในประเทศไม่พอใจ มากขึ้นอีก

ทางเลือกที่ดี ก็มีอยู่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่า จะสามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้งในการทำประชามติ เหตุใดจึงไม่ยุบสภา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้สิ้นกระแสความและได้รับการยอมรับจากสากลด้วย

วิธีทำประชามติเพื่อรับรองนายกรัฐมนตรีแบบนี้ แม้จะคิดได้ แต่เป็นการทำลายบรรทัดฐานทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ผิดๆ ที่นักการเมืองจะเอาไปอ้างในภายภาคหน้าได้เวลาถูกขับไล่ หรือประชาชนไม่พอใจ

ก็จะเลียนแบบใช้วิธีผลาญงบประมาณไปทำประชามติ เพื่อจะหาทางอยู่ในอำนาจต่อ โดยอ้างว่า เคยมีการทำมาแล้วในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน วิธีนี้ยังจะเป็นการทำให้สำนึกความรับผิดชอบของนักการเมืองลดลง เพราะหากเกิดเรื่องใดๆ ก็ตามกับตัวเอง จะไม่มีทางแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ในภาวะที่ม็อบราษฎรรุกคืบเข้าขับไล่อย่างต่อเนื่อง และรายวัน “บิ๊กตู่” มีแนวคิดและความรู้สึกอย่างไร จากที่สังเกตดูในช่วงนี้แนวคิดของบิ๊กคือไม่ลาออกแน่ และยึดหลัก 4 ไม่

หลัก “4 ไม่” ได้แก่ 1.ไม่คิดว่าตัวเองเป็นปัญหา ยังเชื่อว่า การชุมนุมเกิดจากการฝ่ายตรงข้ามต้องการเปลี่ยนแปลง หรือเข้ามามีอำนาจในรัฐบาล

2.ไม่สนว่าใครจะว่าสืบทอดอำนาจ “บิ๊กตู่” ยังเชื่อว่า ตัวเองมาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 3.ไม่คิดจะลาออกตามคำเรียกร้อง และ 4.ไม่คิดจะถอย

ดังนั้น หาก “บิ๊กตู่” ยังยึดหลัก “4 ไม่” แบบฝังลึกแล้ว และยังคิดจะทำประชามติรองรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็เสี่ยงที่สถานการณ์ประเทศ จะเข้าสู่จุดวิกฤติได้


กำลังโหลดความคิดเห็น