xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อโรคร้ายในฝุ่นละออง PM2.5

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท และ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท
ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
Email: rnasanit@gmail.com

และ
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Email: pongpiajun@gmail.com


แม้อากาศไม่ใช่แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเชื้อจุลินทรีย์แต่ยังสามารถพบเชื้อจุลินทรีย์ได้ในชั้นบรรยากาศของโลก เชื้อจุลินทรีย์ที่แขวนลอยในอากาศเรียกว่า ละอองชีวภาพ หรือ Bioaerosol อาทิเช่น แบคทีเรีย รา และไวรัส โดยประชากรจุลินทรีย์ในอากาศที่พบส่วนใหญ่มาจากดิน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดสำหรับจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ในอากาศและสารพิษที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นมักพบอยู่ในลักษณะที่เกาะกับอนุภาคของละอองเสมหะหรือฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่แขวนลอยในอากาศที่มีขนาดตั้งแต่ 0.02-100 ไมโครเมตร โดยอาจอยู่ในรูปของเหลว ของแข็ง หรือเป็นส่วนผสมระหว่างของเหลวและของแข็ง ละอองชีวภาพอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาค ได้แก่ เส้นผ่าศูนย์กลางที่น้อยกว่า 0.1 โมโครเมตร เรียกว่า nuclei mode เส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 0.1-2 ไมโครเมตร เรียกว่า accumulation mode และเส้นผ่าศูนย์กลางที่มากกว่า 2 ไมโครเมตร เรียกว่า coarse mode


จุลินทรีย์และสารพิษจากจุลินทรีย์สามารถแขวนลอยในบรรยากาศได้ โดยติดไปกับอนุภาคของฝุ่นละอองหรือละอองน้ำขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่แล้วจะติดไปกับอนุภาคของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร (PM10) หรืออนุภาคฝุ่นละอองหยาบ (coarse particulate matter) และสามารถพบแบคทีเรียที่ไม่จับกันเป็นกลุ่มก้อนได้ในอนุภาคฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) หรืออนุภาคฝุ่นละอองละเอียด

เป็นที่ทราบกันดีว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่จะสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ 2-3 นาทีแล้วจะตกลงสู่พื้นด้วยแรงดึงดูดของโลก และแรงลม ฝุ่นละอองที่แขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานมักเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร เนื่องจากมีความเร็วในการตกลงสู่พื้นต่ำ

นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยพบว่าปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากจุลินทรีย์ และเชื้อก่อโรคมีอัตราสูงขึ้นเมื่อความเข้มข้นของมลพิษจาก PM สูงขึ้น และเมื่อปริมาณฝุ่นละอองภายนอกอาคารสูงขึ้นย่อมส่งผลให้ปริมาณฝุ่นภายในอาคารบ้านเรือนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งละอองชีวภาพที่เกาะมากับฝุ่นละอองเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนังบางชนิดที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค

อย่างไรก็ตามการอยู่รอดของจุลินทรีย์ในอากาศขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ รังสีอุลตร้าไวโอเลต ทิศทางของลม ขนาดของอนุภาค ความชื้นสัมพัทธ์ เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นพื้นที่ที่แตกต่างกันย่อมมีการกระจายตัวของเชื้อจุลินทรีย์ และปริมาณของจุลินทรีย์ในฝุ่นละอองที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ผนวกกับปัญหาฝุ่นพิษในอากาศยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ซึ่งไม่อาจมองข้ามได้ จากรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่นละอองในอากาศของประเทศอิตาลีเบื้องต้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด- 19 ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ในตัวอย่างฝุ่นละออง ซึ่งสรุปได้ว่าฝุ่นละอองเหล่านี้อาจเป็นพาหะการแพร่ไวรัสได้ และจากผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของ PM2.5 และอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ พบว่าความหนาแน่นของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซนต์ และอาจสูงได้ถึง 16.6 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ตามระดับของมลพิษในอากาศและกรณีของโรคโควิด-19 ในแต่ละสถานที่นั้นมีความแตกต่างกันซึ่งทำให้การประเมินความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสองได้อย่างแม่นยำนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นมาตรการการควบคุม และการป้องกันในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีภาวะมลพิษทางอากาศสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญ








เอกสารอ้างอิง
Alghamdi, A.M., Shamy, M., Redal, M.A., Khoder, M., Awad, A.H. and Elserougy, S. (2014). Microorganisms associated particulate matter: A preliminary study. Science of the Total Environment: 109-116.
Bauer, H., Kasper-Giebl, A., Loflund, M., Giebl, H., Hitzenberger, R., Zibuschka, F. and Puxbaum, H. (2002). The contribution of bacterial and fungal spores to the organic carbon content of cloud water, precipitation and aerosols. Atmospheric Research. 64: 109-119.
Cole M, Ozgen C, Strobl E. 2020. Air pollution exposure linked to higher COVID-19 cases and deaths – new study. https://theconversation.com/air-pollution-exposure-linked-to-higher-covid-19-cases-and-deaths-new-study-141620
Franzetti, A., Grandolf, I., Gaspari, E., Ambrosini, R. and Bestetti, G. (2011). Seasonal variability of bacteria in fine and coarse urban air particulate matter. Applied Microbiology and Biotechnology. 90: 745-753.
Haas, D., Galler, H., Luxner, J., Zarfel, G., Buzina, W., Friedl, H., Marth, E., Habib, J. and Reinthaler, F.F. (2013). The concentrations of culturable microorganisms in relation to particulate matter in urban air. Atmospheric Environment. 65: 215-222.
Jeon, E.M., Kim, H.J., Jung, K., Kim, J.H., Kim, M.Y., Kim, Y.P. and Ka, J. (2011). Impact of Asian dust events on airborne bacterial community assessed by molecular analyses. Atmospheric Environment. 45: 4313-4321.
Lau B. 2020. How Air Pollution Contributes to the Spread of COVID-19. https://earth.org/air-pollution-exacerbating-the-spread-of-covid-19/
Lighthart, B. (1997). The ecology of bacteria in the alfresco atmosphere. FEMS Microbiology Ecology. 23: 263–274.
Mancinelli, R.L., and Shulls, W.A. (1978). Airborne bacteria in an urban environment. Applied and Environmental Microbiology. 35: 1095-110



กำลังโหลดความคิดเห็น