“จุรินทร์” ถกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หารือฟื้นฟูเศรษฐกิจและการส่งออกร่วมกัน เผยรับพิจารณาข้อเสนอต่างด้าวถือหุ้นธุรกิจบริการในไทยได้ 100% บางรายการในช่วง 3 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุน เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ 5 ฉบับ คลายล็อกเรื่องการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาการขนส่งสินค้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หรือ Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand : JFCCT นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT เข้าพบ ว่า ได้หารือกับภาคเอกชนต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจในไทย และเป็นรายใหญ่ติดลำดับท้อป 50 ของไทย เพื่อร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกร่วมกัน โดยทางหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาในเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นธุรกิจบริการในไทยได้ 100% บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยในช่วงที่โควิด-19 โดยกระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ภายใต้ขั้นตอนและกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ไทยทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ มากขึ้น ซึ่งได้แจ้งว่า ขณะนี้ไทยมีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงเอฟทีเอ 5 ฉบับ คือ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู), เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค), เอฟทีเอไทย-EFTA, เอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย และเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ส่วนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ได้แจ้งไปว่ารัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดที่จะลดวันกักตัว แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาโควิด-19 และสุขภาพของคนไทยด้วย
ส่วนปัญหาเรื่องการขนถ่ายสินค้าและการหาตู้ขนส่งสินค้าให้เพียงพอ ได้รับไปหารือใน กรอ. พาณิชย์ ซึ่งมีสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยอยู่ และสามารถเชิญหอการค้าร่วมต่างประเทศเข้ามาหารือในวาระนี้ได้
นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้หอการค้าร่วมต่างประเทศได้พูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปกติพบกันปีละครั้ง ให้เพิ่มเป็นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงาน คลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายการเพิ่มการส่งออกให้กับประเทศ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ธุรกิจต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในไทยสามารถที่จะถือหุ้น 100% ภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้รับข้อยกเว้นอยู่แล้ว หรืออาจจะใช้ช่องทางการลงทุนผ่านข้อตกลงเอฟทีเอ ส่วนการปลดล็อกธุรกิจภายใต้บัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะพิจารณาทุกปี โดยมีหลัก คือ เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล เป็นธุรกิจที่รัฐบาลต้องการดึงดูดการลงทุน ซึ่งปีนี้ กำลังจะเสนอให้ถอดธุรกิจที่คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาต เพิ่มอีก 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจบริการโทรคมนาคมสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์