xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นรัฐแก้เกม“วิ่งไล่ลุง”ไม่ตรงจุด คาดนำไปสู่ชุมนุมใหญ่ หลัง เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิ่งไล่ลุง” วางแผนจัดทุกภูมิภาค ภายใน เม.ย.นี้ ยินดีเปิดรับแนวร่วม สร้างเครือข่ายแสดงพลัง หลายกลุ่มร่วมเคลื่อน เหตุไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ นโยบายเอื้อกลุ่มทุน และใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หนุ่มสาวอัดอั้นไม่สามารถแสดงความเห็น “พิชาย” ชี้ หากปัญหาไม่ถูกแก้ไข อาจเกิดชุมนุมใหญ่หลังเมษาฯ ด้าน “ธัชพงศ์” ระบุ ผู้ร่วมกิจกรรมมีหลายกลุ่มหลายวัย เป็นการสลายสีเสื้อ ขณะที่ “ประสิทธิ์ชัย” เผย มวลชน กปปส.ภาคใต้ ไม่เอา “ประยุทธ์” เข็ดถูกแกนนำหลอก

นับว่าเสียงตอบรับเกินความคาดหมายสำหรับกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดขึ้นพร้อมกัน 35 จังหวัด 39 จุดทั่วประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และยังมีกิจกรรมคู่ขนาน วิ่งไล่ลุงในต่างแดนอีกอย่างน้อย 3 ประเทศที่จัดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส เฉพาะที่สวนวชิรเบญจทัศน์ หรือสวนรถไฟ จตุจักร ซึ่งเป็นจุดหลักในการจัดวิ่ง ตัวเลขจากหน่วยงานความมั่นคงระบุว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 13,000 คน อีกทั้ง #วิ่งไล่ลุง ยังติดอันดับ 2 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ตอกย้ำความสำเร็จ แม้ที่ผ่านมีจะความพยายามจากหน่วยงานภาครัฐในการสกัดกั้นไม่ให้มีการจัดกิจกรรม ทำให้ในหลายจังหวัดต้องย้ายที่จัดก็ตาม

กิจกรรมนับจากนี้น่าจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น และอาจมีแนวร่วมมากขึ้นด้วยเนื่องจากความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจรัฐเริ่มขยายวงไปทั่ว

นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำจัดงาน “วิ่งไล่ลุง”
นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำจัดงาน “วิ่งไล่ลุง” เปิดเผยว่า ทีมงานวางแผนว่าจะมีการจัดกิจกกรมวิ่งไล่ลุง ให้ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และวนมาจัดที่กรุงเทพฯอีก 1 ครั้งภายในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนการจัดวิ่งไล่ลุง ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแม่งาน ร่วมด้วย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยรูปแบบของงานอยู่ระหว่างการหารือกันในรายละเอียด ส่วนจังหวัดอื่นๆจะมีการจัดวิ่งด้วยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่จัดงานในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเป็นการจัดกิจกรรมแบบอิสระซึ่งแต่ละพื้นที่จัดกันเอง เช่นเดียวการจัดวิ่งครั้งแรก

สำหรับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวจัดวิ่งไล่ลุงในจังหวัดต่างๆจะเป็นเครือข่ายแนวร่วมแบบถาวรหรือไม่นั้น นายธนวัฒน์ กล่าวว่า คงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ทางทีมงานไม่ได้มีการประสานเพื่อสร้างเครือข่าย แต่หากกลุ่มใดมีความคิดและอุดมการณ์ตรงกันจะมาร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเราก็ยินดี ส่วนการจะสร้างเป็นภาคีเครือข่ายหรือไม่นั้นคงเร็วไปที่จะพูด

“เรายินดีที่จะมีการรวมพลังจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยกันก่อน นับจากนี้เราจะดูว่าอีก 3 เดือนข้างหน้ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหา 3 ข้อที่เราเรียกร้อง คือ ปัญหาเศรษฐกิจ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เสรีภาพแก่ประชาชน และหยุดใช้อำนาจเอื้อพวกพ้อง รังแกคนเห็นต่าง หรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขเราก็คงต้องมาพิจารณาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรกันต่อไป” แกนนำจัดงานวิ่งไล่ลุง กล่าว

