หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ChulchermYugala ระบุว่า “ยังไงปี 64 หลังโควิดเบาบางลงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือน 2475 จะเปลี่ยนในมือเขาหรือในมือเราเท่านั้นสามัคคีกันไว้การ์ดอย่าตกก็แล้วกันครับ”
ข้อความของท่านใหม่นั้นหมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะท่านใหม่นั้นเป็นคนที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเสมอมา และ 2475 ก็คือ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะการก่อการยึดอำนาจของคณะราษฎรในสมัยนั้น
หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อเราเปลี่ยนแปลงมาแล้วตั้งแต่ 2475 วันนี้เรามีประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงระดับเดียวกับ 2475 ในความหมายของท่านใหม่คืออะไร
ถ้าเราจำกันได้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยออกมาประกาศว่า จะสานต่อภารกิจของ 2475 ที่ยังทำไม่สำเร็จ ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่า ภารกิจ 2475ตามความมุ่งหมายของคณะราษฎรที่ยังไม่สำเร็จคืออะไร
ซึ่งต่อมาเมื่อถูกโจมตีมากนายธนาธรได้อธิบายว่า “อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนกลับมาให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อพูดอย่างนี้ผมเองก็จะโดนคำกล่าวหาโดนใส่ร้ายป้ายสีเรื่องการสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของคณะราษฎรขอยืนยันอีกครั้งว่าภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จในวันนี้และเราพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อนั่นคือการสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงภารกิจ 2475 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันอย่างที่เราถูกใส่ร้ายเราเชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพรเมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งวันนี้เรายังมีความหวังในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นเราเห็นผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นมีการติดตามไลฟ์การประชุมสภาหลายล้านคนผมคิดว่าการตื่นตัวมาถึงจุดที่พูดได้ว่าเราสนใจการเมืองที่เนื้อหานั่นเพราะอำนาจเป็นของเราอยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนร่วมกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง”
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเห็นของท่านใหม่ที่บอกว่า จะเปลี่ยนในมือเขาหรือเปลี่ยนในมือเรา เขาก็คือ ความเห็นและการแสดงออกที่เป็นปฏิกิริยากับอำนาจปัจจุบันจากฝั่งของธนาธรนั่นเอง
แม้ธนาธรจะอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงหมายถึงการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สถาพรมั่นคงขึ้น แต่จุดยืนทางการเมืองและการแสดงความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของธนาธรและปิยบุตร แสงกนกกุลนั้นชัดเจนเสมอมาว่า พวกเขามีแนวคิดในการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์
พูดง่ายๆ ว่าอย่างน้อยที่สุดพวกเขาต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเป็นpaliamentary monarchy เต็มรูปแบบเช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ นั่นคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่แต่ต้องลดบทบาทลงมา
ดังที่ปิยบุตรเคยพูดว่า “สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตยโดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่งซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆผ่านรัฐได้อีกต่อไปโดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการรวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะและต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญเป็นต้น”
ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การกล่าวหาหรือโจมตีความคิดเห็นอุดมการณ์ของพวกเขาผิดหรือถูก แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผ่านการแสดงออกของพวกเขาเองผ่านเวทีความคิดต่างๆ เสมอมา
แม้ความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ในแต่ละประเทศย่อมจะมีกฎหมายในการปกป้องระบอบของรัฐ ดังนั้นการเคลื่อนไหวอาจจะเป็นสิทธิในเชิงเสรีภาพและการมีสิทธิในการยึดมั่นในอุดมการณ์การเมืองที่ตนศรัทธา แต่ย่อมจะมีความผิดต่อกฎหมายของรัฐฝ่ายที่จะเปลี่ยนแปลงจึงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐอย่างที่คณะราษฎรทำสำเร็จในปี 2475 เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์
แต่แน่นอนว่า ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเชื่อมั่นศรัทธาในรูปแบบของรัฐที่เป็นอยู่ก็จะต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน นี่ต่างหากคือ สิ่งที่ท่านใหม่เตือนในประชาชนเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า “จะเปลี่ยนในมือเขาหรือมือเรา สามัคคีกันไว้”
ดังนั้นดังที่กล่าวมาเขาและเราคือใครฝ่ายไหนอย่างไรตอนนี้สังคมไทยน่าจะปรากฏตัวฉายชัดอยู่ที่โล่งแจ้งอยู่แล้ว
แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นแน่ ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่มีมติเห็นพ้องต้องกัน อำนาจของประชาชนย่อมจะเป็นอำนาจที่ใหญ่ที่สุดภายใต้อำนาจอธิปไตย เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วเป็นของประชาชน แต่ในสภาพที่ประชาชนมีความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงของอีกฝ่ายจึงต้องหักล้างกับอีกฝ่าย ดังนั้นผลที่ตามมาย่อมหมายถึงความรุนแรง
ในปัจจุบันร่องรอยของการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายคือ เขากับเรานั้นเกิดขึ้นจริงอย่างที่ท่านใหม่ออกมาแสดงความเห็นอย่างไม่ต้องสงสัย และนับวันจะมีการแสดงออกที่ไม่ยอมรับระบอบที่เป็นอยู่อย่างชัดเจนเปิดเผยขึ้นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ มีความกล้ามากขึ้น แหลมคมขึ้น และขยายตัวเป็นดอกเห็ดโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
แต่เดิมนั้นความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบนั้น ซุกซ่อนอำพราง เกิดขึ้นในปีกของคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง จนมีคำพูดกันว่า ไม่ใช่คนเสื้อแดงทั้งหมดไม่เอาเจ้า แต่คนไม่เอาเจ้าทั้งหมดเป็นเสื้อแดง การเข้าไปอิงแอบกับมวลชนเสื้อแดงของทักษิณนั้น เพราะทักษิณถูกสถาปนาให้เป็นหัวหอกของคนที่ต่อสู้กับอำนาจเก่าที่พวกเขาสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเรื่องไพร่กับอำมาตย์ และบอกว่าทักษิณถูกโค่นล้มเพราะอำนาจเก่าอิจฉาทักษิณที่เป็นที่รักใคร่ของมวลชนชั้นล่าง ซึ่งมองไม่เห็นเหตุผลเลยว่า แม้จะจริงแล้วจะต้องอิจฉาทักษิณไปทำไม
แต่คำพูดแบบนั้นทำให้ความไม่ชอบของทักษิณการฉ้อฉลของทักษิณจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมถูกมองข้ามไปหมด กลายเป็นทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมไป และเชิดชูกันจนทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษของฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งที่ทักษิณมีคุณสมบัติเดียวคือมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเอง
แน่นอนแนวทางของธนาธรกับปิยบุตรก็สอดคล้องกับแนวทางนี้ จึงกลายเป็นแนวร่วมของระบอบทักษิณไปโดยปริยาย เมื่ออำนาจของทักษิณอ่อนแอลงพรรคของทักษิณถูกกล่าวหาว่าสู้ไปหมอบไป มวลชนของทักษิณจึงกลายเป็นมวลชนของธนาธร นอกเหนือจากที่มีแนวร่วมเป็นคนหนุ่มสาวซึ่งชื่นชมบูชาว่าธนาธรเป็นความหวังของคนรุ่นเขาที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม
ดังนั้นเค้ารางของความรุนแรงที่ท่านใหม่ออกมาส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อมนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินเลย เพราะเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้ในระบบของฝั่งตรงข้ามอำนาจรัฐตอนนี้นั้นแทบจะไม่มีหนทางเลย การเปลี่ยนแปลงทางเดียวที่จะโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้เพื่อให้เกิดสิ่งที่มุ่งหวังได้นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงลุกฮือบนท้องถนนเท่านั้น
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลจากการรัฐประหารได้เปรียบในการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญก็ถูกเขียนให้ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเปิดโอกาสให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐใช้ความได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไปได้นานถึง8ปี โดยข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้งแต่เป็นฝ่ายได้เปรียบในกติกา
ถ้าถามว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะผ่อนคลายความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเห็นต่างทางการเมือง และให้การทำนายว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของท่านใหม่ในระดับ2475เกิดขึ้นอย่างสันติ ก็น่าจะคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมที่มีส่วนร่วมมาจากทุกฝ่ายแบบที่เคยเกิดขึ้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว และเมื่อแก้ในระบบไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็แปรสภาพเป็นระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง
ปัญหาอีกอย่างสำหรับสังคมไทยตอนนี้ก็คือ เราไม่มีคนกลางที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายอีกแล้ว ความขัดแย้งของคนในชาติ แม้จะไม่ถึงขั้นที่คนสองฝั่งยกพวกตีกัน แต่บาดแผลที่ฝังอยู่ในใจทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกและฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิด ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน มีแต่ความรู้สึกที่เหยียดหยามหมิ่นแคลนกันและกัน และคิดว่าความเห็นความเชื่อของฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นความชั่วช้าและเลว แต่ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองมีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองไม่ต่างกัน
ดังนั้นการหาทางออกที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่แล้ว
ที่สำคัญนอกจากความคิดเห็นในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ซ้อนขึ้นมาคือ ความเห็นต่างของคนต่างรุ่นต่างวัย คนที่สนับสนุนฝั่งของธนาธรและส่งเสียงอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่ผูกพันกับรากเหง้า โดยมีคนรุ่นเก่าที่เคยมุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีตแล้วพ่ายแพ้ แต่จะมีความเคียดแค้นที่ฝังใจเป็นแนวร่วม
แน่นอนต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตัวเองมีความถูกต้องและชอบธรรม แต่ที่สำคัญก็คือ คนหนุ่มสาวมีเวลาและอนาคตที่ยาวไกลกว่าซึ่งเป็นเรื่องของสัจธรรม
หลังวิกฤตโควิดผ่านไปแล้ว ความฝังใจว่าฝ่ายหนึ่งได้อำนาจมาอย่างไม่เป็นธรรม และยังใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจะถูกปลุกปั่นขึ้นมาเพื่อปลุกระดมทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อบวกกับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่มีคนเดือดร้อนจำนวนมากแล้วอาจกลายเป็นสองกระแสธารที่ไหลมารวมกัน ที่มากกว่าเดิมไฟที่ถูกจุดขึ้นอาจไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นคำเตือนของท่านใหม่ที่บอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับ 2475นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นไม่ได้
จะเปลี่ยนเขาหรือเปลี่ยนเราเท่านั้น
ณ เวลานี้ยังมองไม่ออกเลยว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยจะจบลงอย่างไร และอะไรจะเป็นเครื่องมือเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าจากการมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan