“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก เนื่องจากมีประชาชนมากมายมาร่วมงาน จนไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเท่าไร แสดงให้เห็นว่าวันนี้พี่น้องประชาชนตื่นตัว และเข้าใจสถานการณ์การเมือง และเข้าใจว่ามี “ลุง” ที่เป็นตัวฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศเอาไว้ จึงมาแสดงพลังของประชาชนร่วมกัน อยากส่งสัญญาณว่า ผมและพรรคอนาคตใหม่ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ซึ่งมีแต่การที่ประชาชนรวมพลังกันเท่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ดังนั้น เราจึงมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารของประวัติศาสตร์
“นี่คือเสียงของประชาชนที่บอกว่าเราไม่พอใจกับการสืบทอดอำนาจของคสช. เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องการประชาธิปไตยกลับคืนมา นี่คือจิตวิญญาณของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อเผด็จการ”
ธนาธรมองว่านี่เป็นความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยที่จะออกมาขับไล่รัฐบาลที่เขามองว่าไม่ชอบธรรม และนำพาประเทศไปสู่การต่อสู้บนถนนอีกครั้ง
สิ่งที่ธนาธรพูดไม่ใช่เรื่องที่ผิด ถ้าครั้งหนึ่งธนาธรและพรรคพวกไม่วิจารณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนับสิบปีว่า เป็น “ทศวรรษที่สูญเปล่า” ทั้งที่การชุมนุมและความขัดแย้งนั้นเกิดจากการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมเช่นเดียวกัน
เพราะการชุมนุมทางการเมืองของยุคสมัยนั้นเริ่มมาจากการขับไล่ทักษิณซึ่งธนาธรเองก็เข้าใจดีว่าทักษิณนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากอำนาจ เหมือนที่ธนาธรพูดไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
“ผมตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำงานการเมืองโดยไม่อยากให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างที่นายทักษิณ ชินวัตร โดนมาก่อน ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หากศาลตัดสินเป็นคุณกับผม ผมจะออกไปทำเรื่องบลายด์ทรัสต์ทันที เพราะต้องการใช้มาตรฐานนักการเมืองตะวันตกในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ผมไม่ต้องการเข้ามาเพื่อมีผลประโยชน์หรือบริวารห้อมล้อมเหมือนนายทักษิณ เพราะผมอยากเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ซึ่งถ้ายังอยู่แบบนี้ก็จะเดินต่อไปไม่ได้”
แต่จริงๆ แล้วธนาธรก็เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้เพื่อทักษิณ และธนาธรเคยพูดว่า ถ้าตัวเองมีอำนาจจะนำทักษิณกลับมาเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการพูดเพื่อเอาใจมวลชนของทักษิณในการหาความนิยมทางการเมืองของนักการเมืองคนหนึ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงธนาธรก็รู้ว่าเมื่อทักษิณเข้ามามีอำนาจเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนแบบที่พูดในศาลรัฐธรรมนูญ
ตอนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ทักษิณ หรือกปปส.ขับไล่ยิ่งลักษณ์นั้น เรามักจะได้ยินนักวิชาการ นักทฤษฎีที่ยืนข้างระบอบทักษิณออกมาปรามและพูดทำนองว่า ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรมก็รอให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้ง ไม่ใช่ออกมาชุมนุมขับไล่ คนเหล่านี้เคยพูดเหมือนไม่เข้าใจว่า การขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้นคือความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย
แต่วันนี้ฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณและวันนี้มาสนับสนุนธนาธร เพราะเห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยนั้นหมดสภาพที่จะฝากความหวังไว้ได้แล้ว กลับอ้างความชอบธรรมมาเพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และไม่มีเสียงโต้แย้งจากนักวิชาการและนักทฤษฎีที่เคยปรามพันธมิตรฯ และกปปส.เลยว่า ให้รอประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลับออกมาสนับสนุนประชาชนที่ออกมาวิ่งไล่ลุงกันหมด
แถมวันนี้ออกมาพูดจาทำนองว่า การจัดตั้งมวลชนมาเดินเชียร์ลุงในขณะที่อีกฝ่ายออกมาวิ่งไล่ลุงนั้น อาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการปะทะกัน ทั้งที่คนเหล่านี้เคยพูดถึงความชอบธรรมของคนเสื้อแดงที่ระบอบทักษิณเคยจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ปะทะกับการชุมนุมของพันธมิตรฯมาก่อน สะท้อนว่า คนเหล่านี้มักใช้ตรรกะเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝั่งที่ตัวเองสนับสนุนเท่านั้น แต่กับฝ่ายตรงข้ามตรรกะจะวิบัติทันที
ทำไมฝั่งประชาธิปไตยจึงจัดตั้งม็อบมาชนม็อบได้ ทำไมจึงปลุกปั่นมวลชนฝั่งตัวเองออกมาได้ แล้วถ้าธนาธรเรียก ฝ่ายที่ออกมาวิ่งไล่ลุงว่าเป็นพลังประชาชนเป็นกระแสธารของประวัติศาสตร์ ฝ่ายที่เดินเชียร์ลุงก็มองว่าเขาเป็นพลังประชาชนและเป็นสายธารของประวัติศาสตร์ได้เช่นเดียวกันไหม
ถ้าถามว่า “ลุง”มีความไม่ชอบธรรมอยู่บ้างไหม คำตอบคือ สิ่งที่ผมพูดเสมอว่า ไม่ชอบธรรม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนกติกาให้มีการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน เขียนรัฐธรรมนูญให้ลุงได้เปรียบ และเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะลุงตั้ง ส.ว.เอง 250 คน แล้วให้ ส.ว.มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ
แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ของธนาธรทราบแล้วตั้งแต่ต้นก่อนที่จะตัดสินใจทั้งพรรคเข้าแข่งขันทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนลุงเป็นนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายพรรคของลุงก็สามารถรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งแน่นอนมาจากแต้มต่อที่รับรู้กันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
ในกระบวนการทางรัฐสภาและการต่อสู้ทางการเมืองสิ่งที่ควรทำเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบแล้วก็คือ การต่อสู้เพื่อให้เปลี่ยนแปลงกติกาที่ไม่เป็นธรรมตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย
แต่วันนี้ธนาธรกลับเรียกคนลงมาเดินถนนแล้วบอกว่า “ลุง” เป็นตัวฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศเอาไว้ จึงมาแสดงพลังของประชาชนร่วมกัน ที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย แล้วบอกว่ามีแต่การที่ประชาชนรวมพลังกันเท่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ราวกับว่าอีกฝั่งนั้นไม่ใช่ประชาชนในความหมายของธนาธร
จริงๆ แล้วถ้าธนาธรจะไม่ส่งพรรคลงแข่งขันเพราะเห็นว่ากติกาไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น และชวนประชาชนลงถนน ก็อาจจะมีความชอบธรรมมาก แต่นี่กลายเป็นลงแข่งขันตามกติกาที่เขากำหนดแล้วแพ้
หรือจะบอกว่าการต่อสู้และเรียกร้องของฝั่งตัวเองเท่านั้นที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญ ต้องให้ธนาธรเป็นนายกฯเท่านั้นที่จะเป็นธรรมและนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าได้
น่าประหลาดใจที่ธนาธรเคยหมิ่นแคลนการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลอีกฝั่งว่าเป็นการฝ่าฝืนกติกาของระบอบประชาธิปไตย และนำประเทศจมปลักเป็นทศวรรษที่สูญหาย แต่บัดนี้เมื่อตัวเองเข้าสู่การเมืองและพ่ายแพ้เกมการเลือกตั้งกลับเรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลที่ตัวเองพ่ายแพ้ในกติกาที่ตัวเองรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น
ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยของการเขียนรัฐธรรมนูญให้คสช.สืบทอดอำนาจ และเป็นฝ่ายเขียนบทความหลายครั้งเพื่อคัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า การเขียนกติกาให้สืบทอดอำนาจมันจะเป็นชนวนให้ประเทศไทยอยู่ในหล่มของความขัดแย้งต่อไปไม่จบสิ้น กระนั้นผมไม่ได้คัดค้านที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยถ้าแข่งขันกันโดยเท่าเทียม แต่ผมคัดค้านการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ใช้กติกาที่เอาเปรียบเพื่อเข้าสู่อำนาจ
ส่วนธนาธรต่างกับผม ธนาธรมองเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองในการตั้งพรรคให้ได้รับเลือกเข้ามาจำนวนมาก ธนาธรเลยเข้ามาแข่งในระบบกับพรรคการเมืองอื่น แม้ได้ส.ส.จำนวนมากตามเป้าหมายหรือจะบอกว่าเกินความคาดหมายเพราะเหตุยุบพรรคไทยรักษาชาติ แล้วธนาธรก็เข้าไปแข่งขันในระบบรัฐสภาในการโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วพ่ายแพ้ ถามว่าตอนนั้นธนาธรมองเห็นความไม่ชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ถ้าธนาธรชนะก็ชอบธรรมใช่ไหม
แล้วธนาธรเองใช่ไหมที่ผิดพลาดในการถือครองหุ้นสื่อเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ทางการเมือง ธนาธรเองใช่ไหมที่ให้พรรคกู้ยืมเงินซึ่งอาจถูกตัดสินว่ามีความผิดและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ถามว่า เพราะกติกาไม่ชอบธรรมหรือเพราะลุงเป็นตัวถ่วงความเจริญ ธนาธรจึงต้องชวนมวลชนมาลงถนนเพื่อขับไล่ลุง
สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนความลักลั่นและการเอาตัวตนเป็นใหญ่ของธนาธร เหมือนกับเสียงสะท้อนในพรรคอนาคตใหม่ว่า มีชนชั้นและอำนาจบาตรใหญ่ในพรรค พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่ต่างจากพรรคนายทุนที่เราเห็นในพรรคของทักษิณตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาถึงพรรคเพื่อไทยที่วันนี้ยังไม่มีประชาธิปไตยในพรรค ทุกอย่างยังต้องรอให้ทักษิณตัดสินใจ แต่แปลกไหมฝั่งนี้มักจะเรียกตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อสะท้อนว่าฝั่งตรงข้ามเป็นฝ่ายไม่เอาประชาธิปไตย
ถามว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมไหม ผมพูดเสมอว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ธนาธรก็มีเสรีภาพที่จะนำมวลชนลงถนนเช่นกัน แต่ข้ออ้างของธนาธรในการขับไล่ลุงคืออะไร ถ้าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้ลุงได้เปรียบ ธนาธรต้องรู้ตั้งแต่ต้นและไม่ตั้งพรรคลงมาแข่งขัน เพราะถ้าเป็นแบบนี้จะกลายเป็นแพ้แล้วพาล
ถ้าตัดสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนให้ลุงได้เปรียบแต่ธนาธรไม่ได้คัดค้าน ตอนนี้ฝั่งธนาธรก็ไม่ควรเอาเหตุผลนี้มาไล่ลุงว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญ เพราะธนาธรเพิ่งลงเวทีในการชกกับลุงตามกติกามาซึ่งยังมองไม่เห็นสิ่งที่ธนาธรปลุกคนมาลงถนนว่ามีเหตุผลและความชอบธรรมพอที่จะไล่ลุง
เขียนถึงตรงนี้คงไม่มีใครมาว่าผมเป็นพวกเชียร์ลุง เพราะผมเห็นความไม่ชอบธรรมของลุงตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ธนาธรต่างกับผมเพราะลงไปแข่งกับเขาในกติกาที่เขาร่างขึ้น แต่วันนี้กลับปลุกระดมมวลชนออกมาไล่เขา เพราะตัวเองกำลังกระทำผิดต่อกฎหมายเพราะความพลาดพลั้งสะเพร่าของตัวเอง
เหตุผลในการไล่ลุงลงจากอำนาจนั้นมีอยู่ถ้ามองจากกลไกที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ข้ออ้างของธนาธรนั้นพูดได้เลยว่าเป็นเรื่องของขี้แพ้ชวนตี เหมือนเด็กเล่นกับเพื่อนแล้วแพ้แล้ววิ่งไปฟ้องพ่อแม่
ดังนั้นจึงมองไม่เห็นความชอบธรรมอะไรของHow to ทิ้ง(ลุง)ที่ธนาธรพรรคพวกกำลังปลุกคนมาลงถนนในตอนนี้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan