ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะออกสตาร์ทแบบอืดๆ แต่ในที่สุดมาตรการจ่ายคนละครึ่งก็ถึงป้ายครบยอดลงทะเบียนใช้สิทธิ์เต็มพิกัด 10 ล้านแล้ว ผู้ค้ารายย่อยแห่ร่วมคึกคักเฉียด 4 แสนราย ฝ่ายมิจฉาชีพสบช่องแชร์ว่อนโซเชียลรับซื้อสิทธิ์คนละครึ่งแลกรับเงินสดฟรี คลังขู่เล่นไม่ซื่อเจอตัดสิทธิ์แน่ แง้มประตูรับเก็บตกอีกรอบหลัง 10 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์ฯทิสโก้ - KKP Research มอง “ช้อปดีมีคืน” อย่าฝันหวานว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจถึงแสนล้านเพราะกำลังซื้อหดหาย ตกงานกันเพียบ
มาตรการจ่ายคนละครึ่งเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย โดยหวังเม็ดเงินจะลงสู่ฐานรากร้านค้ารายเล็กรายย่อยออกมาในช่วงที่กระแสต้านรัฐบาลลุกโชน ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจึงไม่ท่วมท้นเหมือนกับมาตรการเยียยาที่ออกมาก่อนหน้าที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเต็มในชั่วพริบตา ซึ่งก็อาจด้วยเงื่อนไขที่ว่าผู้ขอรับสิทธิ์ไม่ต้องควักกระเป๋าร่วมจ่ายด้วยสักแดงเดียวก็เป็นไปได้ ขณะที่คราวนี้ชื่อก็บอกแล้วว่า “ร่วมจ่ายคนละครึ่ง” รัฐบาลครึ่งหนึ่ง ผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการนี้ควักจ่ายเองอีกครึ่ง การตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่ร่วมจึงมีอาการลังเลหน่อยๆ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในช่วงสายๆ ของวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นอันว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจ่ายตามมาตรการคนละครึ่งเต็มพิกัด 10 ล้านคน ตามเป้าหมาย หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 นั่นหมายถึงว่ากว่าจะมีคนลงทะเบียนครบใช้เวลาไปประมาณ 12 วัน และยังต้องรอดูว่าหลังจากที่ได้สิทธิ์แล้ว จะใช้สิทธิ์ภายใน 14 วัน ตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ จะมีผู้ทิ้งสิทธิ์และเปิดให้ผู้ต้องการเข้าร่วมใหม่อีกสักกี่มากน้อย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเล่นเล่ห์เหลี่ยมแฉกันให้เห็นว่ามีรายการโกงกันตั้งแต่เริ่มสตาร์ท นั่นก็คือ มีกลุ่มเฟซบุ๊ก ลงทะเบียนคนละครึ่งรับเงิน3000 ซึ่งกลุ่มนี้มีสมาชิกกว่า 170,000 คน ได้เปิดรับซื้อสิทะผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม “โครงการคนละครึ่ง” www.คนละครึ่ง.com โดยให้นำสิทธิมาแลกเป็นเงินสดได้ เพียงส่งเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้าแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง รหัสผ่านเข้าแอพฯ เป๋าตัง และชื่อนามสกุลเข้ามาแล้วจะได้รับเงินไปทันที โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมาโพสต์เสนอรับซื้อสิทธิ โดยจะหักเงิน 30-50 บาท แล้วจะโอนเงินให้
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนที่กระทรวงการคลัง ต้องออกมาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมกับขู่ว่าถ้าใครทำผิดเงื่อนไขพร้อมตัดสิทธิ์แน่ และมีการเตือนกันผ่านโลกออนไลน์ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพหลอกลวง โดย นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาปรามทันควัน รู้แล้วว่ามีพฤติกรรมโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงตามเงื่อนไขโครงการ จึงขอย้ำเตือนว่าภาครัฐมีระบบการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องดังกล่าว หากพบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติหรือมีการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ ภาครัฐจะดำเนินการระงับการจ่ายเงินทั้งร้านค้าและประชาชนทันที
“หากตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายผิดเงื่อนไขโครงการจริงจะต้องมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้ประชาชนและร้านค้าโปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ภาครัฐมุ่งหวังให้โครงการคนละครึ่งสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ตลอดจนช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นได้จริง” นายพรชัย ตอกย้ำอย่าหลงเชื่อ และถ้ายังขืนทำต่อเจอเอาผิดแน่
สำหรับโครงการคนละครึ่ง ผู้ลงทะเบียนที่ได้รับสิทธิ์ ได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันสิทธิ์ ติดตั้งแอพฯ “เป๋าตัง” และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้วจะต้องใช้เงินภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเอสเอ็มเอสแจ้งรับสิทธิ์ หรือนับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม เป็นต้นไป มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์และไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก ส่วนผู้ที่พลาดหวังลงทะเบียนไม่ทัน กระทรวงการคลัง จะนำยอดผู้ลงทะเบียนแต่ไม่ใช้สิทธิ์ภายใน 14 วัน มาเปิดลงทะเบียนรอบใหม่หลังวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ โดยยังไม่มีการขยายสิทธิให้เกินกว่า 10 ล้านคน
ส่วนร้านค้ายังลงทะเบียนได้ต่อเนื่อง ทั้งผ่านเว็บไซต์ และสาขาธนาคารกรุงไทย โดยไม่มีการปิดรับลงทะเบียน ซึ่ง ณ วันที่ 28 ตุลาคม มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 3.8 แสนร้านค้า มียอดการใช้จ่ายสะสมจากวันที่ 23 – 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ประมาณ 1,100 ล้านบาท รายละเอียดของการใช้จ่ายพบว่ามีการใช้จ่ายมากที่สุดเรียงลำดับ ได้แก่ ร้านธงฟ้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป และร้าน OTOP โดยใช้จ่ายครบทุกจังหวัด จังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา และนครศรีธรรมราช
ในการโอนเงินค่าสินค้าให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินของประชาชนที่จ่ายให้ร้านค้า จะโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นวันช่วง 02.00-06.00 น. ตามระบบชำระเงินของธนาคาร ส่วนเงินอีกครึ่งหนึ่งที่ภาครัฐร่วมจ่ายให้นั้น ร้านค้าจะได้รับในวันทำการถัดไปช่วง 17.30 – 19.00 น. รวมถึงในช่วงวันหยุด
กระทรวงการคลัง ยังมีความหวังจากมาตรการที่ออกมาพร้อมๆ กันกับคนละครึ่ง คือ มาตรการช้อปดีมีคืน ด้วยว่าจะทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 111,000 ล้านบาท และจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30% อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า 3 มาตรการ/โครงการส่งท้ายปีนี้ คือ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยเหลือดูแลพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษ สำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน และมาตรการช้อปดีมีคืน จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.54%
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU ประเมิน 3 โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ คือ โครงการคนละครึ่ง วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท และ 3. โครงการช้อปดีมีคืน โดยให้ประชาชนนำเงินที่ใช้จ่ายในสินค้าและบริการมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ไม่เกิน 30,000 บาท นั้น คาดว่าโครงการที่น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้มากที่สุด คือ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพราะเป็นเหมือนเงินฟรีหรือเงินให้เปล่าจากรัฐ ส่วนคนละครึ่งจะสัมฤทธิ์ผลรองลงมา โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 3,000 บาทต่อคนจากยอดใช้จ่าย 6,000 บาท เสมือนกับว่าได้เงินกลับคืนมา 50%
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทิสโก้ ยังมองว่า โครงการคนละครึ่ง ไม่ได้คาดหวังจะมียอดใช้เต็มจำนวน เพราะหากดูโครงการที่ผ่านๆ มา เช่น ชิมช้อปใช้ ที่ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่าน G-Wallet 2 เพื่อรับเงินคืนสูงสุด 20% ก็มีผู้ใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน นั้นเป็นไปได้ยากที่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายถึง 111,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เพราะแรงจูงใจในการใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคลที่ต้องเสียภาษี ตั้งแต่อัตราภาษีที่เสีย 5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 35% ดังนั้น ผู้ใช้จ่ายจะได้เงินคืนกลับมา 5-35% ตามแต่ขั้นของอัตราภาษีเงินได้ของผู้ใช้จ่าย หรือคิดเป็นเงินได้กลับคืนมาสูงสุด 1,500-10,500 บาท ของแต่ละขั้นอัตราภาษีจ่าย
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้เสียภาษีในแต่ละฐานอัตราภาษีในปี 2558 พบว่า มีผู้ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% และ 10% จำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้หากเข้าร่วมมาตรการและใช้จ่ายเต็มจำนวนที่ 30,000 บาท จะได้รับเงินคืนคิดเป็น 1,500 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับเท่านั้น และจำนวนเงินที่คืนมาไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่รัฐช่วยออกให้สูงสุด 3,000 บาท ภายใต้โครงการคนละครึ่ง
อีกทั้งเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดให้เลือกรับสิทธิ์โครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น กลุ่มดังกล่าวก็อาจเลือกเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากกว่า เพราะได้คืนมา 3,000 บาท แต่ใช้จ่ายสูงสุดเพียง 6,000 บาท และเป็นการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายอยู่
ขณะที่มีจำนวนผู้เสียภาษีที่เหลืออีกเพียงประมาณ 1 ล้านคนเศษเท่านั้น ที่ต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 15% ขึ้นไป หากสมมติให้คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเงินเต็มที่ที่ 30,000 บาท เพื่อนำไปหักภาษี ก็จะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายเพียง 30,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น คงต้องลุ้นกันมากพอสมควรที่จะให้การใช้จ่ายภายใต้โครงการช้อปดีมีคืน เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเป้าไว้ถึง 1 แสนกว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยๆ ทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้นในไตรมาส สุดท้ายของปีนี้ และส่งผลบวกต่อ GDP เล็กน้อย จากปัจจุบันที่ทิสโก้ มองว่า GDP ปี 2563 จะติดลบที่ระดับ 8%
ในทำนองเดียวกัน KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ภายใต้ 3 มาตรการใหม่ อาจมีผลไม่มากนัก คาดว่าการใช้จ่ายจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท โดย สศค. คาดว่ากำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มากสุด เป็นเงิน 111,000 ล้านบาท โครงการ “คนละครึ่ง” 60,000 ล้านบาท และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม 21,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 192,000 ล้านบาท
สาเหตุที่ KKP Research มองว่าโครงการช้อปดีมีคืน จะหลุดเป้า ด้วยเหตุว่ากำลังซื้ออ่อนแอลงจากภาวะว่างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้งคนตกงาน 7.5 แสนคน (เดือนมิถุนายน 2563) คนหยุดงานชั่วคราว 2.5 ล้านคน และอีก 7.6 ล้านคน ทำงานไม่เต็มเวลา ทั้ง3 กลุ่มคิดเป็น 30% ของแรงงานไทยทั้งหมด สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานและรายได้ที่ลดต่ำลง
อีกอย่างคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้เดิมที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้วเพียงแต่เลื่อนเวลาให้มาอยู่ในช่วงการรับสิทธิประโยชน์เท่านั้น รวมทั้งการระมัดระวังค่าใช้จ่ายจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้ไม่มากนัก ดังนั้น ในภาพรวม KKP Research ประเมินว่าทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP จากสมมติฐานที่แตกต่างกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ช่วยกระตุ้นการบริโภค แต่ผลประโยชน์ต่อการจ้างงานคงมีจำกัด” คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก
ส่วนการฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากที่มาตรการหมดลงไปแล้วคงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการประเมินกันว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นตามคาดหวัง แต่อย่างน้อยๆ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยให้คึกคักส่งท้ายปี รอความหวังปีหน้าฟ้าใหม่อะไรๆ คงจะสดใสขึ้นกว่าที่เป็นอยู่