xs
xsm
sm
md
lg

6 สเต็ปเตรียมพร้อมรับมือฝุ่นพิษปลายปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลับมาอีกระลอกกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 ที่มาหลอกหลอนทุกช่วงปลายปี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วง พ.ย. เป็นต้นไปจนถึง ก.พ. ซึ่งสาเหตุมาจากความกดอากาศสูงที่เป็นเหมือนฝาชีครอบเอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองไม่ลอยกระจายออกไป และเกิดการสะสมจนเกินค่ามาตรฐาน ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ


สาเหตุหลักๆ ของฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์ที่รับมือกับสถานการณ์ฝุ่นพิษของภาคเหนือมายาวนานกว่าสิบปี สะท้อนว่า ปัญหาฝุ่นจะเกิดซ้ำทุกปี โดยช่วง พ.ย.-ก.พ. พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคกลาง จะเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น และช่วง มี.ค.-เม.ย. จะเป็นภาคเหนือตอนบน โดยนอกจากอากาศหนาวและความกดอากาศสูงที่กดทับให้ฝุ่นไม่ลอยกระจายตัวออกไป ทำให้เกิดการสะสมจนค่าเกินมาตรฐานแล้ว ต้นกำเนิดของฝุ่นเหล่านี้เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คือ การเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะการทางการเกษตร

“ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่มีการเผากันมาก อย่างรอบๆ กทม.จะมีการเผาทางการเกษตร แต่ที่ กทม.ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่เพราะการจราจรหรือจากยานพาหนะ แต่มาจากการเกษตรเป็นหลัก ที่ลมพัดหอบมา ซึ่งบางส่วนมาไกลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ที่มีการเผาในช่วง พ.ย.เช่นกัน ส่วนช่วง มี.ค. ปัญหาใน กทม.และปริมณฑลจะลดลง เพราะลมจากอ่าวไทยพัดฝุ่นขึ้นไปทางภาคเหนือ ประกอบกับทางภาคเหนือก็มีการเผาในที่โล่งเช่นกัน ทั้งเผาอ้อย เผาซากทางการเกษตร และเกิดเป็นไฟป่า ก็จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันในช่วงนี้เพิ่มเติมอีก” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว


ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาจทำให้คนที่ไม่เคยป่วยมาก่อน ป่วยขึ้นมาได้ โดยเฉพาะโรคหอบหืด ส่วนคนที่ป่วยอยู่แล้วมีอาการรุนแรงขึ้น ควบคุมอาการของโรคได้น้อยลง จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ไม่สามารถออกไปเรียน ไปทำงานได้ ต้องใช้ยาช่วยบรรเทาอาการถี่ขึ้น หรืออาจต้องมานอนห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลมากขึ้น อาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือบางคนอาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งมีผลการศึกษาว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10% จะทำให้ผู้ป่วยหอบหืดมาห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้น 3% จึงไม่แปลกที่ช่วงฝุ่นพิษปลายปีจะมีผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่วนในระยะยาวยังทำให้สมรรถภาพปอดเสื่อมลง อาจเสื่อมลงแบบถาวร คล้ายโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อายุขัยสั้นลง เกิดมะเร็งปอดง่ายขึ้น เป็นโรคความดัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจขาดเลือดได้ง่ายขึ้นด้วย

มนุษย์เราสูดอากาศหายใจเข้าไปวันละประมาณ 2 หมื่นลิตร แต่เมื่อพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นขึ้นนั้น เรายังไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้ฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ไปอีกนาน ซึ่ง 92% ของประชากรโลกก็สัมผัสฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ประเทศไทยก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะเราก็เป็นหนึ่งใน 92% แต่ระดับความเข้มข้นของฝุ่นที่เกินมาตรฐานยังน้อยกว่าจีน หรืออินเดีย เพียงแต่เราต้องบริหารจัดการ มีความตระหนักและใส่ใจในการป้องกันตนเอง”ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว


สำหรับการรับมือกับฝุ่นพิษช่วงปลายปี เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนแก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ แบ่งออกเป็น 6 สเต็ป โดย ศ.นพ.ชายชาญ แนะนำว่า

1.ประชาชนและผู้ป่วยควรจะต้องติดตามดัชนีคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง


โดยเฉพาะช่วง พ.ย. - ก.พ. ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ส่วนช่วง ก.พ. - เม.ย. เป็นภาคเหนือตอนบนที่ต้องใส่ใจ ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางให้ติดตามค่าอากาศได้หลายช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้งของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) หรือขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา องค์การอนามัยโลก เพียงแต่การดูว่าค่าเกินมาตรฐานหรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ อาจต้องอิงเกณฑ์ของทางองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ องค์การอนามัยโลก เพราะค่าของกรมควบคุมมลพิษตั้งค่าไว้สูงกว่า 2 เท่า อย่างคนทั่วไปเริ่มระวังเมื่อค่าเป็นสีส้ม กลุ่มเสี่ยงก็อาจต้องเริ่มระวังตั้งแต่เป็นสีเหลืองแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรจะต้องดูค่าฝุ่นเป็นรายชั่วโมง ซึ่งค่าของกรมควบคุมมลพิษยังคงเป็นค่าเฉลี่ยรายวัน ไม่เหมาะสำหรับคนไข้โรคภูมิแพ้ หอบหืด และกลุ่มเสี่ยง เพราะการดูค่ารายชั่วโมงจะช่วยให้เราสามารถวางแผนได้ว่า ช่วงไหนที่คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร ควรจะป้องกันตัวเอง หรือสามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ เพราะแต่ละช่วงวันช่วงเวลาค่าก็เปลี่ยนไป

2.เช็กค่าฝุ่นทั้งในบ้านและนอกบ้าน


การบอกว่าเราอยู่ในอาคารแล้วปลอดภัยกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะอากาศภายในอาคารก็ไม่ได้แตกต่างจากภายนอกเลย เพราะเครื่องปรับอากาศนั้นทำให้อากาศเย็นขึ้นเฉยๆ แต่ไม่ได้ช่วยในการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ในอาคาร ในห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในรถยนต์ก็ไม่ได้ปลอดภัยจากฝุ่น จึงต้องเช็กคุณภาพอากาศด้วย โดยอาจหาเซ็นเซอร์ที่เป็นอุปกรณ์มาวัดค่าก็ได้ หากค่าเกินมาตรฐานหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพก็จะได้ป้องกันตัวเอง

3.สวมหน้ากากอนามัย N95


หากค่าฝุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน ก็อาจพิจารณาสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ส่วนที่บอกว่าให้สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นหรือใช้ทิชชู่รอง ไม่สามารถช่วยได้จริง อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากาก N95 อาจทำให้หายใจลำบาก หากเริ่มมีอาการหายใจลำบาก อาจจะต้องถอดหน้ากากออกสักครู่หนึ่ง แล้วหายใจธรรมดาสักครู่ แล้วจึงกลับมาสวมต่อ ที่สำคัญ คือ จะต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 อย่างถูกต้องด้วย เพราะหากสวมไม่ถูกต้อง หรือไม่สนิทพอ ก็จะไม่สามารถกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.เปิดเครื่องฟอกอากาศ

อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศลงได้ คือ การเปิดเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งหากค่าฝุ่นละอองในบ้าน ในห้อง ในรถยนต์ หรือกระทั่งรถแท็กซี่ มีค่าสูงจนมีผลกระทบ แต่มีความอึดอัดในการสวมหน้ากากอนามัย N95 อาจอาศัยเครื่องฟอกอากาศในการช่วยลดฝุ่นละอองลงได้ แต่เครื่องฟอกอากาศจะได้ผลดีในพื้นที่ปิดหรือจำกัด อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า เช่น บีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน อาจไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 เพราะมีระบบในการฟอกอากาศ ทำให้ค่อนข้างปลอดภัยกว่าอากาศภายนอกอยู่แล้ว


5.ลดกิจกรรมหนักๆ

เมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐานหรือมีผลกระทบ ควรจะต้องลดกิจกรรมหนักๆ ที่ทำให้เกิดการหายใจแรง หรือหายใจเข้ามากๆ และไม่ควรอยู่นอกอาคารเกิน 3 ชั่วโมง แม้จะมีการสวมหน้ากาก N95 ก็ตาม

6.ตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรตรวจสอบว่า ตนเองยังอยู่ในสถานะที่ควบคุมโรคได้ดีอยู่หรือไม่ เพราะฝุ่นละอองมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ หอบหืด เช่นเดียวกันในช่วงนี้แพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยต้องเริ่มให้ข้อมูล เพื่อช่วสร้างความตระหนักแก่ผู้ป่วยด้วยว่า จะต้องดูแลสุขภาพอย่างไร เตือนเรื่องของสภาพแวดล้อม การปฏิบัติตนใส่ใจดูคุณภาพอากาศ เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นละออง

โดยสรุปแล้ว ตั้งแต่ช่วง พ.ย.เป็นต้นไป ประชาชนควรใส่ใจตรวจสอบคุณภาพอากาศทุกชั่วโมง เช็กดูทั้งค่าในบ้านและนอกบ้าน เพื่อจะได้วางแผนการใช้ชีวิตหรือป้องกันสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม อย่างช่วงบ่ายๆ หากค่าฝุ่นไม่เกิดผลกระทบ ก็อาจออกไปนอกบ้านได้ แต่หากมีผลกระทบต่อสุขภาพ ก็อาจเลือกงดกิจกรรมต่างๆ อยู่ภายในบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศ หรือสวมหน้ากากอนามัย N95 เพื่อป้องกันตนเอง ก็จะช่วยให้ลดผลกระทบจากฝุ่นลงได้ เลี่ยงอาการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น