ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศึกชิงเค้กก้อนใหญ่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้านบาท ทวีความร้อนแรงขึ้นตามลำดับ เมื่อจู่ๆ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็มารื้อเกณฑ์ประมูลใหม่หลังปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว ทำให้กลุ่ม BTSC ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการคัดเลือกออกไปก่อน ขณะที่คำถามจากสังคมเริ่มดังขึ้น รฟท.แหกกฎเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่? สายโบรกฯ วิเคราะห์หากศาลไม่ออกคำสั่งคุ้มครอง คาด BEM มีโอกาสกินหวานๆ
ถือเป็นเรื่องใหญ่ในโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ เมื่อการประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ทำท่าจะไปได้สวยตามไทม์ไลน์ อาจสะดุดและลุ้นระทึกกันว่าจะต้องหยุดชั่วคราวหรือเดินหน้าประมูลต่อได้หรือไม่ โดยต้องรอฟังคำสั่งศาลปกครอง ที่นัดไต่สวนคดีในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตามที่บริษัทเอกชนผู้เข้าร่วมประมูล คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ฟ้องคดีคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ รฟม. เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทาง รฟท. ก็ตั้งโต๊ะชี้แจงสู้ได้แน่และยืนยันวางใจได้ “ไม่มีค่าโง่” แน่นอน
วุ่นๆ กันจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อแบบขุ่นๆ ว่า “ถ้ามีปัญหาก็เอาหลักฐานและข้อมูลที่มีไปชี้แจงแล้วกัน เพราะสั่งอะไรไม่ได้” และว่าถ้าชี้แจงได้ก็จบ ถ้ามีการรับผลประโยชน์ก็แจ้งมา และต้องดูผลประโยชน์ของประชาชนด้วย ความขุ่นของท่านผู้นำทำให้บิ๊ก รฟม. ก้นร้อนต้องออกมาชี้แจงต่อสังคมเป็นการใหญ่
ไล่เรียงให้เห็นภาพรวมกันก่อน ย้อนไปเมื่อต้นปี 28 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท วงเงินรวมงานอาณัติสัญญาณ 1.42 แสนล้านบาท โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี
จากนั้น รฟม. ก็วางไทม์ไลน์ เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ (Request for Proposal : RFP) ในวันที่ 15 มีนาคม 2563 แล้วสรุปความคิดเห็นเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบ RFP ภายในเดือนเมษายน 2563 กำหนดประกาศเชิญชวนและขายเอกสาร RFP ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จากนั้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณาข้อเสนอและเจรจากับผู้ชนะประมูลเพื่อเสนอครม.อนุมัติให้ลงนามสัญญาร่วมทุนภายในเดือนพฤศจิกายน 2563
หมายถึงว่า เมื่อปิดขายซองประกวดราคาแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนตามเงื่อนไข RFP ที่กำหนดไว้ตามกระบวนการ แต่ทว่าเอาเข้าจริงเรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กลับมีมติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน หรือ RFP เสียใหม่
นั่นคือ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าขั้นตอนแรกจะพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลว่าผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็เข้าสู่ขั้นที่สอง เปิดซองความสามารถด้านเทคนิค ถ้าคะแนนเทคนิคผ่าน จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม เปิดซองราคา เพื่อดูว่าใครให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดก็ชนะประมูลไป ก็กลายเป็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ คือ พิจารณาซองเทคนิคและซองราคาโดยเปิดซองพร้อมกันเลยทีเดียว จุดชนวนให้ BTSC ร้องต่อศาลปกครอง และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินสายร้องเรียนเรื่องความไม่ปกตินี้ต่อหลายหน่วยงานทั้งทำเนียบรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฯลฯ
นายใหญ่ของบีทีเอสซี นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากเดิมจะตัดสินผู้ชนะประมูลจากข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทน 100% แต่เปลี่ยนมาเป็นการนำคะแนนเทคนิคมาเป็นตัดสินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและตอบแทนในสัดส่วน 30:70 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของทีโออาร์ ทำให้บีทีเอสซีไม่ได้รับความเป็นธรรม
บีทีเอสซี มีคำถามว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่นี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจทำได้หรือไม่ ต้องเสนอเรื่องเข้าครม.พิจารณาอีกครั้งหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่เสนอครม.ก่อนหน้าระบุชัดว่าจะใช้ข้อเสนอด้านการเงินเป็นตัวตัดสินผู้ชนะประมูล และการเปลี่ยนเงื่อนไขเมื่อปิดการขายซองข้อเสนอนั้นทำได้หรือไม่ บีทีเอสซี จึงร้องต่อศาลปกครอง ขอให้กลับมาใช้เกณฑ์เดิม เพื่อความโปร่งใส และขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราวคือชะลอการประมูลออกไปก่อนจนกว่าศาลจะตัดสิน
ตามข้อกังวลของบีทีเอสซี หากมีการพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคเข้ามารวมด้วยกับข้อเสนอด้านราคานั้น อยู่ตรงที่มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องมีประสบการณ์ในการทำอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร และมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท อีกยังมีหมายเหตุในทีโออาร์ด้วยว่า หากเป็นผู้รับเหมาไทย และมีประสบการณ์ด้านนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งทางบีทีเอสซีไม่มีประสบการณ์ที่ทำงานอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เวลานี้ในไทยมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ทำได้ คือ อิตาเลี่ยนไทย และ ช.การช่าง
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ารวมซองเทคนิคและราคามาพิจารณารวมกันทีเดียว บีทีเอสซี หวั่นว่ามีสิทธิ์หลุด? แต่ไม่ว่าอย่างไร เงื่อนไขจะเปลี่ยน ไม่เปลี่ยน ศาลฯ จะสั่งคุ้มครอง หรือไม่คุ้มครอง บีทีเอสซี ก็จะเข้าสู่ลู่ประมูลต่อไป คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ยื่นข้อเสนอการประมูลโดยเบื้องต้นอาจเข้าร่วมในนามกลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTSC, บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต้องรอฟังกลุ่มพันธมิตรธุรกิจอีกครั้ง
ทางด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา มีการตั้งข้อสังเกตในท่วงทำนองเดียวกัน คือ การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญหลังปิดขายซองไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่รวมเอาซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน ซึ่งเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มากกว่าแบบเดิมที่ผ่านซองเทคนิคก่อนเปิดซองราคา เป็นช่องที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงทีอาร์โอยังขัดต่อมติครม. ขัดต่อพ.ร.บ.การร่วมทุนฯ หากผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ หน่วยงานใดจะต้องรับผิดชอบทั้งทางวินัย อาญา และทางปกครอง
ทั้งฟ้องต่อศาล ทั้งสังคมตั้งคำถามกันเซ็งแซ่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ออกมาชี้แจงแถลงไขว่าพร้อมตอบศาลทุกประเด็นที่ถูกฟ้องร้อง และเชื่อว่าจะชนะคดี แถมยังจะฟ้องกลับเอกชนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ รฟม.เสียหาย ส่วนสาเหตุที่ต้องมากำหนดรวมข้อเสนอเทคนิคและการเงินเข้าด้วยกันในภายหลัง เพื่อไม่ให้เอกชนได้ทราบถึงข้อกำหนดเกณฑ์ต่างๆ หรือข้อสอบไม่รั่วไหล ขณะที่คณะกรรมการฯ จะไม่เห็นข้อเสนอของรายใดรายหนึ่งระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา และแม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจาณาแต่มีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนด้านต่างๆ มาร่วมพิจารณา
ผู้ว่าการ รฟม. ยังยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้เคยดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับจากการที่จะได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคนิค การดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ได้พิจารณาและคำนึงถึงมติครม. และพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว
“โครงการยังไม่ได้เปิดยื่นข้อเสนอ อยู่ในช่วงเตรียมให้เอกชนมายื่นข้อเสนอ และไม่ได้ปรับแก้หลังรับข้อเสนอแล้ว จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น อีกทั้งให้เวลาในการทำข้อเสนอถึง 70 วัน มีเวลาเพิ่ม ไม่น่าจะเกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบหรือเอื้อต่อใครและเอกชนสามารถหาซับคอนแทรคทั้งในไทยและต่างชาติที่มีประสบการณ์งานด้านอุโมงค์มาดำเนินการได้ เพราะในทีโออาร์ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มาซื้อซองเท่านั้น และไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประสบการณ์อุโมงค์ก่อสร้างลอดแม่น้ำเจ้าพระยา” นายภคพงศ์ แจกแจง และยืนยันว่าไม่มีการเสีย “ค่าโง่” เกิดขึ้นแน่นอน
นายภคพงศ์ ยังแถลงว่า สำหรับเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค 30% เช่น เทคนิคการก่อสร้าง การบริการจัดการจราจรช่วงก่อสร้าง ผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่โดยรอบ เพราะแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว และเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ตลอดเส้นทาง อีกทั้งจะดูการบริการการเดินรถที่ออกแบบด้วย ส่วนด้านการเงิน 70% จะดูเรื่องวงเงินที่เสนอให้รัฐสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท โดยรัฐชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากเริ่มก่อสร้าง 2 ปี ผลตอบแทนที่ให้รัฐจากผลการศึกษาที่ออกมาใน 30 ปี รฟม.จะได้ผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท และจะใช้เกณฑ์การพิจารณาประมูลของสายสีส้มสำหรับพิจารณาการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ต่อไปด้วย
นายภคพงศ์ กล่าวย้ำว่า รฟม.จะเดินหน้าประมูลตามปกติ โดยเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะเปิดซองหนึ่งข้อเสนอด้านคุณสมบัติ คาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะทราบผลว่าเอกชนรายใดเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดซองสอง ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองสาม ข้อเสนอด้านการเงิน โดยจะเปิดพร้อมกันทั้งสองซอง จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน คาดว่าต้นปี 2564 จะประกาศผลผู้ชนะประมูล แต่หากศาลตัดสินให้ระงับการคัดเลือกไว้ก่อนกรอบเวลาก็ต้องเลื่อนออกไป
ถึงแม้ว่าบิ๊ก รฟม.จะยืนยันถึงความโปร่งใส แต่ในมุมมองของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งสาธารณะ ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Samart Ratchapolsitte ในหัวข้อ “เสียงค้าน!” จาก กก. “ไม่เอาเกณฑ์ใหม่” ประมูลสายสีส้ม” ซึ่งเป็นลูกระนาดที่ไล่มาหลังจาก ดร.สามารถ โพสต์บทความเรื่อง “เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ใครได้ประโยชน์?” ไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563
ข้อสังเกตของดร.สามารถ ในบทความเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลฯ สรุปความได้ว่า ตามปกติ รฟม.คัดเลือกเอกชนในโครงการลงทุนรถไฟฟ้า โดยพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านค่อยดูผลตอบแทนแก่รัฐใครให้สูงสุดก็ชนะประมูล ซึ่งสายสีส้มเดิมก็ใช้เกณฑ์นี้ โดยกำหนดเกณฑ์สอบผ่านด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 85% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการคัดเลือกผู้รับเหมาสายสีน้ำเงิน ช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำหนดเกณฑ์สอบผ่านเทคนิคเพียง 70% เท่านั้น แต่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก็สามารถก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จสมบูรณ์ได้ผลดี และเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ดังนั้น สายสีส้ม ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์เดิมก็ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่แล้ว
แต่หลังจากปิดการขายซองประกวดราคาแล้ว รฟม.เปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่ กล่าวคือ พิจารณาความสามารถด้านเทคนิคและด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐพร้อมๆ กัน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลก็ได้ ส่งผลให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
หลัง ดร.สามารถ โพสเผยแพร่บทความดังกล่าวออกไป มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางรายที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และมีความเห็นคัดค้านตามที่ ดร.สามารถ เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวคือ ที่ผ่านมา รฟม.ซึ่งเปิดคัดเลือกเอกชนมาลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่เคยนำความสามารถด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนของรัฐ มีแต่พิจารณาแยกจากกัน หากสอบผ่านเทคนิคแล้วค่อยเปิดซองราคาที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐ ใครเสนอมากสุดก็ชนะ ทำให้ รฟม.ได้ผู้ประมูลที่มีความสามารถทางเทคนิคสูงและให้ผลตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด ทำให้ดำเนินโครงการประสบความสำเร็จมาทุกโครงการ
กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หาก รฟม.เห็นว่าผู้ชนะต้องมีความสามารถทางเทคนิคสูงก็สามารถตั้งเกณฑ์การสอบผ่านไว้สูงเพิ่มขึ้นได้ แต่ที่กำหนด 85% ก็ถือว่าสูงมากแล้ว เมื่อผ่านเทคนิคที่กำหนดไว้สูงแล้ว ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะประมูลที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐมากที่สุดได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคและผลตอบแทนแก่รัฐพร้อมๆ กัน
แม้แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง แต่ รฟท.ก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถด้านเทคนิครวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ ดังเช่นที่ รฟม.กำลังทำอยู่ในขณะนี้
คำถามคือ แล้วทำไมกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าจะต้องเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล? มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมฯ นอกจากจะมีคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่นเข้าร่วม และน่าสังเกตว่าตัวแทน รฟม.และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม.พยายามชี้แจงโน้มน้าวให้กรรมการเห็นว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจะทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด
“....แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม. ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์งานประมูลมาอย่างโชกโชนจึงไม่แนะนำให้ รฟม.ใช้เกณฑ์ประมูลใหม่นี้มาตั้งแต่ต้นตอนเปิดขายซองประกวดราคาหากเห็นว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะรักษาประโยชน์สูงสุดของภาครัฐได้จริง ทำไมจึงเพิ่งมาเปลี่ยนใจเมื่อผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งมีหนังสือเสนอความเห็นถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ....
“การทำงานใดที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้สำเร็จได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งอาจเป็นไปตาม “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ท่านศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ได้กล่าวไว้ในคดี “บอส” อันโด่งดัง” ดร.สามารถ ตั้งข้อกังขา และว่าข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นประชาชนทุกคนขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
ศึกชิงประมูลรถไฟฟ้าฯมูลค่าแสนล้านข้างต้น ย่อมมีผลต่อราคาหุ้นของเอกชนที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูล ดังที่ นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการต่อสู้กันทางคดีความระหว่าง BTSC และ รฟม. ว่า ฝ่ายวิเคราะห์พิจารณาใน 2 แนวทาง นั่นคือ
หนึ่ง ศาลออกคำสั่งคุ้มครองทำให้ต้องเลื่อนประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกออกไป จะส่งผลกดดันราคาหุ้นทั้ง BTS และ BEM ให้ “Underperform” ต่อไปจนกว่าคดีจะยุติ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าราคาหุ้น BTS จะเคลื่อนไหวในกรอบราคาต่ำกว่า 10 บาทอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ( BEM) ที่จะเคลื่อนไหวในกรอบราคาต่ำกว่า 9 บาท แนะนำนักลงทุนที่มีถือครองหุ้นต่อไป ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่ถือครองหุ้นรอความชัดเจนของคดีก่อนได้
และ สอง ศาลไม่ออกคำสั่งคุ้มครอง ฝ่ายวิเคราะห์ ให้น้ำหนักไปที่ BEM มีโอกาสชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จึงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเหมาะสมที่ 10.60 บาท และไปขายทำกำไรเมื่อประกาศผลผู้ชนะโครงการ เพื่อย้ายเม็ดเงินเข้า “ซื้อเก็งกำไร” BTS ราคาเหมาะสมที่ 13.80 บาท เพื่อรับข่าวรัฐบาลต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างไรก็ตามให้นักลงทุนรอฟังมติศาลปกครองเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกลงทุน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรฯ คาดการณ์ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสุดท้ายที่จะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1-1.5 แสนคนต่อวัน จึงทำให้การประมูลโครงการดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจ
และเพิ่มองศาเดือดในเกมการแข่งขันขึ้นตามลำดับ