xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คณะลาบ” มุ่ง “ฟ้าเดียวกัน” “กก.สมานฉันท์”พิการแต่เกิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – เริ่มตั้งไข่กันแล้ว

สำหรับ “คณะกรรมการสมานฉันท์” ซึ่งยังเป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นแนวทางที่ทิ้ง “หัวเชื้อ” ไว้ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่เปิดสมัยวิสามัญเฉพาะกิจ เพื่ออภิปรายโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อคลี่คลายถานการณ์การเมือง ไปเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค.63 ที่ผ่านมา
โดยโยนตำแหน่ง “เจ้าภาพ” ให้ “นายหัวมีดโกนชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานผู้แทนราษฎร คนปัจจุบัน ที่มีดีกรีเป็นอดีตนายกฯ 2 สมัยด้วย

แม้รายละเอียด หรือหลักการยังไม่มีออกมาให้เห็น แต่ก็ไม่พ้นลอกโมเดลมาจากคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งนั้นได้ ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน

แต่รอบนี้ทำท่าจะล่มตั้งแต่ยังไม่ออกจากท่า เมื่อมีแต่คนออกมา “ติเรือทั้งโกลน” ดักทางไว้แล้ว

ด้วยแนวทางของ “ประธานชวน” ที่ประกาศเทียบเชิญระดับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เข้าร่วมเสนอแนะแนวทางในคณะกรรมการฯ ที่ยังไม่สรุปว่า จะมามีตำแหน่งแห่งที่หรือไม่อย่างไร


ไม่ว่าจะ “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” อานันท์ ปันยารชุน, “บิ๊กจิ๋ว โซ่ข้อกลาง” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, “เขยชินวัตร” สมชาย วงศ์สวัสดิ์, “พี่มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และล่าสุดต่อสายเทียบเชิญ “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี กระทั่ง “นายกฯรัฐบาลหอย” ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ที่ว่ากันว่าปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็ยังติดโผมาด้วย

ไม่ทันไร “ม็อบราษฎร” ที่เป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงกับ “รัฐบาล-ฝ่ายกุมอำนาจ” ประกาศออกมาแล้วว่า จะไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการฯชุดนี้เด็ดขาด เพราะมองว่า เป็นแค่เพียงการ “ซื้อเวลา” เท่านั้น

พร้อมยืนยันข้อเสนอของตัวเอง คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยไม่ลืมข้อเสนอ “ทะลุเพดาน” อย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งหากขาดตัวแทนของ “ม็อบราษฎร” ไป หรือทางด้าน “พรรคฝ่ายค้าน” ก็ออกลูกกั๊ก “รักษาน้ำใจ” ว่าขอดูรายละเอียดของคณะกรรมการฯ ก่อน ทั้งๆ ที่ก้นบึ้งอยากปฏิเสธให้รู้แล้วรู้รอดตั้งแต่ต้น

เมื่อทำท่าจะไม่มีทั้งม็อบราษฎร หรือฝ่ายค้านแล้ว ย่อมส่งผลให้คณะกรรมการฯชุดนี้ “พิการแต่กำเนิด” ก็ไม่ผิด เพราะขาดคู่ขัดแย้ง “ตัวจริง” เข้าร่วม

อย่างไรก็ดี “นายหัวชวน” ยืนกรานว่า ต้องเดินหน้า อย่างน้อยจะได้รับการข้อเสนอดีๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งหลาย เพื่อเอามาแก้ไขปัญหาในอนาคต

เพราะถึงจะไม่ได้อะไรเลย การตั้งคณะกรรมการฯที่พรั่งพร้อมไปด้วย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทั้งอดีตนายกฯ หรืออดีตประธานรัฐสภา ก็อาจเป็น “ประตูหนีไฟ” ในวันข้างหน้าหากสถานการณ์ประเทศเลวร้ายกว่านี้

หรือเลวร้ายถึงขั้นเข้า “เดดล็อก” ไร้ทางออกตามกลไกปกติ จนอาจต้องใช้บริการ “นายกฯ คนนอก” อีกคำรบ

 “แก๊งราษฎร” สับขาหลอก
ไม่ได้เซอร์ไพร์สเท่าไรกับท่าที “ตั้งแง่” และประกาศไม่กระโดดเข้าร่วมวงคณะกรรมการสมานฉันท์ของ “ม็อบราษฎร” เพราะระดับ “แกนนำ” ทระนงตัวว่า วันนี้ม็อบเดินมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับ

การเข้าไปสังฆกรรม ไม่ต่างอะไรกับการยอมถอยให้กับรัฐบาล กลายเป็นคนที่ถูกกำหนดเกมให้เดิน ไม่ใช่คนที่มีอำนาจต่อรองอะไรได้ เพราะขณะนี้ยังสนุกสนานกับการเดินเกมให้ “ฝ่ายรัฐ” วิ่งไล่จับ

การเข้าร่วมคณะกรรมการฯไม่ต่างอะไรกับการประกาศ “ยอมแพ้” ในทางการเมือง เหมือนเมื่อครั้งที่ “สามเกลอเสื้อแดง” วีระกานต์ มุสิกพงษ์, จตุพร พรหมพันธ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยอมไป “ดีเบต” ออกอากาศกับตัวแทนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อตอนเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552-2553

ภาพ “คณะลาบ” ซึ่งมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “อานนท์ นำภา” นั่งโต๊ะอาหารเดียวกัน ทำให้ตอกย้ำเป้าหมายเรื่องสถาบัน โดยมิอาจมองเป็นอย่างอื่นได้

โปสเตอร์เชิญชวนชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร 2563 ที่พุ่งเป้าไปที่สถาบันโดยตรง
ที่สุดท้าย “คว้าน้ำเหลว” ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาเลย
ท่าที “ม็อบราษฎร” ที่แถลงการณ์ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันฯ

ในแข็งจะพบความอ่อนอยู่ให้เห็นคือ การเน้นไปที่ตัว “บิ๊กตู่” ให้ลาออก

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ที่ม็อบไม่สามารถถอดออกได้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่หวือหวาในการเรียกมวลชนเข้ามาชุมนุม หากลดโทนเมื่อไหร่ อาจสูญเสียมวลชน

ทางกลับกัน “แกนนำม็อบ” เองก็รู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ยากจะสำเร็จ โดยเฉพาะช่วงนี้กระแส “รักชาติ-ปกป้องสถาบันฯ” กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้มีแต่ “แก๊งมินเนี่ยน” อย่างที่ค่อนแคะไปแรกๆ

ปฏิกิริยา “คนสวมเสื้อเหลือง” ที่ไม่พอใจข้อเสนอม็อบ เริ่มจะจุดติดในหลายพื้นที่ ประชาชนชักกล้ามาแสดงออก ต่อต้านข้อเสนอของม็อบแบบไม่กลัว “ทัวร์ลง”

สะท้อนว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็น “พลังเงียบ” ในช่วงที่ผ่านมา คิดอย่างไร และใครกันแน่ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

ยิ่ง “คนรักสถาบันฯ” ทยอยแสดงตัวออกมาเท่าไร และเนิ่นนานไป “ม็อบราษฎร” อาจจะกลายเป็นแค่ “คนส่วนน้อย” ในประเทศในที่สุด

อย่าลืมว่า ธรรมชาติของม็อบ แรกๆ จะหวือหวา มวลชนจะแห่มาร่วมแบบมืดฟ้ามัวดิน แต่หากไม่สามารถเผด็จศึกรัฐบาลได้ สุดท้ายจะค่อยๆ เข้าสู่ช่วงขาลง ประชาชนจะเริ่มบางตา

เห็นได้ชัดว่า แฟลชม็อบในระยะหลังๆ มานี้ ตามสถานที่ต่างๆ คนเริ่มบางตา ไม่เหมือนแต่ก่อน เหมือนอีเวนต์ที่สร้างพื้นที่ขึ้นมาด่ารัฐบาล และพุ่งขึ้นฟ้าเท่านั้น

แรงดึงดูดมวลชนให้เข้าร่วมเริ่มน้อยลง มุก “แกง” เจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคง อาจสร้างความสะใจให้กับมวลชน ที่หลอกตำรวจได้สำเร็จ แต่เมื่อเจอตำรวจแก้เกมกลับ แกงได้แกงไป หลอกได้หลอกไป ไม่สน ไม่แคร์ มันก็ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป

หรือการโหมประโคมว่า จะจัด “บิ๊กเซอร์ไพร์สแบบเบิ้มๆ” แรกๆ มันก็ดูเบิ้ม แต่หลังๆ ก็กลายเป็นมุกฝืดๆ ที่ไม่ขำแล้ว โดยเฉพาะการโปรโมตการบิ๊กเซอร์ไพร์สในงานรับปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนจับจ้องว่า ม็อบราษฎรจะแกงอะไรเจ้าหน้าที่

แต่สุดท้ายแค่นำสแตนดี้ของ “เจ๊ชิบูย่า” ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตั้งเพื่อให้บัณฑิตถ่ายรูปเล่น ไม่มีอะไรตื่นเต้นกว่านี้

ต้องยอมรับว่า ม็อบแผ่วลงชัดเจน กระแสมันไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนอย่างเคย ส่วนหนึ่ง เพราะมันกดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้

ยิ่งม็อบหมาย “ไต่เพดาน” แตะต้อง “เบื้องสูง” เหมือนเป็นการทำลายแนวร่วมของคนกลางๆ ม็อบอาจทำให้คนกล้ามากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

กรอบสันติอหิงสา ตามแนวทางของคนรุ่นใหม่ แม้จะเป็นเรื่องดี หากแต่ได้กลายเป็น “ข้อจำกัด” ทำให้ม็อบโตไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะเมื่อม็อบสันติมา แล้วเจ้าหน้าที่สันติกลับ จึงจบลงด้วย “ความว่างเปล่า”

ฝ่ายต่างๆ ก็พยายามประนีประนอมกับม็อบ โดยเฉพาะท่าทีของศาลที่ยกคำร้องของตำรวจในการฝากขังบรรดาแกนนำ มันเลยทำให้อุณหภูมิในประเทศดูเบาลง เสมือนผู้ใหญ่ที่ให้ความเมตตาและเข้าใจวิถี “ขบถ” ของวัยรุ่น

เมื่อไม่มีความรุนแรง เมื่อแฟลชม็อบแล้วเลิก เมื่อทำให้คนกรุงปรับตัวเข้ากับวิถีของม็อบได้ สถานการณ์จึงนิ่ง และค่อยๆ ซาลงตามธรรมชาติของม็อบ

ยกเว้นจะยกระดับเข้าสู่ความรุนแรง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อผู้ชุมนุมเอง เพราะเหมือนจะทำให้การชุมนุมแต่ละครั้งหลังจากนี้ดูอันตรายและสุ่มเสี่ยง จะไม่มีใครกล้าเดินทางมาเข้าร่วม เพราะห่วงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

และหากใช้ความรุนแรง ก็ไม่พ้นเข้าทางรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง ให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่เพื่อรักษาความสงบ ม็อบเองจะขาดความชอบธรรมไปโดยปริยาย

มีการประเมินกันว่า หากม็อบยังใช้วิธีแบบเด็กๆ วันหนึ่งม็อบจะเข้าสู่ทางตันโดยอัตโนมัติ

ซึ่งม็อบเองย่อมมองสถานการณ์ตัวเองออกว่า วันนี้กับเมื่อวานมันไม่เหมือนเดิม “จุดพีค” ของม็อบได้เลยมาสู่ช่วงร่วงลงสู่ “จุดต่ำสุด”

