ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์การท่องเที่ยวที่ซบเซาอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำเอาโรงแรมหลายแห่งล้มทั้งยืน ทำใจต่อแถวเสนอขายกิจการให้กลุ่มทุน “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ถือเป็นโอกาสทองของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ที่ลูกสาวของเจ้าสัวบริหารอยู่เล็งตั้งกองทุนหมื่นล้านลุยชอปเติมพอร์ตธุรกิจ Hospitality ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว-โรงแรมเท่านั้นที่ทรุดหนัก ฟากฝั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านและคอนโดฯ เหลือค้างสต็อกเพียบ ธอส.ประเมินมูลค่าของรอปล่อยเฉียดล้านล้าน
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลายแม้ว่าในไทยจะคุมได้ก็ตาม ทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยนำเงินตราหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมการโรงแรมท่องเที่ยวไทยให้คึกคักมายาวนานกลายเป็นอดีตที่ยังไม่หวนกลับ บรรดาโรงแรมใหญ่น้อยทั่วทุกหัวระแหงที่อยู่ในอาการโคม่ามาหลายเดือนต่างทยอยล้มหายตายจาก หรือไม่อาจมีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่าการเร่ขายหรือหากลุ่มทุนที่มีเงินถุงเงินถังเข้ามาร่วมถือหุ้น ข่าวคราวการไล่ชอปของถูกจากทุนไทยและเทศที่มีมาตั้งแต่กลางปีเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตามลำดับ และมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กลุ่มทุนใหญ่เบอร์ต้นของไทยก็เปิดไพ่พร้อมเข้าเทกโอเวอร์โรงแรมที่ต่อคิวขายทิ้งกิจการ
ถ้อยแถลงของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ลูกสาวของ “เจ้าสัวเจริญ” ที่ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลสิริวัฒนภักดี บอกเล่าถึงสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก และกว่าจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลาเป็นปี ผู้ประกอบการหลายรายอาจจะไปต่อไปไม่ไหว ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 100 แห่ง ติดต่อให้ทาง AWC เข้าเทกโอเวอร์ ทางบริษัทมองเป็นโอกาสทางธุรกิจ จึงมีแนวคิดตั้งกองทุนขึ้นมามูลค่าหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไปเพื่อดึงนักลงทุนที่สนใจร่วมทุนในธุรกิจโรงแรม โดยคาดว่าจะจัดตั้งและดำเนินการได้ช่วงต้นปีหน้า
“แนวคิดการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาครั้งนี้มองเป็นโอกาส เพียงนำเอาอสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์เหล่านั้นมารีโนเวทใหม่น่าจะทันหรือเป็นจังหวะเดียวกับช่วงท่องเที่ยวฟื้นตัวพอดี เร็วกว่าถ้าต้องพัฒนาหรือสร้างโรงแรมใหม่เอง กองทุนนี้แม้จะตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งเทกโอเวอร์โรงแรม แต่อีกมุมเป็นการช่วยให้ธุรกิจโรงแรมไม่ล้มหายไปทั้งระบบ ซึ่งตั้งแต่มีโควิด-19 มีผู้ประกอบการกว่า 100 แห่ง ทั้งกลุ่มโรงแรม รวมถึงค้าปลีกอีก 5-6 แห่ง ต้องการให้ AWC เข้าซื้อกิจการ แต่มีเพียง 30 แห่งในทำเลศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ที่จะปรับแผนและยกระดับให้เป็นโรงแรมหรูตามความถนัดของ AWC ได้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC กล่าว
พร้อมกับเล่าถึงเป้าหมายของ AWC ว่า ตามแผนลงทุนขยายธุรกิจ 5 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท รวมกว่า 30 โครงการ ถึงตอนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 โครงการ ยังเหลืออีก 10 กว่าโครงการที่จะดำเนินการต่อ โดย 2 โปรเจคอยู่ระหว่างการพิจารณาอาจจะลงทุนทำเป็นมิกซ์ยูส แต่ขอรอดูสถานการณ์ก่อนอาจต้องเลื่อนแผนก่อสร้างออกไปอย่างน้อยหนึ่งปี ล่าสุด AWC เปิดให้บริการโรงแรมบันยันทรี กระบี่ เป็นลักชัวรีรีสอร์ตหรูบนชายหาดทับแขก นับเป็นโรงแรมแห่งแรกของ AWC ในจังหวัดกระบี่บนทำเลทองติดที่ดินอุทยานแห่งชาติเขาหงอนนาค
หากนับรวมโรงแรมบันยันทรีที่ลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท บนพื้นที่ 26 ไร่ ซึ่งเพิ่งเปิดบริการล่าสุดแล้ว บริษัทจะมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 18 แห่ง มีจำนวนห้องพักรวม 4,941 ห้อง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในกระแสเงินสดจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ด้วยการสร้างความหลากหลายให้แบรนด์พอร์ตโฟลิโอของบริษัท สร้างความแปลกใหม่ในการผลักดันไทยเที่ยวไทย พร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทในตำแหน่งผู้นำของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย รวมทั้งยกระดับการท่องเที่ยวของกระบี่ที่ไม่มีการเปิดตัวรีสอร์ตระดับลักซ์ชัวร์รี่ใหม่มานานกว่าทศวรรษ ตอกย้ำชื่อเสียงของประเทศไทยอีกครั้งในฐานะสุดยอดจุดมุ่งหมายด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดระดับโลก
AWC เป็นหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจหลายแสนล้านของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่นำเอาอสังหาริมทรัพย์ที่ตระกูลครอบครองมาพัฒนาต่อยอด และนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา โดย AWC มีธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีโรงแรมระดับกลางถึงระดับบนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail และ Wholesale) เป็นเจ้าของโครงการ 10 แห่ง เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ให้เช่า 270,594 ตร.ม. ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 4 แห่ง คือ ตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์, แอทธินี ทาวเวอร์, อาคาร 208 วายเลสโร้ด และอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์
ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ สายป่านยาว มองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต เป็นภาพตัดสลับกับสถานการณ์ย่ำแย่หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่โรงแรมทั่วไทยเร่ขายกันถูกๆ จนน่าใจหาย ซึ่งข่าวคราวการเร่ขายโรงแรมมีมาตั้งแต่กลางปีหลังรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ ปิดน่านฟ้า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาปีละหลายล้านเหลือจำนวนเป็นศูนย์ โดยเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่างภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวเบอร์ต้นของไทย ที่มีโรงแรมขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมๆ 3,000 แห่ง จำนวนห้องพักประมาณ 120,000 ห้อง ต่างบอกขายกันระนาว ทั้งบอกต่อกันในวงการหรือผ่านนายหน้า ทั้งโรงแรมระดับ 3-6 ดาว สนนราคาตั้งแต่หลัก 10 ล้าน จนถึงเป็น 10,000 ล้านบาท
นอกจากภูเก็ตแล้ว แหล่งเที่ยวเที่ยวขึ้นเชื่อ เช่น เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ พัทยา จังหวัดชลบุรี เขาหลัก จังหวัดพังงา ก็บอกขายกันระนาวเช่นกัน มีทั้งโรงแรมระดับ 4-5 ดาว สนนราคา 1,000-10,000 ล้านบาท ระดับ 3 ดาว ราคา 500-1,000 ล้านบาท และขนาดเล็ก 50-100 ล้านบาท เหตุที่ต้องปล่อยขายเนื่องจากโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อดังกล่าว มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ เมื่อตัวเลขรายได้เป็นศูนย์ ก็อยู่กันไม่ไหว และยังมองไม่เห็นทางรอด คาดว่าถึงสิ้นปีนี้ราคาซื้อขายโรงแรมหลายแห่งจะยังถูกกดราคาลงต่ำอีก
ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมต้องตัดใจขายทิ้งกิจการเพราะไปต่อไม่ไหว อสังหาริมทรัพย์ในภาคส่วนของธุรกิจโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะคอนโดฯ ซึ่งมีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ ก็ส่อเค้าวิกฤตไม่น้อยไปกว่ากัน สต็อกค้างขายไม่ออกบานตะไท
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประเมินว่าในสิ้นปี 2563 นี้ จะมีที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกสูงถึง 185,993 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 937,703 ล้านบาท และหากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลเชื่อว่าในครึ่งปีหน้า 2564 ที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกจะเพิ่มเป็น 193,415 หน่วย หรือมีมูลค่า 956,086 ล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลามากถึง 4-5 ปี ถึงจะระบายสต๊อกที่เหลือค้างหมด
ส่วนสาเหตุที่มียอดเหลือค้างสต๊อกจำนวนมากก็อย่างที่รู้กันว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีผู้ซื้อเพื่อการลงทุนลดลง ขณะที่ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของโครงการคอนโดมิเนียนในระยะหลังไม่สามารถเข้ามาซื้อได้จากมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ ปฏิเสธการให้สินเชื่อลูกค้ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวด้วยการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ หั่นกำไรเพื่อเร่งระบายสต็อก แต่ยังเหลือค้างขายไม่ออกเพียบ
ภาคธุรกิจอสังหาฯ เรียกร้องขอให้ภาครัฐขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% ที่จะหมดในเดือนธันวาคม 2563 นี้ ต่อไปอีก 1 ปี พร้อมกับขยายสิทธิให้ผู้ซื้อบ้านมือสอง และบ้านราคา 3-5 ล้านบาท เข้ามาใช้สิทธิได้ด้วย เพราะปัจจุบันบ้านราคา 3-5 ล้านบาท มีสัดส่วนมากถึง 20% ของตลาดรวม เช่นเดียวกับบ้านมือสอง ซึ่งหากคนขายบ้านเก่าของตัวเองได้ก็มีเงินมาซื้อบ้านใหม่แทนน่าจะช่วยบรรเทาจำนวนบ้านที่เหลือค้างสต๊อกลดลงไปได้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำและรายได้ของประชาชน ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงทั้งลูกค้าคนไทยและกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยในใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2563 น่าจะต่ำสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน62,000-67,000 หน่วย หรือหดตัว 37.9% ถึงหดตัว 32.9% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะมีจำนวน 140,000-145,000 หน่วย หดตัว 29.3% ถึงหดตัว 26.8% จากปีก่อน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วทั้งโลกยังอยู่ในสภาพคล้ายพายุใหญ่ที่ยังไม่อ่อนกำลังลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่มีสายป่านยาวพอ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทั่วทั้งโลก