xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งของคนสองรุ่น และเค้าลางของโศกนาฏกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”


การต่อสู้ทางความคิดของคนสองรุ่นนั้นส่อเค้ารางของความรุนแรงขึ้นแล้วในปีที่ผ่านมา คนรุ่นหนึ่งต้องการที่จะรักษาสถาบันหลักในรูปแบบที่ต้องการให้เกิดความมั่นคง กระทั่งถอยกลับไปสู่จารีตเก่าๆ ที่รื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อสร้างสัญญลักษณ์ให้สังคมยึดมั่น เป็นสภาวะการสวิงกลับไปสู่อดีต

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตใหม่ ต้องการถอนรากถอนโคนจารีตเก่าๆ ที่เป็นรากฐานของสังคมไทย และหลงไหลกับคะแนนเสียงที่เป็นความนิยมเทียม เพราะเกิดการยุบพรรคและทำให้ผลลัพธ์ผันแปร จนคิดว่า ตัวเองกำลังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่วัยเดียวกัน และคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบของสังคม ด้วยแรงเหวี่ยงไปสู่อนาคต

ในขณะที่กฎของนิวตัน ระบุว่า เมื่อวัตถุหนึ่งออกแรงกระทำต่อวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง วัตถุที่ถูกกระทำจะออกแรงกระทำกลับในขนาดที่เท่ากัน

ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ การมองเห็นเค้ารางของความรุนแรงที่มองอยู่ข้างหน้า จนกระทั่งหลายคนห่วงว่า ความรุนแรงแบบ 6 ตุลาคม 2519 จะหวนกลับมาอีกครั้ง

มองฝั่งคนรุ่นใหม่ที่กำลังฮึกเหิมและเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง

ความต้องการของแกนนำอนาคตใหม่ในการสร้างพรรคแล้วหลงมวลชนที่เกิดจากการยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กระแสของพรรคกำลังมาแรง ลงเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 3 ถึง 80 กว่าคน แสดงว่า ข้อเรียกร้องของพรรคกำลังกลายเป็นที่ต้องการของสังคม

ทั้งที่จริงๆ แล้ว หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า ถ้าฝั่งเพื่อไทยไม่ผิดพลาดในการตั้งพรรคไทยรักษาชาติที่คาดหวังใหญ่เกินไป กระทั่งถูกน็อคแบบอมสเปโตอยู่ในมือ โอกาสของพรรคอนาคตใหม่อย่างดีที่สุดก็น่าจะมี ส.ส.สัก 20-30 คนเท่านั้นเอง

และธนาธรก็หลงว่า การที่ตัวเองมีสถานะเป็นคู่ชิงนายกรัฐมนตรี กระทั่งถึงวันนี้ลูกพรรคก็ยังตอกย้ำสถานะนี้ แต่จริงๆ ถามว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยหลีกไม่ส่งแคนดิเดตของพรรคเข้ามาชิงนายกรัฐมนตรีกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำตอบก็คือ เขารู้ว่า ถึงส่งก็ไม่มีวันชนะก็เลยเปิดโอกาสให้ธนาธรได้ฟีลจนฝันค้างมาจนถึงวันนี้

แต่การต่อสู้กับอำนาจรัฐเดิมแบบต้องการพลิกโครงสร้างเปลี่ยนแปลงระบอบที่ซ่อนอยู่ภายใต้เบื้องหลังของแกนนำพรรคผ่านการแสดงออกในอดีต ท่าทีท้าทายโครงสร้างเดิมของสังคมไทยนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะโครงสร้างเก่าก็ต้องปกป้องตัวเอง และตอบโต้การกระทำกลับในอัตราความแรงที่เท่ากัน

ความน่ารังเกียจของคนรุ่นใหม่ที่คิดฝันจะสร้างการเมืองตามอุดมคติของตัวเองก็คือ การเอาความผิดพลาดของตัวเองมาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน โดยโทษว่า อำนาจเก่ากลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่บาดแผลบนตัวเองนั้นมาจากการผิดพลาดหกล้มเพราะความซุกซนของตัวเองทั้งนั้น

เมื่อมีช่องโหว่งให้ฝ่ายอำนาจรัฐเล่นงานจากความผิดพลาดของตัวเอง แทนที่จะยอมรับผลที่ตามมากลับใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้มวลชนออกมาปกป้องตัวเอง บิดเบือนเป็นว่า กำลังถูกความอยุติธรรมรังแก ทั้งที่มันเดินไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือในการปกครองรัฐเท่านั้น โดยหลักที่ว่าทุกคนต้องมีความเท่าเทียมตามกฎหมายไม่มีใครที่มีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้นสื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปแล้ว และคดีอาญากำลังตามมาซึ่งถ้าผลการไต่สวนพิสูจน์ในศาลฎีกาคดีอาญานักการเมืองได้ว่านี่เป็นธุรกรรมอำพรางไม่เพียงแต่ธนาธรเท่านั้น ผลการกระทำเป็นขบวนการนี้จะส่งผลกระทบไปยังแม่และภรรยาด้วย

หรือเรื่องการให้พรรคกู้เงินซึ่งถ้าเข้าใจหลักกฎหมายมหาชนแล้วก็เข้าใจทันทีว่า ไม่สามารถทำได้ ไม่อย่างนั้นกฎหมายจะเขียนที่มาของรายได้ไว้ทำไม เพราะกฎหมายมีหลักการในการควบคุมที่มาของเงินและรายจ่ายที่จ่ายออกไป ถ้าการกู้เงินทำได้ก็อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายห้ามเกินวงเงินอยู่ดี ซึ่งสะท้อนว่าเป็นความผิดพลาดของพรรคเอง แม้จะมีอาจารย์นักกฎหมายมหาชนอยู่ในพรรค แต่ก็พิสูจน์ว่ามีความเก่งอยู่ในห้องบรรยายเท่านั้นเอง

ผมคิดนะครับว่า คนในพรรคนั้นรู้แล้วว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดพลาด ถ้าไม่ถาม ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ลองถาม ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคดูว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิดไหม ผมคิดว่าสิ่งที่ตอบว่าไม่รู้ทำได้อย่างเดียวคือต้องโกหกลื่นไหลไปเท่านั้นเอง

แต่ความพยายามเอาความผิดพลาดของตัวเองมาปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ลงถนน ทั้งที่ตัวเองลงไปต่อสู้ในระบบแล้วผิดพลาด เป็นการเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ แต่ถ้าเราดูภูมิหลังของธนาธรก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขาเคยปิดบริษัทเพื่อล้มสหภาพแรงงาน เขาเคยปิดบริษัทเพราะคนงานเรียกร้องผลตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นเขาไม่สนใจหรอกว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติจะเป็นอย่างไร เพราะเขาคิดว่านี่เป็นหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบโครงสร้างและค่านิยมของสังคมไทยไปตามความคิดฝันของเขา

มองฝ่ายอำนาจรัฐที่กำลังเชื่อมั่นและฮึกเหิมไม่แพ้กัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาสืบทอดอำนาจได้เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาให้ได้เปรียบฝั่งตรงข้าม แม้จะอ้างว่านี่มาจากประชามติของประชาชนก็ตาม รัฐธรรมนูญให้ส.ว.ยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับส.ส. แต่การที่คสช.เป็นฝ่ายตั้งส.ว.เองกับมือแล้วหัวหน้าคสช.มาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีเสียเองก็เป็นภาพของผลประโยชน์ทับซ้อนและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ว่านี่คือความไม่ยุติธรรมของการแข่งขัน

เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมา ให้ตรงตามข้อเสนอของ คสช. นั้นอาจจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าสุดท้ายแล้วฝ่าย คสช. ไม่ลงมาแข่งขันในกติกาที่ตัวเองกำหนดขึ้น การนับคะแนนด้วยสูตรคำนวณที่พิลึกพิลั่นขาดหลักการทางสมการคณิตศาสตร์ของนักกฎหมายฝ่ายที่รับใช้อำนาจรัฐ จนกระทั่งเหมือนกับการให้รางวัลพรรคการเมืองเล็กๆเพื่อกวาดต้อนเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

แม้จะอ้างได้ว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามาจากการกติกาที่เอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม ถ้าเราไปบอกต่างชาติว่า รัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้จึงจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเพราะมี ส.ว. 250 เสียงที่ตัวเองตั้งขึ้นมาเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เขาก็คงขำขันและคงไม่มีใครบอกว่านี่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้วยิ่งการวางแผนให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 สมัย ก็เท่ากับสามารถสืบทอดอำนาจได้ 8 ปี ก็ยิ่งยากที่จะออกจากความเป็นระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย

เงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามที่จะปลุกปั่นให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถ้าไม่ได้รับการตอบสนองก็มีความชอบธรรมที่เขาจะมาต่อสู้นอกระบบด้วยการนำมวลชนลงถนนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกติกาที่ยุติธรรม

ถ้าเรามองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะส่งไม่ครบทุกเขต ประมาณ 250 เขต แต่เราก็เห็นว่า เขียนกติกาขึ้นมาอย่างไรเขาก็เป็นพรรคอันดับ 1 ถ้าไม่มีส.ว. พรรคเพื่อไทยก็อาจจะฟอร์มรัฐบาลได้สำเร็จ

สิ่งสะท้อนที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ 5 ปีที่อยู่ในอำนาจนั้น คสช. ไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนได้ แม้ว่าจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายตรงข้ามของ คสช. ก็คือระบอบทักษิณก็ตาม นอกจากเอาชนะไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราเห็นก็คือ สุดท้ายรัฐบาลก็เดินตามรอยที่ระบอบทักษิณทำไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมที่พล.อ.ประยุทธ์เคยหมิ่นแคลน แล้วก็ลงมือทำเสียเอง เพราะต้องการเอาใจประชาชนที่จะสนับสนุนตัวเองให้สืบทอดอำนาจได้เมื่อลงเลือกตั้ง

แล้วยังกวาดต้อนเอาคนของระบอบทักษิณเข้ามาเป็นฐานรองรับตัวเอง เพียงเพื่อเป้าหมายในผลการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ความคิด และพฤติกรรมในอดีต ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการตั้งพรรคการเมือง แต่ต้องการเพียงชัยชนะอย่างเดียว และไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบการตั้งฉายารัฐบาลของสื่อมวลชน แต่ก็สะท้อนภาพชัดของรัฐบาลเชียงกง และอิเหนาเมาหมัดว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

และข้อสำคัญที่สุดที่ถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคมก็คือ ความอยุติธรรมหรือความยุติธรรมสองมาตรฐานที่เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน และถามว่าสิ่งเหล่านั้นมีเค้าของความเป็นจริงไหม ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่จริง อย่างน้อยก็เห็นว่า ต้นน้ำของความยุติธรรมนั้น ยังอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายกุมอำนาจรัฐเสียมากกว่า

คนของฝ่ายรัฐกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนในปปช. การที่ฝั่งตรงข้ามเข้ามาสยบยอมแล้วหลุดรอดจากคดีความด้วยเงื่อนไขประหลาด หรือฝ่ายนี้กระทำอะไรก็ไม่ผิดนั้น กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝั่งใช้เป็นเงื่อนไขที่สะท้อนความอยุติธรรมว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆไม่ใช่การกล่าวหาเลื่อนลอย

ความแตกต่างของระบอบประยุทธ์นั้นก็ไม่ต่างกับระบอบทักษิณที่ประชาชนเคยลุกมาขับไล่ เพราะยึดกุมอำนาจตั้งในสภาบนและองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเองเอาไว้เสียหมด กลายเป็นเงื่อนไขที่สามารถเรียกประชาชนลงมาชุมนุมบนถนนไม่ต่างกัน แม้สังคมจะเบื่อหน่ายความขัดแย้งที่ฝังลึกในประเทศมากว่าหนึ่งทศวรรษก็ตาม ก็ดูจะหนีไม่พ้นเค้าลางของรุนแรงที่ยิ่งกว่า

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชอบธรรมหรือไม่ แต่ต่างฝ่ายก็สะสมความขัดแย้ง อุดมการณ์ความคิดที่ต่างกันสุดขั้วกำลังหักล้างห้ำหั่นกัน ไม่ใช่การต่อสู้ในระบบ เพราะกติกาไม่เท่าเทียมกัน แต่จะมาต่อสู้กันบนถนนที่ย้อนกลับไปสู่ความรุนแรงแบบ 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง

ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่ความเสียหายและโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะหวนกลับมาอีกไหมนี่คือสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังวิตก

แต่ถ้าถามว่ามีทางออกไหม ถ้าฝ่ายกุมอำนาจรัฐจะทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม ก็ต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความยุติธรรมในการแข่งขัน ที่มาขององค์กรอิสระที่มีความอิสระที่แท้จริง และให้กระบวนการยุติธรรมถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ถามว่า เราเห็นเค้ารางของสิ่งเหล่านี้ไหม ตอบได้ว่าถึงวันนี้ยังมองไม่เห็น

ดังนั้นจึงมองเห็นอนาคตข้างหน้ามันง่ายมากที่ความรุนแรงจะก่อตัวขึ้น แม้เชื่อมั่นว่าฝ่ายตัวเองมีกำลังที่เหนือกว่า แต่ผลลัพธ์ก็คือการสูญเสียย่อยยับไม่ว่าฝ่ายไหนแพ้ชนะก็ตาม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น