รศ.ดร. พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา  และ  อดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ทั้งนี้ในมุมมองของนักวิชาการด้านการเมืองนั้นมองว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็น “จุดเริ่ม” ของการเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มเล็กๆ และอาจจะนำไปสู่การขยายแนวร่วมในวงกว้างหากมีประเด็นร่วมที่คนในสังคมเห็นตรงกันและประเด็นนั้นยังดำรงอยู่

รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา และ
อดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีประเด็นใหญ่ๆอยู่ 2 ประการ คือ 1.ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากรัฐบาลเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการแก้ไข ไม่มีการปฏิบัติแบบหลายมาตรฐาน กระแสที่จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลก็จะลดลง 2.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถแก้ไขได้ ก็ไม่มีแรงจูงใจให้คนออกมา แต่ถ้าแก้ไม่ได้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ก็จะออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วย

อาทิ มวลชน กปปส.ภาคใต้ ซึ่งมีจุดยืนว่าการร่วมจัดงานวิ่งไล่ลุงครั้งแรกเป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล แต่ไม่ได้ร่วมจัดงานในครั้งต่อๆไป โดยจะมุ่งเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหากับประชาชนในพื้นที่ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า ปัญหาที่ดิน แต่หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมวลชนเหล่านี้ก็อาจจะมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มวิ่งไล่ลุง

“ เชื่อว่าในการจัดวิ่งไล่ลุงในภูมิภาคต่างๆนั้นเป็นกลไลที่จะดึงผู้คนที่มีความรู้สึกเดียวกันให้ออกมา เมื่อจัดครบทุกภูมิภาค และวนมาจัดที่กรุงเทพฯอีกครั้งในเดือน เม.ย. อาจจะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่พร้อมกันทั้งประเทศ ” รศ.ดร. พิชาย กล่าว

นายธัชพงษ์ แกดำ สมาชิกกลุ่มประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD  ที่เคยร่วมชุมนุมกับ กปปส.  และออกมาร่วมวิ่งไล่ลุง
ส่วนกลุ่มที่ออกมาร่วมวิ่งไล่ลุงมีใครบ้าง เป็นกลุ่มที่มุ่งสนับสนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จริงหรือไม่ ?

นายธัชพงษ์ แกดำ สมาชิกกลุ่มประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ที่เคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และออกมาร่วมวิ่งไล่ลุงในครั้งนี้ ชี้แจงว่า คนที่ออกมาไล่ลุงนั้นมีหลากหลายวัย มีทั้งนิสิตนักศึกษาที่ไม่เคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องพลังงาน กลุ่มที่สนับสนุนนายธนาธร คนที่เคยร่วมชุมนุมเสื้อแดง คนที่ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ รวมถึงคนที่ร่วมชุมนุมกับ กปปส.

ดังนั้นคนที่มองว่าออกมาวิ่งไล่ลุงเพราะธนาธรนั้นบอกเลยว่า “ผิด” การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาต่างหากที่เรียกคนออกมา เหตุผลที่วัยรุ่นออกมากันเยอะเพราะเขาอึดอัดที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆได้ นอกจากนั้นการวิ่งไล่ลุงที่มีการจัดกิจกรรมพร้อมกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่ต้องมีแกนนำ แต่ออกมาเพราะความรู้สึกร่วมที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลยังเป็นตัวสะท้อนว่าประชาชนไม่ได้ออกมาเพราะยึดตัวบุคคล นับเป็นพลวัตรของภาคประชาสังคม

“ วิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อแสดงพลัง ซึ่งจัดขึ้นโดยนิสิตนักศึกษา โดยเน้นความปลอดภัย ไม่ชุมนุมยืดเยื้อซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดความรุนแรงได้ คนที่มาร่วมก็ไม่มีการแบ่งขั้ว ก้าวข้ามคำว่าสีเสื้อ มีทั้งมวลชนพันธมิตรฯ เสื้อแดง กปปส. และคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เรายอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ให้เกียรติกัน เพราะเราผ่านบทเรียนสีเสื้อกันมาแล้ว การเคลื่อนไหวนับจากนี้จะเป็นการสะสมความชอบธรรมที่จะขับไล่รัฐบาลไปเรื่อยๆ” นายธัชพงศ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน หนึ่งในแนวร่วม กปปส. ที่ออกมาร่วมวิ่งไล่ลุง ที่ จ.นครศรีธรรมราช
ต้องยอมรับว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯอันป็นศูนย์กลางทางการเมือง และในอีก 34 จังหวัดทั่วประเทศได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไม่น้อย ที่สำคัญแนวร่วม กปปส. โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่หวังว่าจะเป็น “แรงหนุน”ให้รัฐบาล ก็ออกประกาศชัดเจนว่าไม่เอา “ลุง” เช่นกัน ด้วยเหตุผลสำคัญว่า “เขาถูกหลอก”

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน หนึ่งในแนวร่วม กปปส. ที่ออกมาร่วมวิ่งไล่ลุง ที่ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ผู้ที่มาวิ่งไล่ลุงนั้นมีหลากหลายวัย คนในพื้นที่ซึ่งไม่มีการจัดวิ่งไล่ลุงก็มาร่วมวิ่งที่ จ.นครศรีธรรมราช จุดมุ่งหมายก็เพื่อต้องการสะท้อนปัญหาการทำงานของรัฐบาล โดยประเด็นหลักๆที่ชาวใต้ไม่พอใจก็คือ ความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาราคายางและปาล์มตกต่ำ การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติของภาครัฐ เช่น ปัญหาที่ทำกิน การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน และการผลักดันโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนแต่กลุ่มทุนได้ประโยชน์

“ คนใต้ไปร่วมชุมนุม กปปส.ก็เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบัน กปปส.ไม่มีความหมายในสายตาคนใต้อีกต่อไป จาก 100% ที่เคยเชียร์ เหลือแค่ 10% เพราะที่ผ่านมาไปร่วมเคลื่อนไหวแล้วประชาชนไม่ได้อะไร คนที่เคยเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เขาก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน การร่วมขับเคลื่อนกับนักการเมืองในหลายๆครั้งเรามีบทเรียนว่าประชาชนถูกหลอก แม้แต่การวิ่งไล่ลุงหากถูกพัฒนาเป็นม็อบการเมืองเราก็คงไม่ร่วม เพราะไม่ใช่เป้าหมายที่ประชาชนต้องการ เราจะเคลื่อนไหวเฉพาะการทวงคืนทรัพยากรที่ควรเป็นของประชาชน และทวงคืนระบบเศรษฐกิจที่ดีกลับคืนมา” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว


กล่าวได้ว่าปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลถือเป็นประเด็นร่วมที่ทำให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหว โดย นายธัชพงศ์ ระบุว่า จากที่ตนคลุกคลีกับภาคประชาสังคมต่างก็ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล โดยเห็นตรงกันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อประชาชน แต่บริหารเพื่อจัดสรรอำนาจ จัดสรรประโยชน์ให้กลุ่มทุน มีการให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนที่ประกาศสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกผังเมือง EEC ซึ่งให้ทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้นานถึง 99 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก มีความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเช่น กรณีบุกรุกป่า 46 ไร่ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ทางการยังเพิกเฉย ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะถูกไล่ที่จากมาตรการทวงคืนผืนป่า กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมโดยอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ

ขณะที่ นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานภาคประชาชนมา 20 ปี ตอนนี้คนพูดเหมือนกันหมดว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยชาวบ้าน ปล่อยให้ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ แต่ออกนโยบายเพื่อเอื้อนายทุน กลุ่มทุนเข้ามามีบทบาทในนโยบายรัฐ คำว่าประชารัฐ แทนที่จะเป็นประชาชนกับรัฐ กลับเป็นกลุ่มทุนกับรัฐ ในภาคใต้มีโครงการนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ชาวบ้านออกมาคัดค้าน รัฐบาลก็ไม่สนใจ เราจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความป็นธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น