xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัดหงส์คอนเนกชัน 2020 The Rise of Phoenixes ไขปริศนา “พระแดง-พระแป๊ะ” บวชสำนักเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” กันเลยทีเดียวสำหรับการตัดสินใจ “บวช” ของอดีตนายทหารและอดีตนายตำรวจคนดังคือ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” อดีตผู้บัญชาการทหารบก กับ “บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ก่อนเกษียณ “บิ๊กแป๊ะ” สร้างความฮือฮาเมื่อมีการปล่อยข้อมูลในระหว่างเข้าร่วมงานประชุมใหญ่คณะกรรมการติดตามและบริหารงานตำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ กต.ตร.กทม. ประจำปี 2563 ที่ห้างสรรพสินค้า Show DC ว่าลงชิงชัยเก้าอี้ “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)” เพียงแต่ไม่ออกมาจากปาก “บิ๊กแป๊ะ” แบบชัด และต่อมาอีกไม่กี่วันเจ้าตัวก็ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เรื่องนี้จะขอรอตัดสินใจก่อน” ขณะที่ “บิ๊กแดง” หลังเกษียณได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง”

แต่ที่น่าสนใจคือ หลังเกษียณทั้งสองคนตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดย “บิ๊กแป๊ะ” บวชก่อน ที่ “วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร” เขตบางกอกใหญ่ กทม. ได้รับฉายาทางธรรมว่า “จินตชโย” แปลว่า “ผู้ชนะจิตใจ” ขณะที่ “บิ๊กแดง” บวชที่วัดเดียวกันและได้รับฉายาทางธรรมว่า “อภิรัชตโน” แปลว่า “ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง”

ทั้งนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่าทำไมสองคนถึงต้องบวช และบวชวัดหงส์รัตนารามฯ เหมือนกัน ด้วยทั้งสองคนเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 มีนัยอะไรหรือไม่อย่างไร เป็นการบวชก่อนทำ “งานใหญ่” หรือจะ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” ก็ไม่อาจทราบได้ ณ เวลานี้ 
 
สำหรับ “บิ๊กแป๊ะ” นั้น บวชเงียบๆ แบบส่วนตัวภายในครอบครัวและคนใกล้ชิด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากใครเคยอ่านหนังสือ “ในความทรงจำ In Memories”หนังสือที่ระลึกโอกาสเกษียณอายุราชการ ก็จะพบว่า “พระแป๊ะ” บันทึกเอาไว้ว่า “ผมตั้งใจอยากจะบวชสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นคงใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เดินทางท่องเที่ยวกับภรรยาและลูกๆ” โดยวัดหงส์รัตนาราม ก็เป็นวัดที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มักแวะเวียนไปทำบุญบ่อยครั้งตั้งแต่ก่อนเป็น ผบ.ตร. 
 
ส่วน “บิ๊กแดง” ก็บวชเงียบๆ เช่นกันเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดยมี “อาจารย์อ้อ-ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์” ภริยา และลูกชาย ลูกสาว พร้อมด้วย “บิ๊กแก้ว-พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” ผบ.ทหารสูงสุด “บิ๊กอุ้ย-พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน” ผู้บัญชาการทหารเรือ และ “บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมพิธี และแน่นอนว่า งานนี้ “พระแป๊ะ จินตชโย” ซึ่งบวชก่อนหน้าเข้าร่วมพิธีด้วย โดยในวันนั้นพระทั้งสองรูป “ทำวัตรเช้า” ร่วมกัน

รายงานข่าวระบุว่า “บิ๊กแดง” มีความตั้งใจที่จะบวชมานานแล้วเช่นกัน การบวชครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี และเนื่องในโอกาสครบรอบวันสวรรคต “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” 13 ต.ค.นี้ รวมทั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา และ “คุณหญิงน้อย” พ.อ.หญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ มารดาผู้ล่วงลับ โดยเป็นนาคในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งเดิม พล.อ.อภิรัชต์อยากจะบวชอย่างเงียบๆ ไม่ออกสื่อ แต่การเตรียมงานที่วัดทำให้ข่าวรั่วออกมา

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวด้วยว่า พระบิ๊กแดงตั้งใจจะบวช 15 วัน ถึง 1 เดือน และจะออกเดินสายไปธุดงค์ในวัดต่างๆ หลังจากนี้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด คงต้องอนุโมทนาสาธุกับทั้ง “พระแป๊ะและพระแดง” กับการบวชในครั้งนี้ด้วย

พระบิ๊กแดง อภิรัชตโน

พระบิ๊กแป๊ะ จินตชโย
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาก็คือ ทำไมต้องเป็นวัดหงส์รัตนารามเหมือนกัน เพราะจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ ก็คงจะได้ แต่ถ้ามองแบบตั้งคำถามก็มีประเด็นให้ต้องค้นหาคำตอบเช่นเดียวกัน

วัดหงส์รัตนารามมีประวัติความเป็นมาเช่นไร

ความน่าสนใจของ “วัดหงส์รัตนาราม” อยู่ตรงที่เป็นวัดที่มีความเกี่ยวพันกับ  “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตั้งอยู่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เดิมชื่อ  “วัดเจ้าขรัวหง” เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเศรษฐีชาวจีนชื่อ นายหง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ได้กำหนดเขตพระราชฐานขึ้น วัดหงส์รัตนารามจึงเป็นวัดที่ติดกับพระบรมราชวัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชศรัทธาขยายพระอารามให้ใหญ่โตขึ้น ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ศาลาการเปรียญ และกุฏิเสนาสนะทั้งวัด และทรงยกย่องให้เป็นพระอารามหลวงสำคัญ พร้อมถวายสร้อยนามวัดอย่างเป็นทางการว่า  “วัดหงส์อาวาสวิหาร” 

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดที่จะเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังทรงใช้พระอารามแห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกวิชามวยและกระบี่กระบองให้แก่เหล่าขุนศึกอีกด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงชักชวนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์วัดหงส์รัตนาราม เนื่องจากอยู่ใกล้พระราชวังของพระองค์ ซึ่งก็คือพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีก็สิ้นพระชนม์ก่อน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ แต่ยังไม่บริบูรณ์นักก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนแล้วเสร็จสวยงาม และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดหงส์รัตนาราม” 

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปทองโบราณ ทอดพระเนตรเห็นพระวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก จึงมีพระราชดำรัสแก่พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาส ว่า

“พระวิหารนี้ ถ้ามีผู้มีจิตศรัทธาจะสร้างใหม่ ต้องสร้างให้เหมือนแบบเดิมทุกกระเบียด ตลอดจนลวดลายตามสมัยแบบเดิมทั้งสิ้น เพื่อรักษาแบบเดิม ดำรงไว้ซึ่งแบบโบราณสมัยของวัดหงส์รัตนารามนี้ มีอายุนับเป็นร้อยปี ใกล้พระราชนิเวศน์โดยแท้จริง”

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม และได้ทรงยกช่อฟ้าพระวิหารหลังนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาข้าราชการทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนมักมาทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตที่วัดหงส์รัตนาราอยู่บ่อยครั้ง อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมกระทั่งถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ด้วย

สำหรับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัดหงส์รัตนาราม ประกอบด้วย พระอุโบสถขนาดใหญ่ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระแสน พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 25.5 นิ้ว ทำจากสำริด

สระน้ำศักดิ์สิทธิ์

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดหงส์รัตนาราม
ตามประวัติเล่าว่า พระแสนหล่อขึ้นโดยพระครูโพนเสม็ด พระภิกษุชาวล้านช้าง เดิมประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงแตง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตงเมื่อปี 2402 และพระราชทานไปยังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปประดิษฐานไว้เบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม  

ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 2.60 เมตร สูง 3.50 เมตร ไม่มีพระนามและไม่ทราบประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยใด

ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำโบราณ คือ “หลวงพ่อสุข” เดิมทีเป็นพระหุ้มปูน มีพระลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลังพระอุโบสถ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมหักพังใช้การไม่ได้ จนคนทั้งหลายเรียกว่า “วิหารร้าง” ต่อมาเกิดความบังเอิญคือรอยกะเทาะของปูนหุ้มที่พระอุระหลุดออกเห็นเนื้อในเป็นทองสีสุกงาม และเรียกกันว่า “หลวงพ่อทองคำวัดหงส์” 

ด้านปีกซ้ายของวัด มี  “สระน้ำมนต์” ขนาดใหญ่ ตามตำนานกล่าวว่าพระที่วัดได้รับหินอาคมมาจากพระเถระวัดประดู่ทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อเดินทางมาถึงวัดได้นำก้อนหินอาคมออกมาจากย่ามแล้วโยนก้อนหินดังกล่าวลงไปในสระน้ำที่วัดกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่

กล่าวกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดที่จะสรงน้ำในสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดหงส์รัตนารามทุกครั้งเวลาที่มีพระราชพิธีสำคัญและก่อนที่พระองค์จะทรงเสด็จออกรบ ทุกวันนี้ทางวัดได้ก่อสร้างตกแต่งบริเวณสระน้ำมนต์ โดยเชื่อกันว่าน้ำมนต์จากทิศตะวันออก ดีทางเมตตามหานิยม ทิศใต้ ดีทางมหาลาภ ทิศเหนือ ดีทางบำบัดทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ และทิศตะวันตก ดีทางแคล้วคลาด

ขณะที่ในสมัยก่อนประชาชนจะพากันมาอาบน้ำในสระอยู่เสมอๆ ด้วยเชื่อในเรื่องความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งเสาร์ห้าด้วยแล้ว ผู้คนหนาแน่นมาก ต้องรอกันเป็นชั่วโมงจึงจะได้อาบกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ที่วัดหงส์รัตนารามยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช” ซึ่งตามตำนานและคำบอกเล่าสืบต่อกันมาศาลแห่งนี้ คือ ศาลพระเจ้าตากแห่งแรกในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่เคารพสักการะ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับศาลแห่งนี้ว่า หลังมีการประหารชีวิตพระเจ้าตาก บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็มีหลวงจีนเดินนำขบวนพระบรมศพผ่านวัดหงส์ โดยมีอีกคนหนึ่งถือพานรองพระโลหิต ขณะเดียวกัน เขาหันกลับไปมองยังโบสถ์วัดหงส์ ก็เห็นพระเจ้าตากยืนกอดอก ไม่มีพระเศียร ทำให้ตกใจจนทำพานรองพระโลหิตหล่นจากมือ จากนั้นจึงมีการนำดินที่มีพระโลหิตพระเจ้าตากมาปั้นรูปพระองค์แล้วตั้งศาลพระเจ้าตาก ณ ตำแหน่งดังกล่าว โดยสร้างเป็นศาลไม้ 

และในเวลาต่อมาที่ศาลแห่งนี้ก็มักมีผู้มากราบไหว้และขอพรสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่เสมอๆ

ทั้งนี้ “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า “ข้อมูลจากพระคุณเจ้าหลวงพ่อที่ดูแลศาลว่า ผลไม้ 9 อย่าง หรือ 5 อย่าง แล้วแต่จะจัดมาถวายพระองค์นั้นมีห้ามถวาย ละมุด และพุทรา หลวงพ่อยังเล่าเรื่องการได้สิ่งที่ต้องการแต่ลืมมาถวายแก้บนพระองค์ท่าน มีนายทหารบกมาขอติดยศสองดาว เมื่อได้แล้วลืมมาแก้บน ท่านเลยให้ป่วยต้องนอนบนเตียงนานเกือบ 6 เดือน ท่านไปบอกเมียว่า ผัวมึงไม่เป็นไรมาก นิมิตให้เมียรู้ว่าขอดาวให้ดาวแต่ไม่มาบอกท่าน เมียก็เลยพาผัวมากราบท่าน ขามาเมียขับรถให้ผัวนั่ง ผัวยังใช้ไม้ค้ำช่วยเดิน ก็มีธูป 9 ดอก ประทัด 500 นัด ไข่ 300 ฟอง ผลไม้ 9 อย่าง ยังไม่ได้เอาเครื่องไหว้ลงเลย ขากลับผัวขับรถกลับแทนเมียได้เลย”

ดังนั้น หลังจากการบวชของ “หลวงพี่แป๊ะ” และตามต่อด้วย “หลวงพี่แดง” ทำให้เรื่องราวของ “วัดหงส์รัตนาราม” เป็นที่สนใจของประชาชน พร้อมทั้งเป็นที่จับตาด้วยว่า หลังการลาสิกขาของทั้งคน เส้นทางชีวิตของ  “2 ศิษย์สำนักวัดหงส์รัตนาราม” หรือ “วัดหงส์คอนเนกชัน 2020” จะดำเนินไปอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กแป๊ะ” ซึ่งกำลังถูกจับตาในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ “บิ๊กแดง” รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อไปอย่างไร

แต่ที่แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้งก็คือ ทั้งสองคนน่าจะมีเส้นทางชีวิตในอนาคตกาลเบื้องหน้า ที่ “ไม่ธรรมดา” อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น