xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้ฤดูฝุ่น! กลับมาหาชาวกรุงอีกแล้ว/ รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อฤดูฝุ่นใกล้จะกลับมาหาชาวกรุงฯ อีกครั้ง ทายกันสิครับว่าชาวกรุงเทพฯ ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 เท่าไหร่ในปีที่ผ่านมา?... คำตอบคือ 6,124.89 บาท/ครัวเรือน/ปี!

หากนำไปพิจารณาร่วมกับจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปี 2562 จำนวน 2,837,360 ครัวเรือน ที่ระบุว่าได้ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ (คิดจากร้อยละ 93.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด) ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนทางสังคมที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องควักจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ในฤดูฝุ่นพิษปี 2562/2563 ที่ผ่านมาจะมีค่าสูงถึง 17,379 ล้านบาท/ปี!! ติดตามอ่านรายละเอียดได้ดังนี้ครับ...

งานศึกษาครั้งนี้เป็นงานศึกษาค้นคว้าอิสระของนิสิตปริญญาโทที่ผมเป็นที่ปรึกษา งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 564 ครัวเรือนที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนธันวาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝุ่นพิษ PM2.5 มีค่าอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพอย่างมากเมื่อเทียบกันเดือนอื่นๆ ของปี หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า “ฤดูฝุ่น” โดยได้กระจายเก็บข้อมูลทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้ กรุงเทพกลาง กรุงเทพตะวันออก และกรุงเทพใต้ โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิตามสัดส่วนประชากรทั้ง 6 พื้นที่ข้างต้น

ภาพที่ 2 ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง
ภาพที่ 2 แสดงข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 564 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 55 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีร้อยละ 54.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด มีอายุในช่วง 40-49 ปี มากที่สุด และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชนและรับจ้างทั่วไปร้อยละ 30.7 และ 24.1 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึงรายได้ต่อคน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีรายได้ระหว่าง 10,000-30,000 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 

และหากพิจารณารายได้ต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่มีรายได้ระหว่าง 30,000-50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 47.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และเมื่อพิจารณาจำนวนวันที่เสี่ยงอยู่นอกอาคารและสถานที่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องเสี่ยงอยู่นอกอาคารและสถานที่ 3-5 วันต่อสัปดาห์

ภาพที่ 3 ผลกระทบของมลพิษทางอากาศ
ภาพที่ 3 แสดงผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อกลุ่มตัวอย่าง โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รายงานว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากมลพิษทางอากาศ และร้อยละ 27.1 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รายงานว่าได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในระดับปานกลาง ขณะที่เพียงร้อยละ 8.3 รายงานว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สำหรับการหลีกเลี่ยงปัญหามลพิษทางอากาศ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 93.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด เลือกใส่หน้ากากอนามัย/ผ้าปิดจมูก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ซื้อเครื่องฟอกอากาศ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.7 ไม่ได้ทำการป้องกันตัวใดๆ เลย 

สำหรับพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัย/ผ้าปิดจมูกในวันที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 59.2 ใส่หน้ากากอนามัยทุกวันในวันที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน

ภาพที่ 4 ค่าใช้จ่ายในการป้องกัน
ภาพที่ 4 แสดงค่าใช้จ่ายในการป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Avoidance Cost” ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคม (Social Cost) ส่วนที่ผ่านตลาดเพียงบางส่วนเท่านั้น จัดเป็นต้นทุนความเสียหายของสังคมขั้นต่ำที่สุดจากมลพิษทางอากาศ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ผ่านตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ผ่านตลาด เช่น ความสุขในชีวิต การเจ็บป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ)

โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศจำนวน 3,001-5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 24.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมา มีค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศจำนวน 1,000-3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และจำนวน 7,001-10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 23.9 และ 20.4 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ

หากนำค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศของทุกครัวเรือนมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า ในฤดูฝุ่นปี 2562/63 ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพฯ ต้องควักจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 จำนวน 6,124.89 บาท/ครัวเรือน/ปี หากนำไปพิจารณาร่วมกับจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปี 2562 จำนวน 2,837,360 ครัวเรือน ที่ระบุว่าได้ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ (คิดจากร้อยละ 93.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด) ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนทางสังคมที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องควักจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ในฤดูฝุ่นพิษปี 2562/2563 ที่ผ่านมาจะมีค่าสูงถึง 17,379 ล้านบาท/ปี!!

ถ้าคุณภาพอากาศดีขึ้นและแต่ละครัวเรือนนำเงินจำนวน 6,124.89 บาท ไปซื้อขนมให้เด็กๆ หรือไปซื้อสินค้าหรือไปท่องเที่ยวอื่นๆได้ ความสุขของชาวกรุงเทพฯ น่าจะเพิ่มได้อีก จริงมั้ยครับ

ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Witsanu
Attavanich
โดย รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น