ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูจะซาๆ ลงไปแล้วกับกระแส “แฟลชม็อบ”
ที่ในช่วงสัปดาห์ก่อนต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ไม่คึกคักเท่ากับช่วงก่อนหน้า สังเกตได้ว่าบางอีเวนท์มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมไม่หนาตาเหมือนแรกๆ ตามธรรมชาติที่คนยอมเห่อของใหม่ แต่เมื่อผ่านไประยะความหวือหวาย่อมลดลง
ตามคิวที่ม็อบต้องยกระดับสู่ “เลเวลสอง” คือ เปลี่ยนจากแฟลชม็อบที่ “ชักหมดมุก” กดดันรัฐบาลไม่ได้ เพราะเจอรัฐบาลใช้ “ไม้นวม” ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่ กทม. ปล่อยให้ชุมนุมปิดถนนตามอัธยาศัย
ต้องเค้นมุกแรงๆ เรียกหาความท้าทายให้กับผู้ชุมนุม ที่กำลังห้าวอยากจะทำอะไรที่ไม่เคยทำ เหมือนกับตอนที่คนจากทั่วสารทิศแห่มาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 เพราะแกนนำประกาศจะบุกทำเนียบรัฐบาล
จึงต้องขยับมาสู่ปฏิบัติการ “จรยุทธ์” หาความท้าทายตื่นเต้นให้มวลชน อย่างที่ต้นสัปดาห์เลือกบุกไป “สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย” เพื่อยื่นเรียกร้องที่ “ไต่เพดาน-ตะกายฟ้า”
เป็นการหาอีเวนท์ใหม่ๆ สร้างความกระชุ่มกระชวยให้ผู้ชุมนุมรู้สึกตื่นเต้นเท่านั้น
ยิ่งเป็นการยอมรับกลายๆว่า “ม็อบราษฎร” ก้าวข้าม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปสู่การ “แตะชั้นฟ้า” อย่างที่เขาว่าไปแล้วจริงๆ
เพราะในห้วงเดียวกันที่ “ม็อบเด็ก” เลือกที่จะไปชุมนุมที่หน้า “สถานทูตเยอรมนี” อีกฝั่งเมือง ก็มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็เรียงคิวกันกดดันให้ “นายกฯลาออก” รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของ “ม็อบราษฎร” แท้ๆ แต่กลับไม่คิดจะไปเคลื่อนไหวกดดันที่หน้ารัฐสภาอย่างที่ควรจะเป็น
แต่สุดท้ายมันก็ได้แค่ความกล้ากับความสะใจ ในเมื่อรัฐบาลไม่ขัดขวาง ให้อิสระผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย
ยื่นข้อเรียกร้องเสร็จได้ยังที่ประกาศ คำถามคือ แล้วอย่างไรต่อ?
เอาเป็นว่า ม็อบเองก็ติดข้อจำกัดตัวเอง ที่ชูธงเป็นคนรุ่นใหม่ ชุมนุมสันติอหิงสา ไม่เน้นความรุนแรง เพราะเจอรัฐบาลแก้เกม เล่นบท “ตาเฉย” เข้าให้ “ต่อมสร้างสรรค์” ก็ตันไปเหมือนกัน
อีกทั้งการไปสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ก็ทำให้เห็นเลเวลขั้นต่อไปของ “ม็อบราษฎร” เหมือนกันว่า กำลังจะ “ชักศึกเข้าบ้าน” ให้สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นที่พูดถึงในเวทีระดับโลก ตามที่ตัวเองถนัด
หวังใช้ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” กดดันและคว่ำบาตรรัฐบาลไทย ให้ต้องทำตามเสียงเรียกร้องผู้ชุมนุม ซึ่งมีความพยายามทำกันมาตลอดตั้งแต่เมื่อครั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวหนาหูว่ามี “ประเทศมหาอำนาจ” อยู่เบื้องหลัง และสนับสนุนทุนรอนให้กับ “ม็อบราษฎร” หรือ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” อีกที เพื่อที่จะพยายามปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในประเทศไทย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค
ขณะเดียวกัน อีกสิ่งที่ต้องกังวลคือ วิถีของม็อบนั้น มักจะเริ่มด้วยสันติวิธี แต่หากรัฐบาลไม่ได้ตอบสนอง หรือไม่ได้ยี่หระ นอกจากกลไกให้ต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเข้าแทรกแซง แล้วยังมีเรื่องของความรุนแรง ที่อาจมีผู้ไม่หวังดี ทำให้สถานการณ์มันดูเลวร้ายลง
อย่างที่มีคนเคยเปรียบเปรยเอาไว้ หากไม่จบด้วย “แตกหัก” หรือ “สูญเสีย” โต๊ะเจรจาก็ไม่ได้เปิดเสียที
แต่ก็จะเป็น “ดาบสองคม” กับม็อบ เพราะจะเข้าสู่ลูปเดิม วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย ที่สุดท้ายผู้ชุมนุม ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างเหมือนกันหมด แค่จ้องจะชนะคะคานไม่สนวิธีการใด คนรุ่นใหม่ เป็นแค่นามธรรม สร้างให้ตัวเองดูดีเท่านั้น
และทุกวันนี้หากสังเกตให้ดีๆ มีหลายอย่างที่ “ม็อบราษฎร” ขับออกเลนตัวเองไปมาก เหมือน “เด็ก” ที่กำลังอ้อนจะขอเงินซื้อของเล่น ที่ไม่สนและไม่ฟังเหตุผลใครๆ
ใครเห็นต่างคือ “ศัตรู” ที่พร้อมจะร่วมกันไปไล่ล่าให้อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ปากบอกพร้อมจะรับฟังคนเห็นต่าง กรณีของพระเอก “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ที่ออกมาปกป้อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” คือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ชื่นชม “บิณฑ์” ที่เสียสละไปช่วยผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกับเอาไปเทียบ “บิ๊กตู่” ว่าไม่ได้เรื่อง สู้ดารานักแสดงไม่ได้ แต่พอวันนี้กลับถูกผลักให้เป็น “สลิ่ม” พร้อมสารพัดถ้อยคำที่ฟังแล้ว “รับไม่ได้”
ท่ามกลางกระแสของเหล่าคนดังที่โดนคุกคามตามราวี จัด “ทัวร์ลง” ทั้งที่คนไม่แสดงจุดยืน อย่างเช่น “ลิซ่า แบล็กพิงค์” หรือเพิ่งแสดงจุดยืนอย่างมิสยูนิเวิร์ส “ปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก
กระทั่ง “บอดี้สแลม” วงดังระดับประเทศ ที่ครั้งหนึ่ง “พี่ตูน” อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำ เคยสร้างกระแสวิ่งการกุศลหาเงินช่วยโรงพยาบาล จนเคยมีกระแสอวยให้เป็นนายกฯมาแล้ว ยังไม่รอดถูก “ล่าแม่มด” เพียงเพราะ “แอดมิน” ลั่นไปเหน็บ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่กรีดเลือดประท้วงนายกฯ กลางสภาฯ ด้วยเนื้อเพลงดังว่า “กรีดแขนไม่ช่วยอะไร” เกาะกระแสไวรัลตามปกติของวงการบันเทิง
จาก “บอดี้สแลม” ก็เลยกลายเป็น “บอดี้สลิ่ม” ในสายตา “ม็อบราษฎร” ในทันที
จนต้องพลิกข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่กดดันให้รัฐบาล “หยุดคุกคาม” ประชาชน แต่ฝ่ายตัวเองกลับสามารถฟาดงวงฟาดงาและคุกคาม “ผู้เห็นต่าง” ได้ราวไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชนิดที่เรียกว่า bully ระรานผู้คนไปทั่ว
มิพักต้องพูดถึง “พฤติกรรมมิบังควร” ที่เกิดขึ้นกับ “ขบวนเสด็จฯ” เมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 ที่ทั้งแกนนำม็อบ และเหล่าบรรดา “พ่อยก - อีแอบ” ต่างออกมากางปีกปกป้องว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้ขัดขวางขบวนเสด็จฯ โบ้ยไปว่าเป็นความผิดของฝ่ายตำรวจ และผู้รับผิดชอบเส้นทางเสด็จฯ
โดยไม่คิดจะกล่าวถึงพฤติกรรมของม็อบที่มีต่อ “ขบวนเสด็จฯ” แต่อย่างใด จนอาจตีความได้ว่า ไม่พูดถึง ไม่ตำหนิ หรือจะถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
สำทับกับการที่ แกนนำม็อบราษฎร พยายามแก้ตัวว่า ไม่ได้เป็น “ม็อบล้มเจ้า” และยกวาทกรรม “ปฏิรูป” ไม่ใช่ “การล้มล้าง” แต่ทั้งการแสดงออกต่อขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. หรือบรรยากาศการชุมนุม คำปราศรัย และป้ายด่าทอของแกนนำ รวมไปถึงการกรีฑาทัพไปที่หน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. กลับ “แหงนขึ้นฟ้า” ทั้งสิ้น
นี่ไม่นับรวมถึง “ข้อความ” ที่บรรดาผู้ร่วมชุมนุมเขียนเอาไว้บนถนน ซึ่งเต็มไปด้วยความหยาบคายและมีไม่น้อยที่จาบจ้วงสถาบัน ซึ่งแม้ไม่ได้เอ่ยตรงๆ แต่คนที่ได้อ่านได้เห็นก็รู้ว่าหมายถึงอะไร
กลายเป็นว่า “ม็อบเด็ก” ที่พยายามโหวกเหวกว่า ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง กำลังผลัก “ผู้เห็นต่าง” ไปเป็นศัตรูทั้งหมด
ขณะเดียวกัน การที่ม็อบระบุว่า พวกตัวเองปราศจากอาวุธ แต่กลับลืมไปว่า “ความก้าวร้าว” ของตัวเองนั้นเป็นปฐมเหตุและเชื้อเพลิงที่นำไปสู่ความรุนแรง
ผู้ชุมนุมกำลังทำให้ประเทศถึง “ทางตัน” หลังประกาศว่า ต้องได้สิ่งที่ตัวเองต้องการทั้ง 3 ข้อ คือ “บิ๊กตู่” ลาออก, แก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบัน เท่านั้น
ปากพูดว่า พร้อมเจรจา หากแต่ยื่นข้อจำกัดที่ทำให้การเจรจาไปต่อไม่ได้คือ ตัวเองต้องได้ครบทั้ง 3 ข้อ
พฤติการณ์ “ดื้อแพ่ง-เอาแต่ใจ” ประเภท “ได้คืบเอาศอก” ผูก “เงื่อนไข” ทำให้ประเทศเข้าสู่ “ทางตัน” เชื่อว่าเป็นหนทางที่จะทำให้ “ม็อบราษฎร” แพ้ภัยตัวเองในที่สุด
ย้อนดูการชุมนุมทางการเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน “ม็อบราษฎร” คือ ม็อบที่แทบจะเรียกว่า “ม็อบอภิสิทธิ์ชน” สูงกว่าคนอื่นก็ว่าได้ สามารถปิดถนนที่ไหนก็ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยให้ สามารถจาบจ้วงล่วงล้ำสิ่งที่คนไทยเคารพบูชาโดยที่ไม่ถูกดำเนินคดีรุนแรง เพราะคำว่า “เยาวชนผู้บริสุทธิ์”
จับแล้วปล่อย วนเวียนซ้ำๆ สามารถออกมาชุมนุมไล่รัฐบาลได้ต่อ น่าจะเป็นการปราบม็อบที่ “ใจดี” ที่สุดในโลกแล้วก็ว่าได้
การถูกรถฉีดน้ำความดันสูง ที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ถูกตีฆ้องร้องเป่าว่า “รัฐบาลอำมหิต” ใช้ความรุนแรงกับเด็กและเยาวชน แต่ในความเป็นจริงมันคือ ความรุนแรงที่ “ปวกเปียกที่สุด” ของการจัดการกับม็อบ หากเทียบกับการจัดการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา ต้นแบบประชาธิปไตยที่ม็อบใฝ่ฝันอยากจะเป็น
ขณะเดียวกัน หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลเผด็จการ นี่คงเป็นเผด็จการที่ “มุ้งมิ้ง” ที่สุด เพราะปล่อยให้อิสระแก่ผู้ชุมนุมค่อนข้างมาก
นอกจากการจับแล้วปล่อยๆ กับการใช้รถฉีดน้ำความดันสูงเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร แทบจะไม่ได้ถูกคุกคามใดๆ เลย
หากจะเอาผิดผู้ชุมนุมจริงจัง ย่อมสามารถประเคนข้อหาให้ได้สารพัด ไม่ใช่แค่ข้อหาชุมนุมมั่วสุม หรือผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น
การชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่เคยคิดจะศึกษากฎหมายให้ถ่องแท้ว่า เขากำหนดว่า “ต้องขออนุญาตก่อน”
พฤติกรรมผู้ชุมนุมนั้นผิดหลายกระทงแล้ว มีการสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการ การฉีดพ่นสเปย์เลอะเทอะทั้งกำแพง ถนนหนทาง หรือแม้แต่หากจะเอาผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 112 อันเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ถ้าจะมีใครสักคนไปร้องเรียนเอาผิด “บิ๊กตู่” และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้ชุมนุม ปล่อยให้สร้างความวุ่นวาย ยังสามารถทำได้เลย
คนที่เก๋าทางการเมืองย่อมอ่านสถานการณ์ออกว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มันคนละเรื่องกันเลย เหตุการณ์ในวันนี้มันแทบจะเทียบไม่ได้เลยกับวันนั้นที่มีการเผาบ้านเผาเมือง การปะทะ การใช้กระสุนจริง ซึ่งน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ยากลำบากกว่า
หากฝ่ายความมั่นคงสวมวิญญาณเผด็จการเต็มขั้นจริง น่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ยาก
แต่ตรงกันข้าม “เผด็จการ” ที่ม็อบราษฎรตราหน้า กลับยอม “ถอยให้หลายก้าว” แล้ว ตั้งแต่การยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม. ต่อเนื่องมาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สามารถตีตกไปได้เลย แต่ยังเปิดรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์ การเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน
หรือล่าสุดท่าทีของ “บิ๊กตู่” ที่ถอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งก้าว ให้สามารถยกเลิกการมี ส.ว.ได้
“ผมเห็นด้วยในการสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ว่าจะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่เลือกนายกฯ ก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่ให้เลือกผมก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือในรัฐสภา”
เทียบกับสิ่งที่ “ม็อบเสื้อแดง” ได้จากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว “ม็อบราษฎร” โดนรัฐบาลนี้ “สปอยด์” หนักกว่าเยอะ เพราะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยอภิสิทธิ์นั้น สุดท้ายถูกสับขาหลอก แก้ในประเด็นที่ได้ประโยชน์กับรัฐบาลเท่านั้น
แต่ครั้งนี้ นอกจากการยอมให้แก้มาตรา 256 ที่ถือเป็นหัวใจในการปลดล็อกไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นแล้ว ยังกล้าที่จะตัดทิ้ง “ค่ายกลสำคัญ” ที่รองฐานอำนาจรัฐบาลอย่าง “ส.ว.” 250 คนอีก
และแน่นอนว่า ภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ก็หนีไม่พ้นการยุบสภา “บิ๊กตู่” ก็ต้องลงจากคานอำนาจ
ถ้าม็อบยอมเข้าเจรจา จะได้ 2 จาก 3 ข้อ เรียกว่า ประสบความสำเร็จในการเรียกร้อง ขณะที่ข้อ 3 ซึ่ง “ทะลุเพดาน” ไม่ว่าใครคงไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้
โมเดลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้แล้ว กำลังจะใช้โมเดลเดียวกับสมัย “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ที่มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่มี ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในขณะนั้น เป็นประธาน
“รัฐบาลอภิสิทธิ์” ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่ได้ตีกรอบว่า จะทำเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หลังจากคณะกรรมการฯชุดนายดิเรก ทำข้อเสนอเสร็จ “รัฐบาลเฮียมาร์ค” ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ นั่นคือ คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไข รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน
โดยเมื่อคณะกรรมการฯชุดนายสมบัติ ทำรายงานสรุปเสร็จว่าควรแก้ไขประเด็นใดบ้าง ก็ส่งให้ “อภิสิทธิ์” และมีการนำเสนอเข้าสู่เวทีรัฐสภา
ประเด็นที่คณะกรรมการฯชุดนายสมบัติ เสนอได้รับความเห็นชอบจากสภาฯทั้งหมด และเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ “อภิสิทธิ์” ก็ประกาศยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554
“คณะกรรมการสมานฉันท์” ที่มีการเสนออยู่ในขณะนี้ก็น่าจะลอกโมเดลนี้มาเช่นกัน เพราะ “บิ๊กตู่” ประกาศแล้วว่า จะไม่ลาออกในตอนนี้ เนื่องจากหากจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เลย รัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับการแก้ไข
ซึ่งรัฐบาลเองก็หวังจะใช้เรื่องนี้ “ต่อเวลา” การทำงานของตัวเองไปอีกเฮือก เพราะกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ
แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ไว้วางใจ เพราะมองว่า มันเป็นการเอากุ้งฝอยมาตกปลากะพงของรัฐบาล ที่ต้องการจะซื้อเวลาตัวเอง หรือเป็นแผน “แกง” ผู้ชุมนุมของรัฐบาลเท่านั้น
และหากยอมถอยในตอนนี้ หากวันหนึ่งกระแสม็อบเบาบาง รัฐบาลอาจบิดพลิ้ว ผิดสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างที่ “อภิสิทธิ์” ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในประเด็นที่ตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้ง หรือเรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ไม่มีเรื่องข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงในตอนนั้นเลย
ข้อเรียกร้องที่ให้ “บิ๊กตู่” ลาออก แล้วเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เกิดขึ้นยากในทางปฏิบัติ เพราะ “คนใหม่” ย่อมต้องมาจากฝั่งเดียวกันอยู่ดี
อย่าลืมว่า วันนี้เสียงของฝ่ายรัฐบาลในรัฐสภามีมากกว่าฝ่ายค้านแบบ “ขาดลอย” ไหนจะกองกำลัง ส.ว.อีก 250 ชีวิต ย่อมไม่มีทางที่เก้าอี้ผู้นำจะผลัดเปลี่ยนไปอยู่กับฝ่ายค้าน ขณะที่ชื่อแคนดิเดตนายกฯในฝ่ายรัฐบาลอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - อนุทิน ชาญวีรกูล” ก็เชื่อว่าไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายม็อบหรอก
แต่ไม่ว่าใครไปใครมา คนใหม่มาก็เจอปัญหาเดียวกับ “บิ๊กตู่” อยู่ดี เพราะ “ธง” ของม็อบไปไกลเกินเรื่องเก้าอี้นายกฯ หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปแล้ว
เป็น “ธง” ที่ปวงชาวไทยไม่อาจยอมรับได้เสียด้วย
หากบรรยากาศยังคง “ถ่อย - เถื่อน - เละเทะ” แบบนี้ บางทีก็ดันสถานการณ์เข้าสู่ “ประตูหนีไฟ” ข้อเสนอที่ว่ากันว่าเป็น “ทางออกเดียว”
เป็นทางออกเดียวที่จำเป็น และสามารถ “ล้างไพ่” ใหม่ได้ทั้งหมด.