อาจเป็นที่มาของ “เสียงอ่อยๆ” ในการแถลงข่าววันที่ 4 พ.ย. ที่แม้จะยืนกราน 3 ข้อเรียกร้อง แต่เน้นหนักไปที่ให้ “นายกฯ ลาออก” มากที่สุด

ทว่า ที่ผ่านมาหลังจากคำประกาศ “10 ข้อเรียกร้อง” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็เป็นการ “เปลือยตัวตน” ของ “แกนนำม็อบ” แล้วว่า เป้าหมายคืออะไร

การทำที “ลดเพดาน” มาเน้นที่การขับไล่ “บิ๊กตู่” ก็เป็นแค่หมาก “สับขาหลอก” เพราะรู้กันอยู่ว่า “แกนนำ” โดยเฉพาะ “ไอ้โม่งเบื้องหลัง” คิดอะไรอยู่

 คณะลาบ ฟ้าเดียวกัน

ย้อนไปถึงคำปราศรัยของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่หลังๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร ที่สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข เมื่อไม่กี่วันก่อน ก็พอจะบอกอะไรได้คร่าวๆ ว่า ม็อบเริ่มรู้ตัว และถอยแบบเนียนๆ

โดยการชุมนุมวันนั้น มีการเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยขอให้ “บิ๊กตู่” ลาออก เพื่อเปิดทางให้คนอื่นมาแก้รัฐธรรมนูญ

การเน้น 2 เรื่องนี้ เพื่อต้องการจะเรียก “คนกลางๆ” ให้กลับเข้ามาร่วมกับผู้ชุมนุม และเพิ่มความเป็นไปได้ให้ข้อเสนอบางข้อได้รับการตอบสนองเป็นรูปธรรม

ถอดรหัสได้ว่า “แกนนำม็อบบางส่วน” ประเมินว่า แค่ “บิ๊กตู่” ลาออก ก็น่าจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของการชุมนุม เพียงแต่ว่า หากยังมุ่งที่เรื่องปฏิรูปสถาบัน ดีไม่ดีอาจจะไม่ได้สักข้อเสนอเดียว

และการพาดพิงอย่างมิบังควรไปถึง “สถาบันเบื้องสูง” มากเท่าใด เท่ากับสร้างความชอบธรรม และสร้างแนวร่วมให้กับ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ เพื่อปกป้องสถาบันฯ มากเท่านั้น

ก็เลยมีความพยายาม “ลดเพดานเนียนๆ” หรือจะเรียกว่า กำลังหาทางลงให้ตัวเองแบบมีฟอร์ม โดยพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กตู่” เป็นหลักแทน เพื่ออย่างน้อยที่สุด 3 ข้อเสนอ ได้มาสักข้อก็ยังดี

เป็นหลักการต่อรองทั่วไป ไม่ต่างอะไรกับการซื้อสินค้า ที่ร้านจะต้อง “บอกผ่าน” ตั้งราคาเอาไว้สูง เพื่อให้ลูกค้าได้ต่อราคา เช่นเดียวกับม็อบที่ตั้งเรื่อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” เอาไว้สูงสุด แต่รู้ทั้งรู้ว่า อาจจะได้ไม่ถึง เพียงแต่ได้บ้าง

ดีไม่ดี จะได้แค่ข้อเสนอเดียวด้วยซ้ำ ถ้ากระแสซาลงไปกว่านี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนี้ ที่รัฐบาลยอมถอยให้

แต่แล้วก็เกิดรายการ “ผิดคิว” เมื่อ “เจมส์” ภาณุมาศ สิงห์พรม นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แฟนหนุ่มของ “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ประกาศกร้าวในกลุ่ม “สื่อคณะราษฎร” ว่า ไม่ยอมรับท่าที “ลดเพดาน” ของ “จ่านิว” พร้อมยืนกราน 3 ข้อเรียกร้องเช่นเดิม

