ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายซัดผู้ชุมนุมจาบจ้วงสถาบันฯ หนุน “ประยุทธ์” อยู่ต่อไป ขอให้นึกถึงเสียง 8.4 ล้านที่เลือกมา อย่าสนเสียงคนไม่กี่หมื่น เสนอทำประชามติเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ มั่นใจเกิน 90% ไม่เอาม็อบที่จาบจ้วงสถาบันฯ
วันนี้ (26 ต.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงขนาดกระทำการขัดขวางรุมล้อมตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ขบวนเสด็จฯ การกระทำของผู้ชุมนุมถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเป้าหมายหลักต้องการปฏิรูปสถาบันฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องสถาบันฯ แกนนำผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อให้การปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลงจนนำไปสู่การรุกคืบต่อการปฏิรูป ตนจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต่อไป ขอให้บริหารประเทศด้วยความมั่นคง และเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ท่านต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน 8.4 ล้านคนที่เลือกท่านมาเป็นนายกฯ
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสถาบันหลายมาตรา และที่ชัดเจนคือการเสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่ได้กำหนดห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเปิดช่องให้แกนนำเครือข่ายผู้ชุมนุม อดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ร. การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญที่มุ่งไปสู่การปฏิรูปสถาบันฯ หากปรากฏว่าพรรคการเมืองใด ผู้บริหารพรรคการเมืองใด หรือ ส.ส.ของพรรคการเมืองใด ไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน หรือเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสถาบัน จะเข้าข่ายสนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเป็นคดีอาญา นอกจากนี้ ในการชุมนุมครั้งนี้นักการเมืองได้ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจ
“ผมขอประณามนักการเมืองที่แอบข้างหลังเยาวชนของชาติ ส่วนข้อเรียกร้องให้ยุบสภา หากนายกฯ กระทำแบบนั้นจะมีผลเสียหายโดยรวม ผมจึงเสนอให้ใช้การออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนทั้งประเทศมาออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการจัดการชุมนุมในปัจจุบัน ซึ่งทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 และอาจตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ก็ได้ หากการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นจะเท่ากับเสียงคนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการออกเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และจะได้ข้อยุติซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่คนหลักหมื่นมาอ้างเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ผมมั่นใจว่าประชาชนเสียงข้างมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะมีการออกเสียงประชามติหรือไม่ แกนนำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ในขณะนี้ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ในที่สุดจะพ่ายแพ้ไปอย่างแน่นอนในเร็ววันนี้ ขอให้ประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคนออกมาพิทักษ์ รักษาชาติ ศาสนา และสถาบันฯ ให้จงได้”