ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใครจะชนะครองเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่างลุ้นกันระทึกกันทั่วทั้งโลก และไม่ว่า โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพลับลิกัน ขึ้นแท่นต่างมีผลต่อไทยทั้งสิ้น หากทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ก็คงสืบสานแนวทางอนุรักษ์นิยม เชิดชูนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ต้องมาก่อน ขณะที่สงครามการค้า-เทคโนโลยีของสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบไปทั้งโลกรวมถึงไทยคงเข้มข้นขึ้นแน่ แต่หากไบเดน พลิกขึ้นมาแทนที่ มีโอกาสที่สหรัฐฯจะฟื้นฟู แนวทางเสรีนิยม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการเจรจาพหุภาคี คืนมาและส่งออกค่านิยมหรือคุณค่าดังกล่าวนี้ที่สหรัฐฯ ยึดถือเสมอมาในยุคก่อนหน้าทรัมป์
นั่นหมายถึงว่า สหรัฐฯ ที่นำโดยไบเดน มีโอกาสที่จะส่งผลหนุนเนื่องกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงฮ่องกงและไทย รวมทั้งการให้คุณค่าในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเท่าเทียม ในเชิงเศรษฐกิจการรื้อฟื้นความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี ความร่วมมือตกลงจัดตั้งเขตการค้าที่มีหลายประเทศเข้าร่วม จะเป็นธงนำแทนการเจรจาการค้าในลักษณะทวิภาคีในสมัยทรัมป์ ที่ดำเนินนโนบายในลักษณะดังกล่าวเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ กดดันคู่ค้าที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ดูเหมือนการเลือกตั้งจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อ ทรัมป์ซึ่งเห็นแววพ่ายแพ้ออกอาการงอแงฟ้องศาลให้ยุติการนับคะแนนหรือทบทวนผลเลือกตั้งใหม่ในบางรัฐ และยังอ้างว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดเป็นไปอย่างสูสี และ ทรัมป์ ทำผลงานได้ดีกว่าที่หลายคนคาดคิด ขณะที่หลายรัฐในอเมริกาต้องใช้เวลานับคะแนนค่อนข้างนาน เนื่องจากมีจากบัตรเลือกตั้งจำนวนมาที่ประชาชนส่งมาทางไปรษณีย์เพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ของ ไบเดน ที่จะชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากที่โลดแล่นในสังเวียนการเมืองมานานถึง 50 ปี รวมถึงระยะเวลา 8 ปีที่เป็นรองประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา ขณะที่ฝ่าย ทรัมป์ เองก็ไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว ถัดจาก จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ในปี 1992
ผลสำรวจความคิดเห็นระดับชาติยกให้ ไบเดน วัย 77 ปี มีคะแนนนิยมแซงหน้า ทรัมป์ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งจริงปรากฏว่าคะแนนในรัฐสมรภูมิของทั้งคู่กลับสูสีกันมาก และ ไบเดน ไม่สามารถหยิบยื่นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้แก่ ทรัมป์ ได้อย่างที่หลายคนคาดการณ์
ไบเดน แถลงเมื่อเช้าตรู่วันพุธ (4) ว่ามั่นใจจะชนะ ทรัมป์ ได้แน่ และขอให้ชาวอเมริกันอดใจรอผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ขณะที่ ทรัมป์ วัย 74 ปี เรียกเสียงวิจารณ์ด้วยการรีบประกาศชัยชนะและกล่าวขอบคุณชาวอเมริกัน ทั้งที่หลายรัฐยังคงนับคะแนนไม่เสร็จ
“เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับชัยชนะในศึกเลือกตั้ง อันที่จริงคือเราชนะแล้วด้วยซ้ำ” ทรัมป์ แถลงที่ทำเนียบขาว ก่อนจะอ้างลอยๆ ว่ามีการโกงเลือกตั้ง และขู่จะยื่นฟ้องศาลสูงสุดสหรัฐฯ ให้สั่งยุติการนับคะแนนทางไปรษณีย์
“นี่เป็นการฉ้อโกงประเทศชาติครั้งใหญ่ เราต้องการให้กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างเหมาะสม ฉะนั้นเราจะยื่นฟ้องศาลสูงสุด และเราต้องการให้หยุดนับทุกคะแนนเสียง” ทรัมป์ วัย 74 ปี กล่าว แต่ก็ไม่แสดงหลักฐานยืนยันเรื่องการโกง และไม่อธิบายด้วยว่าตนเองจะฟ้องศาลสูงสุดโดยตรงเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งได้อย่างไร
ฝ่ายทีมหาเสียงของ ไบเดน วิจารณ์ความพยายามยุติการนับคะแนนของ ทรัมป์ ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะจากคนที่เป็นประธานาธิบดี พร้อมเรียกร้องให้มีการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทุกใบ และจะต่อสู้ในชั้นศาลหากจำเป็น
ทรัมป์ นั้นเก็บตัวอยู่ห่างจากสายตาสาธารณชน แต่อาศัยทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือกระพือข่าวอย่างไม่มีมูลว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังแปดเปื้อนสกปรก เนื่องจากมีการนับคะแนนจนล่วงเลยวันเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งทำให้ทวิตเตอร์ต้องขึ้นธงเตือนว่าคำพูดของ ทรัมป์ เข้าข่าย “ชี้นำไปในทางที่ผิด”
แม้หน่วยเลือกตั้งทั่วสหรัฐฯ จะปิดหีบไปตั้งแต่คืนวันอังคาร (3) แต่โดยทั่วไปแล้วหลายรัฐก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะนับคะแนนเสร็จ และเนื่องจากปีนี้มีชาวอเมริกันโหวตทางไปรษณีย์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์ถึง 100 ล้านคน จึงทำให้การนับคะแนนยิ่งต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
ทั้งนี้ การตัดสินแพ้-ชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้วัดกันที่จำนวนคะแนนดิบหรือ “ป็อปปูลาร์โหวต” หากแต่ใช้ระบบที่เรียกว่า “คณะผู้แทนเลือกตั้ง (Electoral College)” ซึ่งจะมีการแบ่งจำนวน electoral votes ให้กับแต่ละรัฐมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร และเนื่องจากสหรัฐฯ มี electoral votes รวมทั้งสิ้น 538 เสียง ดังนั้นใครก็ตามที่ได้ถึง 270 เสียงจะกลายเป็นผู้ชนะทันที ตัวอย่างเช่นกรณีของ ทรัมป์ ซึ่งเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตไปได้ด้วยจำนวนผู้แทนออกเสียง 304 ต่อ 227 เสียงเมื่อปี 2016 ทั้งๆ ที่หากวัดกันด้วยคะแนนป็อปปูลาร์โหวตเขาจะเป็นฝ่ายแพ้
ดังนั้นในทางเทคนิค ชาวอเมริกันจึงไปโหวตเลือก “ผู้แทนออกเสียง” ไม่ใช่เลือกประธานาธิบดีโดยตรง และโดยปกติแล้วผู้แทนออกเสียงเหล่านี้ก็จะให้การสนับสนุนแก่ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนมากที่สุดในรัฐของตน
รัฐส่วนใหญ่ในอเมริกาใช้ระบบ “ผู้ชนะกินเรียบ” (winner-take-all) ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในรัฐนั้นๆ จะกวาดจำนวนผู้แทนออกเสียงทั้งหมดไป แต่มีเพียง 2 รัฐเท่านั้นคือ เมน และเนแบรสกา ที่ใช้ระบบจัดสรรจำนวนคณะผู้เลือกตั้งตามคะแนนเสียงที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับจากพลเมือง
จับตาหวนคืนเวทีการค้า CPTPP
ไบเดน นั้นดูเหมือนเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับเอเชีย เนื่องจากคาดเดาได้มากกว่าทรัมป์ และยังให้ความสำคัญกับพันธมิตรเพื่อช่วยกันตีกรอบปิดกั้นอิทธิพลจีน แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่าลึกๆ แล้วจีนอาจจะอยากให้ ทรัมป์ ครองทำเนียบขาวต่อ เพราะจะช่วยให้จีนมีโอกาสสั่งสมบารมีความเป็นผู้นำไปอีก 4 ปี ในขณะที่ ทรัมป์ ก็จะทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยวและเป็นที่เกลียดชังของชาวโลกมากขึ้น
เพจมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไท วิเคราะห์ว่า หากไบเดน ชนะศึกเลือกตั้ง ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป สหรัฐฯ คงหันกลับมามองความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ TPP เดิม และจะกลายเป็นผลกระทบต่อประเทศไทยมหาศาล เพราะเดโมแครต คือผู้ผลักดันเอฟทีเอ หรือข้อตกลงการค้านี้มาตั้งแต่ต้น มาตรฐานการค้าแบบที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จะถูกผลักดันมาเต็มๆ วงเล็บที่ถูกเว้นว่างไว้ในข้อบท CPTPP จะถูกเอาออก เพื่อรองรับการเข้ามาของสหรัฐฯ อีกครั้ง
“ผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรื่องพันธุ์พืช การนำเข้าเนื้อหมู/เครื่องในจากแคนาดา รวมทั้งผลกระทบต่อเรื่องยา กมธ.วิสามัญของสภาฯ ศึกษาเสร็จแล้ว กำลังจะเอาเข้าสภาผู้แทนอย่างเป็นทางการ โปรดจับตา
“กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดในสหรัฐฯ จะมีข้ออ้างให้ประเทศไทยเข้าร่วม แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อคนไทยอย่างกว้างขวาง เพราะหมู/เครื่องในจากทั้งสหรัฐและแคนาดา พร้อมวัตถุดิบอาหารสัตว์ พืชจีเอ็มโอ สินค้าอื่นๆ จะไหลทะลักเข้ามาพร้อมกัน เรื่องพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ UPOV1991 เท่านั้น แต่จะมาพร้อมกับ Patent on Life สิทธิบัตรยาแบบเข้มงวดสุดๆ การเปิดเสรีการลงทุน และอื่นๆ
“เรื่องใหญ่กว่าผลการเลือกตั้งของสหรัฐ คือทางออกการเมืองไทยที่ทุกคนในประเทศต้องมีปากมีเสียงในการกำหนดนโยบาย มีส่วนร่วมในการพัฒนา รวมทั้งการตัดสินใจในเรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่สักแต่ฟังเสียงกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น CPTPP หรือ TPP ก็ตาม” ไบโอไทย เรียกร้องต่อรัฐบาล
CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ยุคริเริ่มถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม แต่มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม
ข้อตกลง CPTPP นี้ครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับเรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ จีเอสพี ที่ทรัมป์เซ็นทิ้งทวน ไบโอไท วิเคราะห์ว่า ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดน ก็คงทำเหมือนๆ กัน จากเกณฑ์การให้สิทธิพิเศษที่ถูกกำหนดล่วงหน้าก่อนแล้วตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งออกของคู่ค้า ซึ่งไบโอไท เห็นด้วยกับอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ไม่เต้นไปตามอุตสาหกรรมภายในที่ถูกตัด GSP แล้วยอมแลกกับการนำเข้าเนื้อหมู หรืออื่นๆ จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่าอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้
หรืออย่างข้ออ้างก่อนหน้านี้เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าทรัมป์กับไบเดน ก็คงใช้เหตุผลเดียวกันคือเรื่องสิทธิแรงงาน แต่นัยเรื่องสิทธิแรงงานของทรัมป์ ให้น้ำหนักกับการปกป้องคนงานในสหรัฐฯ และโจมตีว่าประเทศอื่นกดขี่แรงงาน ซึ่งทำให้ต้นทุนถูกกว่า ในขณะที่เดโมแครต อาจจะพูดถึงเรื่องนี้ในแง่เป็นคุณค่าของสังคมสมัยใหม่ด้วย
คาดไบเดนมา สงครามการค้าสงบ ส่งออกไทยมีเฮ
ในบทรายงาน “สหรัฐฯ VS จีน : สองมหาอำนาจ หนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ และสิ่งที่ไทยควรทำ” โดย ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง และ สุขใจ ว่องไวศิริวัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่า ศึกเลือกตั้งระหว่างทรัมป์กับไบเดน อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสงครามการค้าของสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน เพราะทั้งสองต่างมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกัน
การตอบโต้ของทรัมป์เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นได้ ขณะที่นายไบเดน จะเน้นนโยบาย “Buy American” ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนชาวอเมริกันซื้อสินค้าที่ผลิตโดยคนอเมริกัน เพื่อแข่งขันทางการค้ากับจีนมากกว่าที่จะโจมตีทางการค้าโดยตรงผ่านมาตรการกีดกันทางภาษี
หากนายไบเดน มีชัยชนะในการเลือกตั้ง อาจส่งผลดีต่อการส่งออกของจีนและประเทศในกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงไทยมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับนายทรัมป์ เนื่องจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากกว่า และสหรัฐฯ อาจเริ่มต้นพิจารณาเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย หากเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว เพราะจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการค้ากับประเทศที่อยู่ในความตกลงดังกล่าวมากขึ้น แม้จะมีข้อพึงระวังที่จำเป็นต้องเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของไทยอยู่มากเช่นกัน
ในมุมของภาคเอกชน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย วิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ผลที่ออกมามีนัยต่อการวางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อการวางตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การวางตัวระหว่างสหรัฐฯกับจีน และจะมีผลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย เพราะทั้งคู่มีมุมมองและนโยบายของคู่ชิงตำแหน่งมีความแตกต่างกัน
ทรัมป์ ต้องการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากจีนกระตุ้นบริษัทสหรัฐผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบและกลไกอื่นๆ นอกประเทศจีน คงภาษีนำเข้าจากจีน รวมถึงการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น สงครามการค้าจะดำเนินต่อไป และอาจขยายเป็นสงครามเทคโนโลยี ที่คนสหรัฐต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่คนทั่วโลก ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ หรือจากจีน หรือต้องใช้ทั้งคู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศต่างๆ สูงขึ้น
ส่วน ไบเดน ต้องการให้จีนเปลี่ยนท่าที เปิดตลาดให้สหรัฐฯขายของได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯในจีน และให้จีนดูแลทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ได้เป็นท่าทีที่อ่อนโยนกับจีนนัก เพราะต้องการกดดันให้จีนมีอิทธิพลต่อการค้าโลกลดลง และโอบล้อมจีนด้วยการสานต่อมาตรการ CPTPP ในสมัยโอบามา และเปิดรับการค้าในภูมิภาคเอเชีย เรียกว่าเป็นการเบี่ยงเบนการค้า (trade diversion) ให้สหรัฐฯมีอิทธิพลทางการค้ากับเอเชียแทนที่จีน แต่อาจไม่ใช่การค้าเสรีมากเช่นในอดีต เพราะไบเดนยังคงเน้นการจ้างงานในสหรัฐฯอยู่
สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินผลกระทบต่อไทยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า หากทรัมป์ชนะ น่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทย เนื่องจากสงครามการค้าใกล้จบ, นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ และอีกอย่างไทยยังเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีนจึงยังต้องสานต่อ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership : ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วย อาเซียน+6 แต่อินเดียยังไม่เข้าร่วม)
แต่ถ้าหากไบเดนชนะ ไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วม CPTPP เนื่องจากไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน, การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง และไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP ขณะที่ไทยยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP
แต่ไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯคนต่อไปจะเป็นใคร สหรัฐฯจะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 (America Second) และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ (China Number One) เพราะทั้งทรัมป์และไบเดนไม่ใช่ผู้นำโลกการค้าเสรี ทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ แต่จะผลักดันกระแสชาตินิยม เน้นการสร้างงานให้สหรัฐฯ Made in USA เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ทั้งนี้ กระแสชาตินิยมในสหรัฐฯกำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน
สำนักวิจัยคาดว่าภายในปี 2573 หรืออีกไม่เกิน 10 ปี จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ แม้จีดีพีของจีนยังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ภาคการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 พบว่า จีนแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว และคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
“ประเทศไทยต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯและจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเช่นนี้เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ คือเปิดรับทั้งสองด้าน เดินหน้า RCEP และร่วม CPTPP ..... ” ดร.อมรเทพ กล่าว
สำหรับประเทศไทย ตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลัก ครองส่วนแบ่ง 14.7% โดยปี 2562 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 31,348 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 25,358 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นตลาดส่งออกเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถเติบโตสวนทางกับภาพรวมการส่งออกไทย ที่ยังคงหดตัว -7.33% อีกทั้งสหรัฐยังเป็นประเทศที่ให้ GSP กับไทยถึง 2,672 รายการ
เดโมแครต พาเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้น ไทยฟื้น
เช่นเดียวกับ ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด ผู้ทำการศึกษาเรื่อง CPTPP ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า หากไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศจีนจะยังไม่หายไป แต่ความสนใจต่ออาเซียนและไทยจะมีทิศทางบวกมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งไบเดน ได้ส่งสัญญาณผ่าน Democratic Party Platform ว่า จะเร่งสร้างความสัมพันธ์กับไทย ส่วนนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น มีความเป็นไปได้สูง ที่สหรัฐจะกลับเข้าสู่การเจรจา CPTPP หลังจากทรัมป์ได้ถอนตัวจากการเจรจา
“หากพรรคเดโมแครตชนะ ก็จะให้ความสำคัญในด้านกฎเกณฑ์ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสุขอนามัย ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมในการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ฯ กล่าว
ด้าน ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า หากไบเดน ชนะ และพรรคเดโมแครตครองเสียงทั้งสภาบนและสภาล่าง จะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเมื่อเทียบกรณีทรัมป์ชนะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินหากไบเดน ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ จะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2564 ฟื้นตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% แต่หากทรัมป์ ชนะคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวน้อยกว่า 2% ส่วนผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากไบเดน ขึ้นมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ สินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแปรรูป ในปีหน้าจะมีโอกาสขยายตัวได้ดี 10-12% ด้วยมูลค่าราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ จากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6.4% แต่ถ้าพลิกโผเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ การส่งออกของไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 5%
ด้านนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) สะท้อนมุมมองว่า เอเชียและไทยพึ่งพิงการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ไม่ว่าทรัมป์ หรือไบเดนชนะ อยู่ที่โอกาสการเจรจา ซึ่งที่ผ่านมา 4 ปี ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ พบว่า การเจรจาการค้าและการลงทุนมีอุปสรรคค่อนข้างมาก หากไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อุปสรรคเหล่านี้น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นได้ ส่วนเรื่องค่าเงินอาจจะเหมือนที่หลายคนคาดการณ์คือ ทรัมป์อยู่ต่อ บาทอ่อน แต่ถ้าไบเดนมา เงินบาทจะแข็งค่า
เตือนตั้งรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกีดกันการค้า
ขณะที่บทวิเคราะห์ “ผลกระทบการเลือกตั้งสหรัฐ กับการปรับตัวภาคการผลิตของไทย” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ภาคการผลิตของไทยไม่ต้องติดฉลาก “Carbon Footprint” หรือไทยไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเทศภาวะโลกร้อนมากนัก
แต่หากเป็นไบเดน ผลด้านบวกจะเป็นลักษณะการค้าแบบเจรจา (Multilateral) จะไม่รุนแรงเท่าทรัมป์ แต่จะไม่สำเร็จเพราะมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ข้อสรุปทางการค้าเกิดขึ้นยาก แต่ก็จะไม่มีกรณีพิพาททางการค้าเท่าทรัมป์ โดย ไบเดนเน้น “3B (Build Back Better)” มีการลงทุนภายในประเทศ เป็นโอกาสของสินค้าไทย
ดร.อัทธ์ ประเมินผลกระทบด้านลบจะพบว่า หากเป็นทรัมป์ จะยังคงใช้นโยบาย“America First”, “Go it Alone” และ Unilateral เป็นนโยบายที่กระทบการส่งออกของไทย เพราะจะมีการปกป้องสินค้าของสหรัฐ ส่วนการทำสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับจีนจะเข้มข้นขึ้น การค้าโลกจะงัดมาตรการการกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศมาตอบโต้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการคว่ำเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสิทธิมนุษยชนจะมากขึ้น
ขณะที่หากเป็นไบเดน ผลด้านลบจะเป็นลักษณะการปกป้องและรักษาผลประโยชน์สหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ การขาดดุลการค้าสหรัฐกับคู่ค้ายังเป็นประเด็นที่ไบเดนให้ความสำคัญ ผลกระทบจากนโยบายการปกป้องทางการค้าจากสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับทรัมป์ ประเด็นที่ไบเดนเน้น Climate Change และสิ่งแวดล้อมของภาคการผลิต และมีโอกาสที่จะใช้เป็นการกีดกันทางการค้า
นอกจากนั้น ยังประเมินว่าหากทรัมป์ อยู่ต่ออีกสมัย การปรับตัวของภาคการผลิตไทยจะต้องพึ่งพาตลาดเอเซียและอาเซียน, ฟื้นกรอบเจรจา TIFA เพื่อเข้าสู่ FTA, รับการย้ายฐานการผลิตจากจีน, GSP ถูกยกเลิกเพิ่ม, ผลผลิตสินค้าเกษตรโลกเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นไบเดน การปรับตัวควรเป็นไปในทิศทางว่าด้วยการ ลดการปล่อย CO2 ของห่วงโซ่การผลิต, บรรจุภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อม, ใช้แนวคิด BCG เพื่อส่งออกและการผลิต, ดึง FDI เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0, สหรัฐ เน้นรถยนต์ไฟฟ้า และสหรัฐฯ จะเตรียมตัวสำหรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี)