ข่าวปนคน คนปนข่าว
**“บิ๊กแดง” เตรียมบวชที่วัดหงส์รัตนาราม วัดเดียวกับ “บิ๊กแป๊ะ” เพื่อถวาย “ในหลวง-พระราชินี” และถวาย “ร.๙”เนื่องในวันสวรรคต 13 ต.ค.นี้
มีความเคลื่อนไหวชีวิตหลังเกษียณของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง และ อดีต ผบ.ทบ. โดยเฟซบุ๊ก “wassana nanuam” โพสต์ว่า “บิ๊กแดง” เตรียมที่จะอุปสมบท ที่วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นวัดเดียวกับ “พระจินตชโย” หรือ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. เพิ่อนรัก ตท.20 ที่บวชจำวัดอยู่ในขณะนี้
ฟังว่า “บิ๊กแดง” มีความตั้งใจที่จะบวชมานานแล้ว ซึ่งการบวชครั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินี และเนื่องในโอกาสครบรอบวันสวรรคต “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” 13 ต.ค.นี้ รวมทั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา และ “คุณหญิงน้อย” พันเอกหญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ มารดาผู้ล่วงลับ โดยจะเป็นนาคในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งเดิม พล.อ.อภิรัชต์ อยากจะบวชอย่างเงียบๆ ไม่ออกสื่อ แต่การเตรียมงานที่วัด ทำให้ข่าวรั่วออกมา
ก็ต้องขออนุโมทนาบุญมา ณ ที่นี้ด้วย..สาธุ
** ยื้อทุกเม็ด !! แก้ รธน.ส่อว่าจะถูกลากยาวออกไปอีกขยัก เมื่อเจอปัญหาข้อกฎหมาย ต้องทำประชามติก่อนหรือหลังโหวต วาระ 1 ถ้าต้องทำประชามติก่อนอาจถึงขั้น “ปิดสวิตช์” พักการแก้ รธน. “ลุงตู่” อยู่ยาว!!
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ที่สภาพิจารณากันเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา และคาดกันว่า จะมีการโหวตวาระ 1 หรือวาระรับหลักการกันในวันนั้น แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็เสนอให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ” ขอเวลา 30 วัน ในการศึกษาปัญหาที่ยังเห็นไม่ตรงกัน รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ ให้รอบคอบ ก่อนไปโหวตในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเปิดสภาในวันที่ 1 พ.ย.
เกมนี้ทำเอาฝ่ายค้านถึงกับ “บอยคอต” ไม่ส่งคนเข้าไปร่วมใน กมธ.ชุดนี้ เพราะเห็นว่าเป็นแผนยื้อเวลา...รัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ รธน. “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาส่งสัญญาณดังๆ ไปยัง ส.ส.รัฐบาล และให้ไปเข้าหู ส.ว. ด้วยว่า รัฐบาลสนับสนุนให้แก้ รธน. มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยหนุนทั้งญัตติของรัฐบาล และของฝ่ายค้าน
ทำให้เกิดความคาดหวังว่า เมื่อเปิดสภา ก็จะมีการโหวตวาระ 1 “เปิดสวิตช์” แก้ รธน.กันได้เสียที แม้จะช้าไป 1-2 เดือนก็ต้องทำใจ !!
แต่ล่าสุด ความหวังที่ว่านั้นอาจจะยังไม่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาที่คาดหมายไว้ก็ได้ เมื่อคณะอนุ กมธ. ได้ไปศึกษาข้อกฎหมายแล้วเกิดข้อสังสัย ถกเถียงกันแล้วก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ 5 ประการ ต้องส่งให้ กมธ.ชุดใหญ่พิจารณาตัดสิน คือ ...
1. ร่าง รธน.แก้ไข มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน และรัฐบาล ขัดกับ รธน.และคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ 18-22/2555 หรือไม่...ข้อนี้ ถ้า กมธ.ตัดสินว่าไม่ขัด รธน. ก็เดินหน้าต่อได้ แต่ถ้า กมธ.เกิดไม่แน่ใจ ก็ต้องส่งศาล รธน.ตีความ ซึ่งต้องใช้เวลา ...
2. การทำจัดทำร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่ และต้องออกเสียงประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ต้องมี กม.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รธน. ก่อนหรือไม่ ใช้กฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่... ปัญหาว่าด้วยเรื่อง “ลงประชามติ” นี้ จากเดิมที่เข้าใจกันว่า แก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.นั้น เมื่อสภาผ่านวาระ 3 แล้วต้องไปทำประชามติก่อนตั้ง ส.ส.ร. เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าเนื่องจาก รธน.60 ผ่านการทำประชามติมา หากจะแก้ต้องทำประชามติก่อนแก้หรือไม่ หมายถึงก่อนที่จะโหวตวาระ 1 ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ... ปัญหานี้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา นักกฎหมายระดับอาจารย์ ยังบอกว่า “ลำบากใจในการตอบ” และกำลังพยายามศึกษาอยู่เหมือนกัน ว่าควรจะเป็นอย่างไร
ถ้า กมธ.ตัดสินว่าต้องทำประชามติก่อนโหวต ก็ยาว!! ... เพราะชัดเจนว่า กฎหมายประชามติฉบับเดิมใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายประกอบ รธน. ปี 50 เมื่อ รธน.ถูกยกเลิก กฎหมายประชามติก็จบไปด้วย ต้องรอฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จึงจะประกาศใช้ได้
3. ร่างแก้ไข รธน. เป็นรายมาตราของฝ่ายค้าน ขัดกับร่างแก้ไข รธน. ของฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่... ปัญหานี้ “นายชวน หลีกภัย” เห็นว่าไม่ขัด เพราะเป็นการแก้ไขคนละประเด็นกัน แต่ถ้า กมธ.เห็นต่าง คงต้องยื่นตีความ
4. ส.ส. สามารถลงลายมือชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รธน. มากกว่าหนึ่งญัตติได้หรือไม่... ปัญหานี้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.พลังประชารัฐ เคยคัดค้านมาแล้วว่าเป็นการลงชื่อซ้ำซ้อน ทำไม่ได้ ...แต่ “นายชวน หลีกภัย” วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา เป็นคนละประเด็นกับแก้ มาตรา 256 ส.ส.คนเดียวลงชื่อได้หลายญัตติ จึงได้รับการบรรจุเข้าสภา ...แต่ถ้า กมธ.เห็นต่างก็คงต้องไปจบที่ศาล รธน.เช่นกัน
5. หากมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ตามร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม และรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไข รธน. ทาง ส.ส.ร. สามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่ อย่างไร ... ข้อนี้ตามร่างแก้ไข รธน.ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอไว้ ว่าเมื่อ ส.ส.ร. ร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จ ให้นำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าผ่านก็ไม่ต้องไปทำประชามติ แต่ถ้าไม่ผ่านจึงค่อยไปทำประชามติ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
จะเห็นได้ว่าปัญหาแต่ละข้อ ที่กมธ.ต้องตัดสินนั้น มีโอกาสต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ...“โดยเฉพาะข้อ 2” ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ...หาก กมธ.เห็นว่าต้องทำประชามติก่อนโหวต วาระ 1 การ “เปิดสวิตช์” เพื่อแก้ รธน.ก็ยังคงต้องเลื่อนยาว... ถ้าผลประชามติออกมาว่าไม่ให้แก้ ก็ “ปิดสวิตช์” ฉับทันที !!
แนวทาง “ปิดสวิตช์” จากการทำประชามติ ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ...ในเมื่อรัฐบาลกุมอำนาจรัฐอยู่ สามารถ “จัดตั้ง” โน้มน้าวประชาชนให้เห็นคล้อยตามได้ เพราะมีข้ออ้างมากมาย ทั้งเรื่องไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นหมื่นล้าน ทั้งที่รัฐบาลยังต้องกู้ โควิด-19 ก็ยังไม่รู้จะระบาดซ้ำอีกเมื่อไร สู้นำเงินไปอัดฉีดแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า การบริหารบ้านเมืองต่อเนื่อง ไม่สะดุด ...
ขณะที่ปัญหาแรงกดดันนอกสภาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก็เริ่มไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ รธน.อย่างจริงจัง แต่ไปเน้นหนักในเรื่อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” มากกว่า และสัญญาณการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เริ่มขึ้นแล้ว ปีหน้าทั้งปี พรรคการเมืองก็คงต้องวุ่นอยู่กับการจัดวางคน หาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ความสนใจในการแก้ไขรธน.ก็คงต้องลดลงเป็นการชั่วคราว
กว่าจะปลุกกระแสแก้ รธน.ครั้งใหม่ แม้จะเริ่มได้แต่กว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น รัฐบาลก็คงอยู่ครบวาระ เลือกตั้งใหม่ก็ยังใช้รธน.ฉบับเดิม...แนวทางนี้ “ลุงตู่” อยู่ยาว!!