xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คณะ(เรี่ย)ราด เรี่ยราดทุกคณะ เลอะเทอะตั้งแต่ “ม็อบ” ยัน “รัฐบาล”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ม้วนเดียวจบ” กลายเป็น “ม้วนเดียว (โดน) จับ” ไปซะได้

สำหรับ “ม็อบเบิ้มๆ” ของ “คณะราษฎร 2563” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่โฆษณาฉายหนังตัวอย่างไว้อย่างยิ่งใหญ่ว่าจะปักหลักค้างคืนกันยาวๆ ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ตั้งหมุดหมาย “อยู่กันจนกว่าประยุทธ์จะลาออก”

แม้ “ม็อบ 3 นิ้ว” จะสามารถยาตราทัพมาอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จตามที่ประกาศไว้ แต่ก็ประกาศชัยชนะกันได้ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น

เพราะต้องเจอ “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ที่ไม่ได้ออกมาจากฝั่งม็อบ แต่เป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เปิดเกมเร็ว ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร “ช่วงรุ่งสาง” ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 04.00 น.

เนื้อหาไม่เวิ้นเว้อมากมาย “โดยที่ปรากฏว่า มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน

มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ขบวนเสด็จขณะผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม
อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
กรณีนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกฯจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร”

ก่อนที่จะส่งกำลังตำรวจ-ทหาร เข้า “ขอคืนพื้นที่” และจับกุมแกนนำไปได้หลายราย พร้อมส่งผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ใกล้เคียงทำเนียบรัฐบาลไปได้อย่างหมดจด

อย่างไรก็ดี “ม็อบไต่เพดาน” ก็ยังหาทางลงไม่เจอ ออกมาประกาศรวมตัวกันใหม่ เรียกมวลชนชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563

ขณะเดียวกันฝ่ายความมั่นคงก็ประกาศห้ามให้มีการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเด็ดขาด

ดังนั้น ที่ต้องจับตาดูกันต่อไปก็คือ “คณะราษฎร” กับ “รัฐบาล 3 ลุง” ใครจะ “เรี่ยราด” มากกว่ากัน

  “ม็อบมุ้งมิ้ง” vs “รัฐบาลนุ่มนิ่ม”
ย้อนกลับไป การชุมนุมของ “คณะราษฎร” ในวันที่ 14 ตุลาคมนั้น มีการประกาศโหมโรงกันมาตั้งแต่หลังการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายนแล้ว

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ฝ่ายม็อบจะพยายามจุดประเด็นโหมโรงอย่างหนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า กระแสดูจะสร่างซาไม่คึกคักเหมือนการชุมนุมที่ผ่านๆ มา ด้วยมีความไม่ชัดเจนในบางประเด็นของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่แบ่งแยกกันเป็น 2 แนวทาง

หนึ่งคือ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่แรกๆ มุ่งไปที่การหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุติอำนาจสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และให้รัฐบาลลาออก

อีกหนึ่งคือ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จุดพลุ “10 ข้อเรียกร้อง” อันเกี่ยวเนื่องกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ออกมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

ตลอดจนการปรากฏตัวของ “หญิงอ้อ”คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา ทักษิณ ชินวัตร นายกฯหลบหนีคดี ที่ทำเอา “แนวร่วมม็อบ” โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” ที่บูชา “ทักษิณ” มีอันต้องชะงักไปเช่นกัน

คนที่ได้เห็นต่างแสดงออกว่า “รับไม่ได้” กับพฤติกรรมจาบจ้วงดังกล่าวของผู้ชุมนุม เพราะมันเกินขอบเขตของกฎหมาย ไม่ต่างอะไรกับการเหยียบหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อแนวร่วมเริ่มไม่เป็นเอกภาพ แกนนำม็อบที่เคยตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์กันเอง ก็จำใจมารวมตัวกันในนาม “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ก่อนถึงนัดหมายการชุมนุมราว 1 สัปดาห์

ถือเป็นการปรับโหมดจาก “ม็อบมุ้งมิ้ง” เป็น “ม็อบมุ่งล้มฯ” อย่างเต็มตัว

การปะทะกันเบาๆ ของมวลชนสองฝ่ายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุม “ไผ่ ดาวดิน” หลังเจรจาเพื่อขอคืนพื้นผิวจราจรเพื่อใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไม่สำเร็จเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563

คณะราษฎร 2563 ชุมนุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
และยังได้ “ตัวเรียกแขก” อย่าง “ฝ่ายความมั่นคง” ที่ลั่นออกมาว่า ม็อบคงมาไม่ถึงหมื่น หรือบรรดา “เซเลบริตี้นกหวีด” ที่สบช่องที่คนไทยรับไม่ได้กับพฤติกรรม “ลามปาม-ไม่รู้จักที่สูง” ของแกนนำและผู้ชุมนุมที่ผ่านมา ประกาศรวมพลมาอยู่ในพื้นที่ใกล้กับที่ชุมนุมของ “คณะราษฎร”

ทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ - วรงค์ เดชกิจวิกรม - เหรียญทอง แน่นหนา - อดีตพระพุทธอิสระ เติมด้วย “เซเลบริตี้พลังประชารัฐ” ทั้ง สิระ เจนจาคะ - ปารีณา ไกรคุปต์ ที่แต่ละรายเป็นที่ชิงชังของอีกฝ่าย

อันทำให้เกิดบรรยากาศ “ม็อบชนม็อบ” ทำให้ฝ่ายคณะราษฎรด้นสดเรียกคนมาสมทบได้อีกมาก

ทั้งที่เดิมแนวร่วมกลุ่มนี้จะไม่มีจำนวนมากเลย เพราะแรงกระตุ้นในการเข้าร่วมจะน้อยกว่า เพราะธรรมชาติของม็อบ การออกมาไล่จะมีแรงกระตุ้นมากกว่าการออกมาปกป้อง แต่หนนี้คณะราษฎรได้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เงียบสงัดมานานลุกฮือขึ้นมา

ในขณะที่ “คนสวมเสื้อเหลือง” ที่ “ก๊วนสุเทพ” ระดมมา สุดท้ายก็มิได้เป็นประโยชน์ หรือสามารถปกป้องสถาบันได้อย่างที่ควรจะเป็น

แต่ก็เป็นการทำให้ “ม็อบคณะราษฎร” กลายเป็น “คณะเรี่ยราด” ทันที กับภาพ “พฤติกรรมจาบจ้วง” ต่อ “ขบวนรถพระที่นั่ง” ในวันนั้น ที่ทำให้คนไทยที่พบเห็นนอกจากความโกรธเกรี้ยวผู้ชุมนุมวัยกระเตาะแล้ว ยังทำให้รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเป็นเท่าทวี

และเป็น อานนท์ นำภา แกนนำคนสำคัญ ที่ออกมา “แก้เกี้ยว” โหวกเหวกว่าถูก “วางยา” ที่ขบวนเสด็จฯ ผ่านผู้ชุมนุมอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถควบคุมมวลชนได้

แต่ถ้าย้อนไปก่อนวันชุมนุม เป็น “อานนท์” เองแหละที่ “ปลุกระดม” ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวเอง ทั้งที่ควรรู้ว่า “อะไรควรไม่ควร”

ทั้งที่รุ่นพี่ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ชี้ทางสว่างให้แล้วว่าย้อนไปเมื่อการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารเมื่อปี 2535 ก็มีขบวนเสด็จฯผ่านใกล้พื้นที่ชุมนุม มวลชนต่างแซ่ซ้อง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง

แตกต่างจากครั้งนี้ที่อ้างตัวว่าเป็น “ม็อบการเมือง” กลับแสดงพฤติกรรมที่ “มิบังควร” คล้ายกับสารภาพกลางแจ้งว่าเป็น “ม็อบล้มล้างสถาบันฯ” หรือไม่ ต้องพินิจพิจารณาดู

มิพักต้องพูดถึง “ความบกพร่อง” ของฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายความมั่นคง ที่เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “แอมมี่ เดอะ บอตทอมบูลส์” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะมีการเคลียร์พื้นที่รับขบวนเสด็จฯ ได้ก็จริง

แต่ภาพการจับกุมอุ้มตัว “ไผ่ และคณะ” ไปนั้นก็ถือเป็นความผิดพลาด สร้างเป็นประเด็นให้แก่ฝ่ายม็อบได้อีก

ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรเองก็ดูเหมือนจะตั้งใจยั่วยุให้สถานการณ์บานปลาย เพราะรู้ทั้งรู้ว่า วันที่ 13 ตุลาคมคือวันสำคัญยิ่งในหัวใจของคนรักสถาบัน แต่ก็ยังปฏิบัติการท้าทายอย่างไม่ยี่หระด้วยต้องการยั่วยุให้เกิดการปะทะหรือจับกุมแกนนำเพื่อเรียกม็อบ

เพราะฉะนั้นจงอย่าแปลกใจว่า ม็อบเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หรือในวันจริง 14 ตุลาคมก็ดูเหมือนจะมี “กลิ่นตุๆ” กันตั้งแต่ช่วงบ่ายว่า มีสภาวะของความไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ม็อบ “คณะราษฎร” ตะลุยฝ่าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังหน้าทำเนียบรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย

ทั้งที่ย้อนกลับเมื่อวันที่ 19 กันยายน การป้องกันปราการด่านสำคัญอย่างศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน กระทำโดยแน่นหนาจนสามารถเรียกได้ว่า “โอเวอร์”

มีการวางแบริเออร์และลวดหนาวปิดตรงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และสะพานชมัยมรุเชฐ สองทางสำคัญที่จะมุ่งเข้าสู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ ในยุคของ “บิ๊กตู่” นั้น เคยประกาศเอาไว้ว่า จะไม่ยอมให้ม็อบล้อมหรือบุกเข้ามาในทำเนียบฯ เหมือนในอดีต

แต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม จุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งสะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานชมัยมรุเชฐ กลับป้องกันอย่าง “เปราะบาง” มีเพียงรถบัส และการตั้งแถวของตำรวจซึ่งไร้โล่และกระบอง

ทุกอย่างมันดูง่ายดาย ผู้ชุมนุมฝ่าวงล้อมทะลุมาถึงทำเนียบฯ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ถอยร่นลูกเดียว

ทั้งการเคลื่อนขบวนของ “ม็อบ 3 นิ้ว” เข้าขั้น “ไร้ยุทธศาสตร์” อย่างสิ้นเชิง ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยตลอด อีกทั้งหากศึกษาวิชา “ชุมนุมการเมือง 101” จากม็อบเหลือง-ม็อบแดง หรือม็อบนกหวีดในอดีต จะพบว่าการเคลื่อนมวลชนจำนวนมากขนาดนั้น ถือเป็น “ข้อห้าม” อย่างเด็ดขาด

ถือเป็นการเคลื่อนม็อบที่ดูจะ “อ่อนหัด” อย่างเห็นได้ชัด แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กลับเลือกที่จะปูพรมต้อนรับเพียงอย่างเดียว

น่าสนใจเหลือเกินว่า ประตูใหญ่ของทำเนียบรัฐบาล ที่ติดกับสะพานชมัยมรุเชฐ ไม่มีแบริเออร์หรือลวดหนามสักเส้นเดียว เหมือนที่สะพานผ่านฟ้า หากคืนดังกล่าวผู้ชุมนุมลุกฮือ ก็เชื่อว่าสามารถมาปักหลักอยู่พื้นที่ด้านในทำเนียบฯได้เลย

การป้องกันของเจ้าหน้าที่ “นุ่มนิ่ม” ชนิดที่ว่า ประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหงุดหงิดและโมโห ถึงขั้นไล่ให้ออกไปหากไม่สามารถกับความเกรี้ยวกราดของม็อบได้

 ใครต้องรับผิดชอบ?
ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมก็อยู่ในสภาวะฮึกเหิม ยิ่งรุกคืบได้ยิ่งคึก จนชะล่าใจถึงความง่ายดายครั้งนี้ แต่กลับคิดว่า เจ้าหน้าที่เกรงกลัว ถึงขั้นประกาศว่า จะชุมนุม 3 คืน หาก “บิ๊กตู่” ไม่ลาออก ไม่กลับ

หลังจากเจ้าหน้าที่ปล่อยฟรี ผู้ชุมนุมต่างตั้งเวทีใหญ่ 3 เวที และเวทีย่อยอีกจำนวนไม่น้อย พร้อมกับประเมินแล้วว่า เจ้าหน้าที่ไม่กล้าสลายการชุมนุมแน่ เพราะยิ่งจะเป็นการสุมไฟให้คนออกมาร่วมชุมนุมมากกว่านี้

ท่ามกลางความเงียบเชียบของเจ้าหน้าที่ในช่วงหัวค่ำ ก่อน 4 ทุ่มเริ่มมีกลิ่นบางอย่างออกมา หลังเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในเวลา 22.00 น. ซึ่งหลายคนยังคิดว่า เป็นแค่การข่มขู่เท่านั้น ทั้งที่ความจริงนั่นคือ การส่งสัญญาณครั้งที่ 1

กลิ่นเริ่มแรงออกมาเจ้าหน้าที่ทหารนำลวดหนามมาปิดทางเข้ากองทัพภาคที่ 1 จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณบ่งบอกอีกครั้ง

จากนั้นมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายอยู่รอบๆ เพื่อสแตนด์บาย มีการปิดแยกต่างๆ ที่จะมุ่งเข้าสู่สถานที่ชุมนุมข้างทำเนียบฯ ซึ่งนั่นทำให้แกนนำเริ่มรู้ว่า สัญญาณค่อนข้างชัดแล้วว่า จะมีการสลายการชุมนุม จนที่สุดตี 1 “อานนท์ นำภา” แกนนำประกาศยุติการชุมนุม เพื่อจะเริ่มขึ้นใหม่ในวันรุ่งขึ้นตอน 4 โมงเย็น ที่ราชประสงค์

แต่นั่นมันช้าไป กว่าจะรู้ว่าตัวเอง “หลงกล-หลงเหลี่ยม” เจ้าหน้าที่ ชัยชนะที่ยึดพื้นที่ทำเนียบฯ ได้เมื่อช่วงเย็นเป็นเพียงแผน “ขุดบ่อล่อปลา” เพื่อพาเข้าสู่พื้นที่ที่ง่ายต่อการจัดการม็อบมันก็สายไปแล้ว เพราะนาทีนั้นม็อบก็ถูก “ปิดประตูตีแมว” ไปเรียบร้อยแล้ว

เป็นการเฉลยเหตุการณ์ทั้งหมดตลอดช่วงเย็นว่า ภารกิจรักษาป้อมปราการสำคัญที่ยวบยาบนั้น แท้จริงแล้วมันคือ “ความตั้งใจ”

แผนการนี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้แต่ผู้ชุมนุมเอง และอยู่เหนือการประเมินและการคาดการณ์ในทฤษฎีต่างๆ ทั้งหมด

ฝ่ายความมั่นคงเลือกเอาช่วงเวลาที่คนเดินทางกลับจนผู้ชุมนุมบางตา หรือช่วงเวลาที่อ่อนแอที่สุด จัดการกับม็อบที่ไม่ฮึกเหิมเหมือนตอนเย็น

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า ฝ่ายรัฐ และฝ่ายความมั่นคงไม่ได้กังวลหรือเกรงกลัวม็อบ หากแต่พร้อมจะงัดไม้แข็งขึ้นมาฟาดตลอดเวลาที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การปล่อยให้ม็อบแสดงความห้าวอย่างเต็มพิกัดในช่วงเย็นวันนั้น ก็ถูกเฉลยอีกว่า แท้จริงแล้วมันเป็นการ “รอ” ให้ความผิดของม็อบสำเร็จ และชอบธรรมที่จะงัดไม้แข็งขึ้นมากำราบในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เป็นเหมือน “กับดัก” ที่เจ้าหน้าที่จะได้เก็บพยานหลักฐาน

การปล่อยให้ “ปลากระดี่ได้น้ำ” ของฝ่ายความมั่นคง คือ แผนลวงสู่การสลายการชุมนุมในช่วงรุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคม

ในแง่การรักษาความปลอดภัยพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นการ “โต้กลับ” แบบเยือกเย็น แต่หนักหน่วง โดยไม่มีใครรับบาดเจ็บ

อย่างไรก็ดี แม้ว่า จะยังมีการชุมนุมประปรายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในรุ่งสางวันที่ 15 ตุลาคม แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ทำให้บรรดาฮาร์ดคอร์ หรือพวกที่อยู่ใต้ดิน รู้สึกหวั่นๆ รวมไปถึงแกนนำสายสุดโต่งที่ย่อมต้องรู้สึกตัวว่า กำลังเป็น “เป้านิ่ง” หลังพรรคพวกถูกอุ้มเข้าไปขังที่เรือนจำพิเศษ

ฝ่ายความมั่นคง เริ่มสำแดงเดชให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ม็อบสามารถเหิมเกริมกำเริบ จับแล้วปล่อย จนเหมือนดื้อยา แท้จริงมันเป็นเพียงช่วง “โปรโมชั่น” เท่านั้น

แต่หลังจากนี้ “หมดโปรฯ” แล้ว

ขณะเดียวกัน ลำพังการใช้ “กฎหมายพิเศษ” เข้าไปเล่นงานม็อบ ไม่ได้ทำให้ม็อบฝ่อลง หากแต่พฤติกรรมของแกนนำม็อบและผู้ชุมนุมคือ สิ่งที่ทำให้ตัวเองเดินเข้าสู่ “ทางตัน”

โดยเฉพาะภาพที่ผู้ชุมนุม ที่ห้อมล้อม ตะโกน แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม จาบจ้วง ใส่ขบวนรถพระที่นั่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั่วประเทศ

คนที่ได้เห็นต่างแสดงออกว่า “รับไม่ได้” กับพฤติกรรมจาบจ้วงดังกล่าวของผู้ชุมนุม เพราะมันเกินขอบเขตของกฎหมาย ไม่ต่างอะไรกับการเหยียบหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ ยังไม่รวมถึงเนื้อหาการปราศรัยที่ “ดึงฟ้าต่ำ” กันสนุกปาก จนไม่สามารถออกอากาศได้อีกมากมาย

แต่คำถามมีว่า เหตุใดถึงให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อ “ขบวนเสด็จฯ” ในช่วงเย็นวันที่ 14 ตุลาคมด้วย

การลงนามในคำสั่ง “เด้ง” ให้ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.), พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) และ พล.ต.ต.ปราศัย จิตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 มาช่วยราชการศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ของ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อาจจะไม่ใช่คำตอบ

อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สามแกนนำคนสำคัญที่ถูกจับกุม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
แต่คำตอบสุดท้ายอาจอยู่ที่การพิจารณาตัวเองของ “ผบ.ปั๊ด” ที่พลาดอย่างไม่น่าให้อภัย รวมไปถึง “นายกฯตู่” ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดหรือไม่ เพราะรู้ทั้งรู้ว่า ในวันนั้นมีพระราชกรณียกิจ และประเทศอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนที่มีแนวคิดไปในทิศทางตรงกันข้าม ดังนั้นจะใช้ “ตำรวจ” เพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องใช้ “ทหาร” เข้ามาเป็นกำลังหลักเพื่อถวายความปลอดภัย 

ทำไมถึงไม่ตั้ง “กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ (กอร.ฉ.)” ตั้งแต่แรก หรือตั้งอยู่บนความประมาทต่อสถานการณ์มากเกินไป

ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมก็ชัดเจนในตัวเองชนิดไม่ต้องเป็น “อีแอบ” อีกต่อไป ด้วยเป้าหมายมิได้ต้องการ “ปฏิรูปประเทศ” อย่างที่ปากป่าวประกาศ หากแต่อยู่ที่ “สถาบัน” ดังพฤติกรรมที่แสดงออกต่อขบวนเสด็จอย่างชัดเจน

 ตัวจริงตุ๊ด ม็อบสะดุด
อย่างไรก็ตาม “แกนนำม็อบ” อาจกระหยิ่มยิ้มย่องที่สามารถทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าทำ ราวกับปลดล็อกกรอบและกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างได้ หากแต่มันกำลังพาม็อบไปสู่จุดที่ “ไปต่อไม่ได้” หรือ “จบเร็วกว่าที่คิด”

การชุมนุมครั้งต่อๆ ไป จะไม่พีคเท่านี้ จะบางตากว่านี้ เพราะหลายคนที่เห็นภาพ “กักขฬะ” ไม่รู้จักฟ้าสูง แผ่นดินต่ำ ของผู้ชุมนุม จะไม่กล้าพาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม และอยู่ในองคาพยพของม็อบอีกในครั้งต่อๆ ไป

แม้ขณะนี้จะมีการข่มขู่จากผู้ชุมนุมว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และการจับแกนนำหลายคน จะยิ่งโหมอุณหภูมิให้ม็อบแรงขึ้น แต่ไม่ว่าทางใดล้วนเข้าทาง “ฝ่ายกุมอำนาจ” ทั้งหมด

การแสดงความต่ำตมของผู้ชุมนุม ที่ไม่ต่างอะไรกับการกวักมือเรียก “สุเทพ-เหรียญทอง-วรงค์-พุทธะอิสระ” ให้ลงถนนออกมา “ม็อบชนม็อบ”

กรณีการเผชิญหน้ากันนี้เอง แม้ผู้ชุมนุมคณะราษฎรจะคิดว่า ตัวเองมีปริมาณที่มากกว่าหลายเท่า โดยวัดจากปริมาณมวลชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนั้น จะทำให้อยู่ในสภาวะ “พร้อมบวก” แต่ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งบวก ยิ่งมีการปะทะกัน จะยิ่ง “เข้าทาง” ฝ่ายความมั่นคง

ที่จะมี “ข้ออ้างคลาสสิก” คือ ประชาชนแตกแยก เสี่ยงเกิดความสูญเสีย จึงต้อง “รักษาความสงบ”

ต่อให้เอา “บิ๊กตู่” ที่ตัวเองต่อว่า เป็นเผด็จการลงจากตึกไทยคู่ฟ้าได้ แต่ก็จะได้ “เผด็จการคูณสอง” จากคณะบุคคลที่เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต่างอะไรกับ “หนีเสือปะจระเข้”

ยิ่งแรงยิ่งเข้าทาง และยิ่งพาตัวเองสู่จุดที่จะไม่สามารถขยับอะไรได้มากเท่านี้

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ เมื่อ “แกนนำเด็ก” ตัวจี๊ดทยอยถูกเจ้าหน้าที่หิ้วเข้า “มุ้งสายบัว” ตัวที่จะขึ้นมานำม็อบจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะครั้งนี้มีโอกาสที่จะ “ขังลืม” แกนนำหลักที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้อีกสักพัก จนกว่าสถานการณ์ในประเทศจะนิ่งและไว้วางใจได้

เมื่อม็อบ “ไร้หัว” แม้จะขับเคลื่อนได้ แต่ไม่มีพลัง จะขาดการบริหารจัดการ ไม่สามารถสร้างอิมแพ็กหรือกดดันได้ สุดท้ายจะทำได้แค่เพียง “แฟลชม็อบ” ที่วูบวาบแต่ฉาบฉวย

ขณะเดียวกัน เมื่อม็อบตื้อมันจะเป็นการบีบให้ “ตัวจริง” ออกมานำม็อบเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ โดยเฉพาะ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือ “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พยายามพาตัวเองไปอยู่ใน “เซฟตี้โซน” ตลอด ไม่ขึ้นเวทีปราศรัย ไม่นำม็อบ แต่เข้ามายืนแอบๆ ซ่อนๆ ในม็อบ โดยอ้างว่า มาให้กำลังใจ

ขณะเดียวกันก็สวมบท “นักเลงคีย์บอร์ด” คอยโพสต์ยุแยงให้ “ม็อบเด็ก” สู้ให้ “จบที่รุ่นเรา”

เชื่อเถอะว่า ด้วยศักยภาพของ “ธนาธร-ปิยุบตร” หากออกมาออกโรงเอง คงแตกต่างจาก “แกนนำมุ้งมิ้ง” ลิบลับ และย่อมสร้างความฮึกเหิมให้กับมวลชนได้ไม่น้อย

แต่เหมือนว่า 2 คู่หูอนาคตใหม่ จะขออยู่ในโหมด “เซียนข้างบ่อน” สอนนั่นสอนนี่เป็นกูรู แต่ไม่เปลืองตัว ปล่อยให้แกนนำเด็กติดคุกแทนไป แล้วอ้างว่า เป็นแค่กองเชียร์ให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง

จริงๆ สังเกตง่ายๆ ถ้าวันนี้คิดว่า ม็อบชนะแน่นอน “ธนาธร” ไม่อิดออด กระมิดกระเมี้ยนอยู่หลังเสา แต่หยิบหมอนหยิบมุ้งมานอนหลังเวทีแล้ว

ดังนั้น เมื่อ “ตัวจริง” ยัง “ตุ๊ด” ม็อบก็สะดุดไปต่อลำบาก.



กำลังโหลดความคิดเห็น