“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ แนะใช้กระบวนการรัฐสภา อภิปรายทางออกประเทศ หากไม่ได้ผลเสนอทำประชามติ เหมือนกรณี “เบร็กซิต” ของอังกฤษ แนะรัฐบาล-ม็อบเลี่ยงขยายขัดแย้ง ชี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายได้
วันนี้ (25 ต.ค.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ทางการเมือง ในประเด็นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ โดยเห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นต่างออกไปได้ ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยระงับข้อขัดแย้ง โดยกระบวนการทางรัฐสภาถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์
หากกระบวนการทางรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไป คือ การทำประชามติ เปิดให้แต่ละฝ่ายแสดงเหตุผลของตนได้อย่างเป็นธรรม ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่มีการคุกคาม เหมือนการทำประชามติเรื่อง “เบร็กซิต” (หรือการให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) ของคนอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ควรมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย ซึ่งต้องมีบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย
นายสมเกียรติ เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้ง ควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทางการเมืองทั้งหมด ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม ควรทำความเข้าใจและเห็นใจผู้เห็นต่างมากขึ้น เลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำ และสัญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการท้าทาย ยั่วยุ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่อาจเกิดการเผชิญหน้า อีกทั้งทุกฝ่ายควรป้องกันการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการทำรัฐประหาร ลดระดับการกล่าวหากันและเลิกรุมประณามผู้ที่เห็นต่าง โดยมีข้อความดังนี้
“เพื่อนๆ ครับ ที่ผ่านมา ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองบ่อยนัก เพราะไม่คิดว่าตัวเองมีความรู้มากไปกว่าผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านที่ได้ให้ข้อคิดเห็นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมขอแสดงความคิดเห็นจากมุมมองส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศไทยของเรานะครับ
ที่มาของความห่วงใยของผม คือ ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทยทุกวันนี้ ทำท่าจะถ่างกว้างขึ้นทุกที โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวมาก คือ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว จากการปะทะกันในการชุมนุมสาธารณะ หรือการเผชิญหน้ากันในพิธีการสำคัญต่างๆ
สำหรับคนไทยจำนวนมาก คำถามที่สำคัญคือ เราควรมีระบบการเมืองการปกครองแบบไหน และสถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาทอย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายก็ได้แสดงความเห็นตามความเชื่อของตนออกมา เห็นได้ชัดว่า ยังมีความแตกต่างกันทางความคิดอยู่มาก ซึ่งทุกฝ่ายควรพูดคุยกันต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างใจเย็นๆ และพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมไม่มีองค์กรทางการเมืองหรือสถาบันใดที่จะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องปรับตัว และไม่มีองค์กรทางการเมือง หรือสถาบันใดที่จะสามารถอยู่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ความพยายามที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการปรับตัว หรือกระทั่งพยายามย้อนกลับไปสู่อดีต 80-90 ปีก่อนนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และจะสร้างความเสียหายใหญ่ให้เกิดขึ้น
ถึงจุดหนึ่ง เราอาจพบว่า ยากที่การพูดคุยในบางประเด็นจะทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันได้ และยากที่ฝ่ายหนึ่งจะสามารถโน้มน้าวใจให้อีกฝ่ายคิด และเชื่อเหมือนตนได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งควบคู่ไปด้วยคือ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หากไม่สามารถเห็นพ้องต้องกันในประเด็นที่สำคัญ?
ประเด็นที่ผมอยากเสนอ ก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็คงต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป ไม่สามารถขับไล่หรือกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นต่างออกไปได้ และเผลอๆ คนที่เห็นต่างจากเราอาจเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทของเราเอง ผมจึงขอฝากข้อคิดและข้อเสนอบางประเด็นดังต่อไปนี้ ให้เพื่อนๆ ช่วยกันขบคิดและหาทางดำเนินการต่อไปครับ
หนึ่ง อย่าไปคิดว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาไกลจนเลยจุดที่สามารถพูดคุย หรือหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว เพราะอย่างน้อยก็โชคดีที่ความขัดแย้งในประเทศไทย เป็นเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องศาสนา หรือเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ามาก
สอง ควรตระหนักว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดได้ นอกจากจะพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยในการระงับข้อขัดแย้ง วิธีการแรกที่ควรทำคือ การใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ โดยควรให้บทบาทหลักแก่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ในการหาทางออกร่วมกันให้แก่สังคม
ทั้งนี้ หากกระบวนการทางรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ควรทำ คือ การกลับไปถามประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ผ่านการทำประชามติ ดังที่บางท่านเคยเสนอไว้ โดยเปิดให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงเหตุผลของตนได้อย่างเป็นธรรม ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่มีการคุกคามกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของกระบวนการ ไม่ให้มีเรื่องค้างคาใจกันหลงเหลืออยู่เหมือนการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 แน่นอน ทางเลือกนี้อาจไม่สามารถลดข้อขัดแย้งได้หมด แต่หากทุกฝ่ายยอมรับกระบวนการ สังคมไทยก็น่าจะพอเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนการทำประชามติเรื่อง “เบร็กซิต” ของคนอังกฤษ ซึ่งแม้สุดท้ายอาจจะไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่ออังกฤษ แต่ก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคม
สาม ไม่ว่ากระบวนการที่เป็นทางการข้างต้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ควรมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย ทั้งนี้ การพูดคุยกันดังกล่าวไม่ควรทำให้เอิกเกริก จนแต่ละฝ่ายถูกกดดันให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทีได้ ทั้งนี้ อาจมีคำถามว่า ใครจะเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้ต่อต้านรัฐบาล? และใครจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ยอมรับ? ผมคิดว่า ประเด็นนี้ไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่มากจนทำให้ไม่เกิดการพูดคุยกัน เพราะกระบวนการนี้ไม่เป็นทางการและไม่มีผลผูกมัดอยู่แล้ว
สี่ กระบวนการหาทางออกร่วมกันที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย จนสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องนี้ ผมมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้ครับ
ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเริ่มมีท่าทีในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นในช่วงหลัง จากการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ยกเลิกการปิดสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมบางส่วน อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแท้จริง รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่มีลักษณะทางการเมืองทั้งหมดออกมา และแสดงท่าทีที่เปิดกว้างที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงการข่มขู่ทางกฎหมาย
ทางฝ่ายผู้ชุมนุม ควรพยายามทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ที่เห็นต่างมากขึ้น และหากจะแสดงออกในการคัดค้านรัฐบาลหรือเรียกร้องในเรื่องอะไร ควรเลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำ และสัญญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกหรือการใช้สัญลักษณ์ที่ท้าทาย หรือถูกตีความได้ว่าเป็นการยั่วยุ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจเกิดการเผชิญหน้า
ที่สำคัญ ทุกฝ่ายควรช่วยกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการทำรัฐประหาร ลดระดับการกล่าวหากันและเลิกรุมประณามผู้ที่เห็นต่างจากตน ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหรือดูถูกเหยีดหยาม เพราะจะทำลายบรรยากาศที่เปิดกว้างและปลอดภัย
ห้า ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ฝ่ายที่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ไม่ควรที่จะรุกไล่จนอีกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้ไปทั้งหมด และรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่ฝ่ายหลังก็ควรยอมรับข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ และหากต้องการที่จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของสังคมอีกในอนาคต ก็ควรใช้กระบวนการทางรัฐสภา หรือการลงประชามติเป็นหลัก
เพื่อนๆ ครับ ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งหากเดินก้าวพลาดไปแล้ว อาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา จนอาจมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกละเมิดเสรีภาพอย่างร้ายแรง ตลอดจนเกิดความแตกแยกร้าวฉานระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง
ในสภาวะเช่นนี้ ผมคิดว่ามีแต่การใช้เหตุผล สติ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรืออย่างน้อยความอดกลั้นต่อความเห็นต่างและวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถก้าวเดินไปได้อย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้”