การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร บริเวณแยกปทุมวัน ค่ำวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นการนับถอยหลังของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะม็อบเกิดการลุกฮือขึ้นทั่วประเทศในลักษณะดาวกระจาย จนไม่อาจควบคุมหรือสลายได้แล้ว
การสลายการชุมนุมของคณะราษฎรค่ำวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่รุนแรงเหมือนการสลายม็อบต่อต้านรัฐบาลในอดีต แต่ปฏิกิริยาโจมตีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หนักหน่วงรุนแรง และขยายวงไปทั่วโลก
เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล แม้จะจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 แต่รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ ถูกออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะ
การกลับมาเป็นผู้นำประเทศของพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สง่างาม ขณะที่กระแสความไม่พอใจผู้นำคนนี้ คุกรุ่นทั้งนานาชาติและในประเทศ
ศรัทธาของประชาชนสูญสิ้น คะแนนนิยมตกวูบ เพราะตลอด 6 ปี พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีผลงานใด ดีแต่พูดถึงปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ของประเทศแม้แต่เรื่องเดียว
คำประกาศยืนยันจะไม่ลาออก และตั้งคำถามกับสังคมว่า “ผมทำอะไรผิด” นั้น ทำให้เกิดคำถามกลับว่า ตลอด 6 ปีที่บริหารประเทศ พล.อ.ยังไม่รู้ตัวหรือว่า ทำอะไรผิด ไม่รู้หรือว่า ประเทศกำลังคืบคลานเข้าสู่หายนะ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
การใช้ความรุนแรงปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การลุกฮือของประชาชนทั้งประเทศที่เดินขบวนขับไล่เผด็จการยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค
กำลังตำรวจทหารพร้อมอาวุธครบมือ ถูกส่งเข้าสลายการชุมนุม มีการกราดยิงนักศึกษา ประชาชนบนถนนราชดำเนิน จนเสียชีวิตจำนวนมาก
หลังจากนั้นอีก 3 ปี เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ 6 ตุลาฯ ทมิฬ โดยมีการปลุกระดมมวลชน สร้างความเกลียดชังนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม และใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มนักศึกษา อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์อย่างโหดเหี้ยม
เดือนพฤษภาคม 2535 เกิดการลุกฮือของประชาชนอีกครั้ง เพื่อขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อต่อต้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาที่มีอานุภาพทำลายล้างร้ายแรง จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายและบาดเจ็บนับพันราย
ปี 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะถูกสลายโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงมากนัก จนกระทั่งการชุมนุมในเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2553 กลุ่มเสื้อแดงถูกสลายด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรหรือคนเสื้อเหลือง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
การใช้ความรุนแรงสลายม็อบเกิดขึ้นอีกในยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่ม กปปส.นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลมหาประชาชนชุมนุมขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ในปลายปี 2536 และถูกปราบด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ
มีการบงการคนลอบยิง ลอบปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.จนมีเด็กไร้เดียงสาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต้องสังเวยความอำมหิตหลายชีวิต
จำนวนประชาชนที่ลุกฮือขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ มีมากมายมหาศาลกว่าม็อบคณะราษฎรหลายสิบเท่า โดยประมาณการว่า การนัดชุมนุมใหญ่มวลมหาประชาชน กปปส.วันที่ 19 ธันวาคม 2556 มีมวลชนร่วมชุมนุมกว่า 5 ล้านคน สร้างประวัติศาสตร์ของผู้เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลมากที่สุดในโลก
แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ยืนกรานไม่ยอมลาออกลูกเดียว
การใช้ความรุนแรงสลายม็อบคณะราษฎร เทียบไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงปราบปรามในอดีต เพราะผู้นำที่หวงอำนาจล้วนมีความอำมหิต ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
ไม่สนใจชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ใครจะเป็นจะตายช่างหัว ขอให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่นางสาวยิ่งลักษณ์
ไม่ว่ากลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเด็กนักเรียน นักศึกษา ถ้าชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ควรถูกเข่นฆ่า ไม่ควรถูกใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมไม่ว่าในรูปแบบใด
กลุ่มคณะราษฎร กลุ่มเยาวชนปลดแอก จึงต้องประณามผู้นำประเทศทุกคนที่ใช้ความรุนแรงสลายม็อบ โดยไม่ละเว้นใคร ไม่ว่ารัฐบาลนายสมชาย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์หรือนางสาวยิ่งลักษณ์
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์สมควรแล้วสำหรับคำประณามที่ดังก้องไปทั่วทั้งโลก สมควรแล้วที่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศลุกฮือกันขึ้นมาขับไล่
เวลาของพล.อ.ประยุทธ์เหลือน้อยแล้ว และคงไม่มีวันนี้ ถ้าปีที่ผ่านมา ไม่เสียเวลากับการคุยโม้ จนไม่ได้ลงมือแก้ปัญหาอะไร
ประเทศต้องสูญเปล่ากว่า 6 ปีแล้ว จากผู้นำอย่างพล.อ.ประยุทธ์