กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกิจกรรม NotMyPM (2.5) โดยมีการใช้ข้อความและใส่หน้ากาก N95 และ ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 3 ด้านคือ การแก้ปัญหาเร่งด่วน การแก้ปัญหาระยะสั้น และ การแก้ปัญหาระยะยาว ต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ (14 มกราคม 2563)
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน 3 ด้าน มีดังนี้
1. ด้านการรับมือในระยะเร่งด่วน เรียกร้องให้ 1.1 ภาครัฐกระจายข้อมูลข่าวสารและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชน เตรียมพร้อมและรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างกะทันหัน
1.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งสถานการณ์ฝุ่นละอองผ่าน SMS โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์
1.3 ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ผ่านโทรทัศน์ที่ติดตั้งบนรถโดยสาร
1.4 รายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศต้องเป็นการรายงานภายในเวลา 3 ชั่วโมงย้อนหลัง ให้สอดคล้องกับระยะเวลาจริง
1.5 ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนัก ภาครัฐต้องควบคุมให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษทุกชนิดหยุดลงโดยทันที รวมถึงให้โรงเรียน สถานประกอบการ โรงงาน หยุดงานชั่วคราวจนกว่าปัญหาจะทุเลา
1.6 โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดทําบัญชีระบายมลพิษ โดยแจ้งให้ภาครัฐและเปิดเผยต่อภาคประชาชน เพื่อทราบปริมาณควันพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตอันนําไปสู่การป้องกันและดําเนินการทางนโยบายต่อไป
2. ด้านการรับมือในระยะสั้น เรียกร้องให้ 2.1 รัฐบาลต้องเพิ่มจุดตรวจ PM2.5 ให้ทั่วประเทศ และมีมาตรฐานเดียวกัน
2.2 ภาครัฐต้องสนับสนุนและอุดหนุนราคาหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ฟอกอากาศ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ รวมถึงอํานวยความสะดวกประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้
2.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนการทําวิจัยเพื่อหาสาเหตุของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุออกมาชัดเจนว่าสาเหตุที่แท้จริงของฝุ่นพิษเกิดจากอะไร ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
2.4 รัฐบาลดําเนินการทางการทูตในเชิงรุก กรณีปัญหาในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ เช่น กรณีไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย
2.5 รัฐบาลพิจารณาผลกระทบจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ขยายพื้นที่ อุตสาหกรรมโดยขาดการวางผังเมืองร่วมกับคนในท้องที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้นายทุนข้ามชาติตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยควันพิษที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนโดยไม่มีการตรวจสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื้อรัง
3.ด้านการรับมือในระยะยาว เรียกร้องให้ 3.1 รัฐบาลออกกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง โดยร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ
3.2 ปรับมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ให้ต่ำลง อ้างอิงตามองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง รวมถึงเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ด้วย เนื่องจากประเทศไทยกําหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ดังกล่าวสูงกว่าข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลกมาก ทําให้รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอื่น ๆ ได้อย่างจริงจัง และทําให้การแสดงผลค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยผ่าน AQI มีระดับความรุนแรงที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับความเป็นจริง
3.3 ภาครัฐต้องต้องจัดบริการขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนให้คนใช้บริการรถสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
3.4 ภาครัฐต้องออกแบบและวางผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแก้ไขหรือวางผังเมืองใหม่โดยคํานึงถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงกระจายอํานาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่นและกระจายความเจริญด้านวัตถุสู่ที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานครฯ เพื่อเพิ่มอํานาจประชาชนในการแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่และลดความแออัดและการกระจุกตัวของประชากร
3.5 ภาครัฐต้องควบคุมวิถีการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนอย่างเคร่งครัด และออกกฎหมายควบคุมการผลิตของภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงการผลักภาระให้ประชาชน
3.6 ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องจัดตั้งองค์กรดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอํานาจครอบคลุมทั่วถึงในการดูแลและแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด และการปฏิบัติขององค์กรต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน