xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณแห่งสันติธรรมยังไม่ปรากฎ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในรอบปีที่ผ่านมา การเมืองเชิงโครงสร้างยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม กลุ่มที่เรียกว่ารัฐเบื้องลึกยังคงควบคุมอำนาจ ผลประโยชน์และกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคมอย่างเหนียวแน่น ความขัดแย้งแบบแบ่งขั้วก็ยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้นในสังคม ขณะที่สัญญาณแห่งสันติธรรมยังไม่ปรากฎให้เห็นแต่อย่างใด

สังคมไทยถูกกำกับบงการด้วยกลุ่ม “รัฐเบื้องลึก” อันประกอบด้วยกลุ่มอำนาจทหาร ข้าราชการระดับสูงที่มีความคิดแบบอำนาจนิยมดั้งเดิม ชนชั้นนำจารีต และกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ กลุ่มเหล่านี้กระชับความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา มีการสถาปนากรอบคิด “ประชารัฐ” ขึ้นมาเป็นจุดยืนทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ กำหนดนโยบายเพื่อควบคุมการจัดสรรอำนาจ และผลประโยชน์ในสังคม

ในการกระชับอำนาจ นอกจากเพิ่มความเข้มข้นของอำนาจรัฐราชการส่วนกลาง พร้อมกับลดอำนาจของท้องถิ่นและประชาชนแล้ว ยังนำกลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดผนึกรวมเข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจการตัดสินที่สำคัญของรัฐ ทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจำนวนมาก ขณะที่กีดกันภาคส่วนอื่นของสังคมออกไป การทำเช่นนี้ส่งผลให้โครงอำนาจของสังคมเสียสมดุลอย่างรุนแรง สิ่งที่ตามมาคือความมั่งคั่งของกลุ่มทุนผูกขาดและข้าราชการระดับสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความยากจนของคนจำนวนมากในสังคมที่ต้องอาศัยเศษเงินที่กลุ่มนี้โยนให้เดือนละไม่กี่ร้อยบาทเพื่อประทังชีวิต

ประชารัฐจึงหาใช่การเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐของประชาชนสามัญทั่วไปแต่อย่างใด หากแต่เป็นประชาชนกลุ่มพิเศษเฉพาะบางกลุ่มที่กอปรด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือเท่านั้น ที่ได้รับอภิสิทธิ์เข้าไปใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง ส่วนโครงการประชารัฐทั้งหลายถูกใช้เป็นกลไกปกปิดซ่อนเร้นความเหลื่อมล้ำและความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจน

สำหรับความขัดแย้งทางสังคมแบบแบ่งขั้วที่ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อยาวนานร่วมสองทศวรรษในสังคม มิได้หายไปแต่อย่างใด แต่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่แตกต่างจากเดิม ความขัดแย้งระหว่างประชาชนเสื้อสีต่าง ๆ เจือจางลงไป ความเข้าอกเข้าใจของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันมีมากขึ้น โดยเฉพาะแกนนำหลายคนของทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่ถูกเคยอำนาจรัฐจองจำในคุก ขณะที่มวลชนแม้มีความหมางใจจากเหตุการณ์ในอดีตหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่เข้มข้นแบบเดิม

แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสื้อสีลดลง แต่ก็มีความขัดแย้งรูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม “อนุรักษ์จารีตอำนาจนิยม” กับกลุ่ม “เสรีนิยมประชาธิปไตยใหม่” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์จารีตอำนาจนิยมประกอบด้วยชนชั้นนำจารีตดั้งเดิมบางกลุ่ม อดีต คสช. แกนนำ กปปส. และสื่อมวลชนบางค่าย สำหรับมวลชนที่สนับสนุนกลุ่มนี้อย่างแข็งขันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นแม่บ้าน เป็นผู้ร่ำรวยรายได้สูง และเป็นคนรายได้ต่ำ ส่วนผู้มีรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ไม่นิยมชมชอบกลุ่มนี้แต่อย่างใด

กลุ่มอนุรักษ์จารีตอำนาจนิยมควบคุมอำนาจรัฐ มีเป้าหมายหลักเพื่อดำรงรักษาความเป็นระเบียบและลำดับชั้นทางสังคมแบบเดิมเอาไว้ มีความอดกลั้นต่ำต่อความแตกต่างจากบรรทัดฐานที่ตนเองยึดถือ และพร้อมที่จะใช้อำนาจรัฐและการตีความกฎหมายเพื่อจัดการฝ่ายต่อต้านในทุกโอกาส รวมทั้งใช้สื่อในกำกับวิจารณ์โจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง คล้ายกับการกระทำของหนังสือพิมพ์ดาวสยามและวิทยุยานเกราะในอดีต ที่สร้างตราบาปและทิ้งรอยแผลเป็นให้กับสังคมจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งกว่านั้นบางคนบางกลุ่มของฝ่ายนี้ได้สร้างกระแส “ลัทธิชังชาติ” ขึ้นมา เพื่อตีตราและทำลายกลุ่มคนที่มีความคิดต่างจากพวกเขา อันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างและขยายความเกลียดชังในจิตใจของประชาชน ทำให้รอยปริแยกของสังคมขยายกว้างยิ่งขึ้น ทั้งยังมีความคิดและการขับเคลื่อนที่จะออกกฎหมายต่อต้านลัทธิชังชาติขึ้นมา หากพวกเขาทำสำเร็จภาพที่เราจะเห็นในอนาคตก็คือ “สังคมแห่งความกลัว” จะปรากฎขึ้นอีกครั้ง และอาจมีประชาชนจำนวนมากถูกจับ จำคุก ทำร้าย หรือสังหารเพียงเพราะพวกเขาถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกชังชาติ

คู่ขัดแย้งของฝ่ายอนุรักษ์จารีตอำนาจนิยมคือฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยใหม่ แกนนำของกลุ่มนี้เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เคยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษา อดีตนักวิชาการ และนักธุรกิจรุ่นใหม่ พวกเขาจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาแข่งขันในการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเข้ามาเป็นพรรคลำดับสามซึ่งเหนือความคาดหมายของคนจำนวนมาก มวลชนที่สนับกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว ทำงานบริษัท และเป็นชนชั้นกลาง สำหรับสื่อมวลชนที่สนับสนุนกลุ่มก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนและเข้มข้นดังสื่อที่สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม

กลุ่มนี้มองว่าการเมืองไทยยังคงมีลักษณะเป็นเผด็จการจำแลง เพราะรัฐธรรมนูญมิได้มาจากประชาชนและมีเนื้อหาเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคสช. พวกเขาปรารถนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจโดยขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มีการนำค่านิยมใหม่ที่ท้าทายค่านิยมกระแสหลัก และยังเสนอนโยบายใหม่หลายประการที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มอำนาจเดิม พวกเขาจึงถูกมองจากกลุ่มอำนาจนิยมว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่คุกคามและอันตรายความมั่นคง

เริ่มแรกพวกเขาใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรในการต่อสู้ ซึ่งทำได้ดีจนทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นไม่น้อย เพราะส.ส.รุ่นใหม่หลายคนได้อภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยเนื้อหาสาระที่หนักแน่นแตกต่างจากส.ส.เก่าที่เน้นการใช้โวหารวาทศิลป์เป็นหลัก แต่ด้วยความปรารถนาที่จะสร้างกระบวนการทางการเมืองให้โปร่งใส การมีจุดยืนทางการเมืองที่ก้าวหน้า การวิพากษ์กลุ่มอำนาจเดิมด้วยภาษาที่รุนแรงนอกสภาของแกนนำบางคน และความไม่รอบคอบในการกระทำบางเรื่องของแกนนำ ทำให้กลายเป็นประเด็นที่เปิดช่องทางให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอาศัยกฎหมายและองค์กรในกำกับเล่นงานอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้แกนนำต้องตัดสิทธิ์การเลือกตั้งและพรรคถูกยุบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพลังของกลุ่มนี้ถูกบั่นทอนลงไปไม่น้อย

การถูกปิดกั้นบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรและเวทีทางการเมืองที่เป็นทางการ อาจส่งผลให้กลุ่มนี้ต้องปรับยุทธศาสตร์และขยายกิจกรรมทางการเมืองในสนามสาธารณะมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้การชุมนุมเป็นวิธีการในการต่อสู้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากสถานการณ์ดำเนินไปในลักษณะนี้ การต่อสู้ทางการเมืองก็จะเข้มข้นและร้อนแรงขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองตามมา

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ระหว่างพลังทั้งสองกลุ่มยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ได้ว่า ฝ่ายอำนาจรัฐปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติต่อคู่แข่ง ยังคงใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นต่อคู่แข่งและใช้อย่างเบาบางต่อฝ่ายตนเอง และไม่มีสัญญาณใดเช่นกันที่ทำให้ประชาชนมีความหวังต่อการดำรงชีวิตขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อเพลิงที่เติมไฟให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อเงื่อนไขยังไม่ถูกขจัด สัญญาณแห่งสันติธรรมจึงยังไม่ปรากฎ ความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งแบบแตกหักก็มีความเป็นไปได้สูง หากปะทุขึ้นมาจริง ก็อาจขยายวงไปทั่วทุกปริมณฑลของสังคม ส่งผลให้สายใยสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมไทยแตกสลายขาดสะบั้นได้ ด้วยเหตุนี้สถานการณ์หลังความขัดแย้ง เราอาจเห็นรูปลักษณ์ของสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น