“พาณิชย์” เสนอ ครม.พิจารณาถอด 3 ธุรกิจบริการออกจากบัญชีแนบท้าย 3 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เผยมีธุรกิจบริการโทรคมนาคมสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาตอีก เหตุมีหน่วยงานกำกับดูแล สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกและดึงดูดการลงทุน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ยกร่างกฎกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำหนดธุรกิจบริการที่คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทย ภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เสร็จแล้ว ภายหลังจากพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติเห็นควรถอดธุรกิจบริการเพิ่มเติมอีก 3 ธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุน และลดความซ้ำซ้อน โดยล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
สำหรับธุรกิจบริการที่จะถอดออกจากบัญชีแนบท้าย 3 จำนวน 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง และเป็นกิจการที่มีลักษณะสมควรให้มีการบริการได้โดยเสรี เช่น เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์จากจีนมาเช่าโครงการโทรคมนาคมในไทย เพื่อให้บริการโทรศัพท์สำหรับลูกค้าจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
2. ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัทในกลุ่มในเครือ
3. ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย และประกอบธุรกิจในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ดังต่อไปนี้ 1. พัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics รวมถึง Predictive Analytics 2. พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ 3. พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ และ 4. พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต
“การถอดทั้ง 3 ธุรกิจบริการออกจากบัญชีแนบท้าย 3 เพราะเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงาน หรือมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว หากคนต่างด้าวจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็สามารถขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลได้โดยตรง ไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์อีก หรือบางธุรกิจไม่ต้องขออนุญาตเลย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน รวมถึงเป็นธุรกิจที่อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ เป็นธุรกิจที่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุน และสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุน และทำให้ไทยน่าลงทุนมากขึ้น” นายทศพลกล่าว