ในอารมณ์ว่า ใครไม่เดินตามแนวทางนี้ถือเป็น “คณะราษฎรปลอม”

แล้วมันก็ถึง “บางอ้อ” ไปอีกเมื่อปรากฏภาพ “วงปาร์ตี้” วงหนึ่ง ที่มีการเผยแพร่เรียกเสียงฮือฮาในสังคมออนไลน์

โดยเป็นภาพจากเฟซบุ๊ก punsak srithep ของ “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” ผู้ที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาตอ (คสช.) ฟ้อง และมี อานนท์ นำภา เป็นทนายว่าความให้

เป็นรูปภาพบรรยากาศการดื่มกิน สุรา พร้อมกับแกล้ม ที่มีเนื้อดิบวางในวงอย่างโดดเด่น

ในวงมีทั้ง อานนท์ นำภา, จ่านิว-สิรวิชญ์, “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา รวมถึง “เฮียปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน

ที่สำคัญยังมี “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายทุนผู้ก่อตั้งนิตยสารฟ้าเดียวกัน ร่วมอยู่ด้วย

ว่ากันว่า โพสต์นี้ของ “พันธ์ศักดิ์” โพสต์ไว้ภายหลัง “อานนท์ นำภา” หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งวงเหล้า ก็น่าจะเป็นงานเลี้ยงต้อนรับอานนท์ เมื่อคืนวันที่ 2 พ.ย.63

หลังจากที่ภาพถูกแชร์ต่อๆไปอย่างแพร่หลาย ก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก และมีไม่น้อยที่บอกว่า ภาพความสัมพันธ์ของคนใน “วงเหล้า” พร้อมกับแกล้มเนื้อดิบ “คณะลาบ” กลุ่มนี้ เป็นการบ่งบอกตามที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ข้อมูลและเฝ้าติดตามการก่อตัวของ “ม็อบ 3 นิ้ว” หรือ “คณะราษฎร”

บ้างก็เชื่อมโยงต่อยอดไปว่าเป็น ขบวนการที่อยู่เบื้องหลังหนุนให้แกนนำเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวนั้น มีทั้งนักการเมือง, นักธุรกิจนายทุน, นักวิชาการ, องค์กรต่างประเทศ, ล็อบบี้ยีสต์ต่างชาติ, กลุ่ม NGO และรัฐบาลต่างชาติ ที่มีทัศนคติ และการปฏิบัติการไปในทิศทางเดียวกันกับ “ธนาธร” รวมไปถึง “จารย์ป๊อก” ปิยะบุตร แสงกนกกุล” สองคู่หูแห่งคณะก้าวหน้า

เพียงแต่ที่ผ่านมา “ธนาธร-ปิยบุตร” ไม่ได้ออกหน้าเป็นแกนนำม็อบด้วยตัวเอง จนถูกครหาว่าเป็น “อีแอบ” ชอบ “ลักกินขโมยกิน” และ “หลอกใช้” ให้เด็กออกหน้าแทน

ภาพวงเหล้า-คณะลาบของ “แก๊งฟ้าเดียวกัน” ถือว่าสะท้อนถึงเบื้องลึก-เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของ “ม็อบราษฎร” ได้เป็นอย่างดี.

 ระแวง “แมลงสาบ” แว้งกัด
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะไม่ได้ยินดียินร้ายเท่าไรกับคณะกรรมการสนามฉันท์ของ “นายหัวชวน” ซักเท่าไร

และเผลอๆ เริ่มจะไม่พอใจคณะกรรมการดังกล่าวเสียด้วย โดยเฉพาะบท “ปีนเกลียว” ข้ามรุ่นของ “ส.ส.หลักสี่” สิระ เจนจาคะ ผู้แทน กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่หยามเหยียดรายชื่อที่ “นายหัวชวน” เชิญมาว่า ล้าสมัย น่าจับไปดองเค็มมากกว่า

แม้ “สิระ” จะเป็นประเภทพวกหน่วยกล้าตายประจำพรรค แต่การจะพูดอะไรย่อมต้องผ่านการกลั่นกรองจากกุนซือ หรือนายใหญ่ก่อน ไม่ออกมาสุ่มสี่สุ่มห้า พฤติกรรม “เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่” น่าจะได้รับไฟเขียวเพื่อแสดงท่าทีอะไรบางอย่างจาก “ใครบางคน”

การระบุว่า “อานันท์-ชวลิต-สมชาย-อภิสิทธิ์” ล้วนแต่ไม่ปลาบปลื้ม “ลุงตู่” เป็นทุน จึงไม่ควรมาอยู่ในคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่เหตุผลจริงๆ น่าจะคาบเกี่ยวกับข่าวลือว่า “ก๊วนแมลงสาบ” พรรคประชาธิปัตย์ กำลังพยายามผลักดันให้ “นายหัวชวน” ขึ้นมาโดดเด่น เพื่อหวังส้มหล่น เสียบแทน “บิ๊กตู่” ฟาดเก้าอี้นายกฯสมัยที่ 3

เหมือนเมื่อครั้งที่จะตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เคยจุดพลุชื่อ “อภิสิทธิ์” ให้มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยหมายจะหาทาง “ยูเทิร์น” ให้ “อดีตหัวหน้ามาร์ค” กลับสังเวียนการเมืองแบบหล่อๆ แต่ “บิ๊กรัฐบาล” ก็จับได้ไล่ทัน ไม่ตกหลุมพรางไปด้วย

มาครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ กำลังยก “นายหัวชวน” อยู่เหนือความขัดแย้ง และให้เป็นพระเอกที่เข้ามา “สงบศึก” ในฐานะผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่มี “บารมี” ทุกคนยอมรับ และเคารพ

ทว่า พรรคพลังประชารัฐ เองก็หวาดระแวงเพื่อนร่วมรัฐบาล เพราะ “จุดเริ่มต้น” ของคณะกรรมการฯชุดนี้เกิดจากการจุดพลุของ “ก๊วนแมลงสาบ” ซึ่งว่ากันว่าเป็น “นายหัวชวน” ที่วางสคริปต์ให้ “อู้ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ชงในที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วยตัวเอง

ลูกพรรคประชาธิปัตย์ พยายามช่วย “นายหัวชวน” อย่างเต็มที่ หาได้ทุ่มเทโดยมุ่งหวังให้ผลประโยชน์เกิดแก่ “บิ๊กตู่” แต่อย่างใด

ขณะที่ “นายหัวชวน” ก็เล่นบทพระเอกเต็มที่ แม้แต่ช็อตที่ “สิระ” ด่าอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นพวกล้าสมัย ก็ยังออกมาตัดพ้อว่า ต้องโทรศัพท์ไปขอโทษขอโพยทันควัน

อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า “สิระ” คือ มืองานของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล ส่วน “วิรัช” คือ มืองานของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกที

จุดมุ่งหมายของ “สิระ” อาจไม่ได้ต้องการตี “นายหัวชวน” แต่แท้จริงคือ รับงานมาเลื่อยขาเก้าอี้ “บิ๊กตู่” เพื่อให้สถานการณ์มันดูแย่ลงไป

ตามคิวที่มีข่าวลือหนาหูเหมือนกัน ว่า ลูกพรรคพลังประชารัฐบางคนเห็นควรต้องเปลี่ยนตัว “บิ๊กตู่” เพื่อกู้สถานการณ์ เพราะมองว่า “บิ๊กตู่” ช้ำเกินไปที่จะเดินต่อแล้ว จึงต้องออกมาทำให้เสียขบวน

โดยหวังจะไม่ให้เกิด “รัฐประหาร” แต่เปลี่ยนนายกฯ เป็นคนอื่น เพื่อให้ตัวเองไปต่อได้.



กำลังโหลดความคิดเห็น