xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองปี 63 ระอุ !! ม็อบแรงหรือจบเร็ว อยู่ที่ 3 ปัจจัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.พิชาย” ระบุ ชุมนุมไล่รัฐบาล ยืดเยื้อหรือไม่ อยู่ที่ 3 ปัจจัย เผย นักวิชาการประเมิน “อนาคตใหม่” ไม่ถูกยุบ เหตุหลักฐานอ่อน-รัฐหวั่น ! จุดชนวนเรียกม็อบ ด้าน “พิภพ ธงไชย” ชี้ อนค. คือตัวแทนวิญญาณกบฏของคนรุ่นใหม่ จิตวิญญาณไม่ตายแม้พรรคถูกยุบ เชื่อ ส.ส.พรรคสีส้มแก้เกมด้วยการย้ายก่อนโดนยุบ หลายฝ่าย ติง “ผบ.ทบ.” ไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง ชี้ประเด็น “ลัทธิชังชาติ” ของลุงกำนันจุดไม่ติด

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์การเมืองในปี 2563 นี้ ซึ่งดูทีท่าว่าน่าจะร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี โดยมี 3 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ตัวนายกฯ และ 3 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ 2) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ใน 2 กรรม 2 วาระ คือกรณีการให้เงินกู้แก่พรรคของ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และข้อกล่าวหาเรื่องล้มล้างการปกครอง

3) การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลซึ่งเริ่มขยับมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “แฟลชม็อบ” ที่นำโดย “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีผู้คนหลากหลายวัยออกมาร่วมชุมนุมกันแน่นขนัด พร้อมประกาศจะนัดชุมนุมอีกครั้งในเดือน ม.ค.นี้ และมีการประเมินว่าจะมีคนมาร่วมมากกว่าเดิม หรือกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นำโดย นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานยุทธศาสตร์ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งจะนัดทำกิจรรมกันในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ประเมินคร่าวๆ จำนวนผู้ที่จะออกมาวิ่งไล่ลุงตัวเลขอยู่ที่หลักหมื่นแน่นอน โดยข้อมูลจาก “เพจวิ่งไล่ลุง” ระบุว่าการเปิดลงทะเบียนทั้งสองรอบนั้น แต่ละรอบมีผู้สมัครเกือบหมื่นคนเลยทีเดียว

ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกก็คือเหตุการณ์ที่ 2 จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลให้เหตุการณ์ที่ 3 ขยายวงมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา และอดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา และอดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปี 2563 ว่า การชุมนุมของกลุ่มที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลจะจบเร็วหรือยืดเยื้อก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการ คือ

1. การบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐและองค์กรอิสระ หากมีความเป็นธรรม อยู่ในจุดที่ผู้คนยอมรับได้ จะทำให้ความคับข้องใจของผู้ชุมนุมลดน้อยลง ความคิดที่จะออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็น้อยลง แบบนี้การชุมนุมไม่ยืดเยื้อ ในทางกลับกันถ้าใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม คนจะอึดอัดคับข้อง นำไปสู่ปฏิกิริยาตอบโต้โดยออกมาชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจ และยิ่งรัฐใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมมากขึ้น คนก็จะออกมามากขึ้นและชุมนุมอย่างยืดเยื้อ

2. ท่าทีของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ ความรู้สึกคับข้องใจของผู้ชุมนุมจะลดลง แต่ถ้ารัฐบาลเล่นแง่ ไม่มีความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้คนที่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้อง

3. รัฐบาลสามารถทำให้ผู้คนมีความหวังได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ แรงต้านก็จะมากขึ้น อย่างแรกที่จะทำให้คนมีความหวังก็คือการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมในการปกครอง ความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลก็จะลดลง

“การทำงานขององค์กรอิสระทำให้คนทั่วไปสงสัยในเจตนา กรณียื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น ต้องยอมรับว่าคนที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลมีเยอะ และพร้อมจะออกมาชุมนุม ถ้ารัฐบาลยังปฏิบัติแบบเดิมสกัดกั้นการแสดงความเคิดห็น บังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม นักศึกษาและปัญญาชนก็จะออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแกนนำอาจจะเป็นใครก็ได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในยุค 14 ตุลาฯ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
ด้าน นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย มองว่า การชุมนุมของกลุ่มที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะแรงเหมือนการชุมนุมพันธมิตร การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง หรือการชุมนุมของ กปปส. เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1) ยังไม่ใช่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่การไล่รัฐบาลจะเกิดจากประเด็นเรื่องปัญหาการคอร์รัปชันอย่างรุนแรง 2) ไม่มีประเด็นเรื่องการหมิ่นสถาบัน 3) คนยังเหนื่อยกับการชุมนุมใหญ่ติดๆ กันในหลายครั้งที่ผ่านมา 4) พล.อ.ประยุทธ์สนิทสนมกับกองทัพ 5) รัฐบาลลดกระแสเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการปล่อยให้สภาตั้งกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6) นายธนาธรซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมไม่มีทีวีซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยระดมคน การใช้สื่อ Facebook อย่างเดียวอาจไม่พอ 7) พรรคเพื่อไทยไม่กล้าหนุนอนาคตใหม่เหมือนหนุนกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากตอนนี้ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่ต้องการหลุดคดีหรือนิรโทษกรรมมากกว่า

“เชื่อว่าครั้งนี้ม็อบยังไม่ใหญ่ แต่ถ้าม็อบใหญ่อนาคตใหม่ก็จะลำบากเพราะยังมีปัญหาเรื่องการดูแลผู้ชุมนุม ซึ่งอนาคตใหม่ก็ไม่กล้าให้กลุ่มเสื้อแดงซึ่งมีประสบการณ์ในการชุมนุมเข้ามาดูแลม็อบ เนื่องจากกลุ่มเสื้อแดงยังติดภาพการใช้ความรุนแรงซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการชุมนุม แต่ก็เชื่อว่าจะมีการชุมนุมย่อยๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆส่วนประเด็นที่จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ล้มได้นั้นจะเป็นเรื่องของปัญหาในการบริหารงานที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ และความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย อย่าง กรณีบุกรุกป่าของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พลังประชารัฐ” อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สังคมกำลังหวั่นวิตกก็คือการเคลื่อนไหวของอดีตแกนนำ กปปส.ที่เข้าร่วมรัฐบาล และท่าทีของกองทัพที่มีต่อผู้ชุมนุม ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกในบ้านเมือง โดยในส่วนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรมประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรคซึ่งเคยเป็นแกนนำ กปปส. ได้เดินสายให้ข้อมูลกับคนที่เป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่าพรรคอนาคตใหม่และผู้ที่จะออกมาทำกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เป็นพวก "ลัทธิชังชาติ"

ขณะที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาระบุว่า มีบางคนอยู่เบื้องหลังการชุมนุมและกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นลักษณะ Proxy Crisis หรือ ตัวแทนที่ผู้อยู่เบื้องหลังส่งออกมาสู้กับภาครัฐตามด้วย พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม วิจารณ์กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ และนักประชาธิปไตยควรทำงานในสภา เนื่องเพราะสังคมหวั่นเกรงว่าการให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวจะยิ่งเป็นการสร้างความเกลียดชังและความแตกแยก และอาจนำไปสู่สถานการณ์ “ม็อบชนม็อบ” ที่สำคัญกองทัพไม่ควรเแสดงท่าทีสนับสนุนพรรคหรือเป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

นายพิภพ ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การที่นายสุเทพไปขึ้นเวทีกล่าวหาว่ากลุ่มที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็น “ลัทธิชังชาติ” นั้นถือเป็นเรื่องที่พลาดมาก เพราะนายสุเทพไปเชื่อบทวิเคราะห์ของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์บางคน แต่คนในสังคมไม่ได้รู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ทำร้ายประเทศหรือคิดจะล้มสถาบัน เพราะสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่วิพากษ์วิจารณ์คือการทำงานของรัฐบาลและการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมของกองทัพ


ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.พิชาย ที่มองว่า สิ่งที่นายสุเทพทำนั้นไม่เหมาะสมเพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม อย่างไรก็ดีเชื่อว่าเป็นกระแสที่ปลุกไม่ขึ้น เพราะคนดูออกว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล ขณะที่ ผบ.ทบ.ก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง ควรเป็นทหารอาชีพที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ อีกทั้งประเด็น Proxy Crisisที่ ผบ.ทบ.พูดก็เป็นเรื่องเก่าสมัยสงครามเย็น แต่ปัจจุบันเป็นโลกโซเชียลฯ โลกเสรีทางความคิดที่ไม่สามารถใช้อำนาจปิดกั้นได้

“การที่กองทัพปกป้องรัฐบาลมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อเกียรติภูมิของทหาร กองทัพควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ควรเอาตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนกรณีการเสนอยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ปลุกเร้าให้คนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นนั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่กล้ายุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะจะเท่ากับเป็นการจุดชนวนให้มีผู้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และอาจจะขยายวงออกไปในหลายพื้นที่ และหากพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้วประเด็นที่ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งกรณีที่นายธนาธรให้พรรคกู้ยืมเงิน และข้อกล่าวหาในคดี “อิลลูมินาติ” เรื่องล้มล้างการปกครอง (ผู้ที่ร้องให้ยุบพรรคระบุว่าสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่ากลับหัว มีความเหมือนกับสัญลักษณ์สมาคมอิลลูมินาติซึ่งอยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ ในช่วงปี ค.ศ. 1770 หรือเมื่อ 249 ปีที่ผ่านมา) บรรดานักวิชาการต่างเห็นตรงกันว่าไม่มีมูลเหตุพอที่จะยุบพรรค

“หลายๆ คดีที่อนาคตใหม่ถูกฟ้องนั้นเป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมาย แม้แต่กรณีการยื่นยุบพรรคทั้ง 2 ประเด็น ซึ่งจากการศึกษาข้อกฎหมายของนักวิชาการเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนกรณี “อิลลูมินาติ” ก็อ่อนเกินไป” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ด้านแกนนำพันธมิตร วิเคราะห์ว่า รัฐบาลน่าจะอยากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะต้องการดูด ส.ส.จากอนาคตใหม่เข้ามาสังกัดพรรคซีกรัฐบาลสัก 20 เสียง แต่คงต้องประเมินด้วยว่าถ้ายุบอนาคตใหม่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แม้จะยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่บุคลากรของพรรคก็อาจจะไม่ได้หายไปจากสภา กรรมการบริหารพรรคอาจจะชิงลาออก ส่วน ส.ส. ย้ายพรรคก่อนถูกยุบ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็คือการสะสมความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพรรคที่กุมอำนาจรัฐ

“อนาคตใหม่เป็นตัวแทนวิญญาณกบฏของคนรุ่นใหม่ แม้จะยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแต่วิญญาณกบฏของคนรุ่นใหม่ก็ยังอยู่” นายพิภพ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น