เกาะติดหุ้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กันไว้ให้ดี เพราะนาทีนี้ เรียกได้ว่าน่าจับตาสุดๆ เนื่องจากมีศักยภาพเต็มร้อยในการรับงานทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งไม่เสื่อมคลาย ผลประกอบการโตชนิดแบบหยุดไม่ได้ สมทบด้วยโครงการใหม่ๆ หลั่งไหลเข้าต่อเนื่ เรียกได้ว่า เข้าสู่ยุครุ่งเรืองสุดๆ ส่วนใครยังไม่มีหุ้นติดพอร์ต จัดไปอย่าให้เสียคร้าบ
เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีสูงแม้เงื่อนไขการลงทุนอาจยิบย่อย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเบนเข็มไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ และจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้น เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพเพิ่ม และต้องไปดูว่าพื้นที่ปลูกมีได้มากน้อยเพียงใดเพราะต้องใช้พื้นที่มาก เกษตรกรจะต้องรวมตัวกัน เหล่านี้ถ้าไปถึงมือคนเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเดียวเกษตรกรไม่ได้อะไรก็คงไม่ตอบโจทย์ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อม หากแต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์
ในยุคที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น เพราะการพัฒนาประเทศต้องการอาศัยการขับเคลื่อน ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจเดินหน้า อุตสาหกรรมต่างๆ ก็ย่อมต้องเดินเครื่องผลิตและใดๆ ก็ตามย่อมต้องการไฟฟ้า ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าเองก็ต้องมองหาการลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ่าจำหน่ายสร้างรายได้ แม้ว่า บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL จะเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ดังนั้น แม้ว่าสุดท้ายนั้น GUNKUL จะให้ความสำคัญต่อการรุกด้านพลังงานด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าเสียเป็นส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก กระทั่งเรียกได้ว่า GUNKUL เป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนครบวงจรคงไม่ผิด
GUNKUL เติบโตมาตลอดนับจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2553 และเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนด้วยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ของบริษัทย่อย คือ บริษัท กันกุล เพาเวอร์เจน จำกัด ขณะนั้นเพียง 57 เมกะวัตต์ โดยวางแผนจะเปิดโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในต่างประเทศด้วย คู่กับงานด้านการผลิตและอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง ด้วยเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2556 แม้ว่า เมื่อปี 2555 GUNKUL ขายหุ้นบริษัทจี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด (GPS) จำกัด ให้ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และรับรู้กำไร 140 ล้านบาท แต่ก็ยังมุ่งประมูลงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงโครงการวางเคเบิลใต้น้ำ ตลอดจนโครงการขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และงานประมูลธุรกิจเทรดดิ้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ล้วนแสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่หลากหลายแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับพลังงาน อีกทั้งการหาแหล่งลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านด้วยงบลงทุนที่ตั้งไว้ 3-4 พันล้านบาทเมื่อปี 2555 และในปีนั้น สัดส่วนรายได้ GUNKULแม้จะมาจากธุรกิจหลักอย่าง จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าถึง 70% แต่บทบาทของรายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ก็ขยับเพิ่มขึ้นที่ 30%
นอกจาการลงทุนในปรเะเทศแล้ว การหันไปบุกพลังงานทดแทนต่างประเทศ จึงเป็นเป้าหมายของ GUNKUL เช่นกัน อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซกับดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในประเทศพม่า ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ควบคู่กับการลงทุนในประเทศ บริษัทจะลงทุนต่อเนื่องในโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 60 เมกะวัตต์ในเฟส 2 หลังจากลงทุนเฟสแรกกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และนั่นเป็นการลงทุนต่อยอด หลังจาก GUNKUL เข้าไปซื้อ WED (ห้วยบงและวายุ) ถือหุ้น 70% ซึ่ง WED จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 60 เมกะวัตต์ ก่อนจะเข้าฮุบกิจการดังกล่าว 100% ในปี 2557 ซึ่งครั้งนั้น GUNKUL ตั้งงบลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ 4 พันล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่โคราช ขนาด 60 เมกะวัตต์ และช่วงนั้นอยู่ระหว่างเจรจาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 2 ราย ขนาดรวม 100 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกัน ในธุรกิจอื่นก็ยังทำควบคู่กันไป เพราะในปี 2557 GUNKUL ได้ลงนามสัญญาเพื่อให้บริการด้านวิศวกรรม และจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงสำหรับสถานีย่อยไฟฟ้าและระบบสายส่งในระบบ 66-230 KV ให้แก่ Myanmar Electric Power Enterprise (MEPE), Ministry Of Electric Power จำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 11,362,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็น 373 ล้านบาท และรับรู้รายได้ทันทีในปี 57 และนั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่พม่ายังขยายตัวอยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากพม่าเปิดประเทศมากขึ้น จึงทำให้ต้องพัฒนาความพร้อมในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย GUNKUL จึงได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าตามไปด้วย ดังนั้น อีกหนึ่งโครงการที่ได้มาในปีนั้นคือร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ก๊าซ (Gas Engine) จำนวน 50 เมกะวัตต์กับพันธมิตรซึ่งได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลพม่า
จากการลงทุนต่อเนื่องมาก ทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ในปี 2557 GUNKUL ตั้งเป้าเติบโตกว่า 10 เท่าตัว ในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายในระยะ 5 ปี ขึ้นสู่ระดับกำลังการผลิตที่ 300 เมกะวัตต์ จากตัวเลขที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 28 เมกะวัตต์ และหากรวมกับโครงการที่มีอยู่ในมือที่จะทยอยก่อสร้างและดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2557-2560 จะทำให้กำลังการผลิตของ GUNKUL เพิ่มเป็น 130 เมกะวัตต์ และด้วยจุดแข็งของ GUNKUL จากการเป็นผู้ประกอบการที่ครบวงจรทั้งงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) และการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ทำให้คาดว่าจะยังคงได้รับงานต่อเนื่อง ทั้งโครงการในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีงานดั้งเดิมของ GUNKUL ในการขายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งในไทยและพม่าคอยหนุนกำไรเติบโตในระยะยาว
กล่าวได้ว่าในปี 2561 GUNKUL มีขุมทรัพย์ที่จะสร้างรายได้แล้วคือโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้ง 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 170 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่นถึง 2 โครงการ (Sendai, Kimitsu) ขนาด 78.5 เมกะวัตต์ ติดตั้งโดยโซลาร์ฟาร์ม เซนได (GK Sendai) เริ่มเมื่อพฤศจิกายน 2561 ส่วนโซลาร์ฟาร์ม คิมิสึ เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และรายได้ของธุรกิจก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผลจากการซื้อกิจการ FEC ทำให้บริษทสามารถเข้าร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างไม่ต้องกังวล
โดยจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มต่อเนื่อง GUNKUL ตั้งเป้าหมายการเติบโตของกำไรที่จะมาจากธุรกิจพลังงานทดแทน และตั้งเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 จากตัวเลขปลายปี 2561 ที่มีโครงการในมือ 546.1 เมกะวัตต์ เปิดเดินครื่องผลิตแล้ว 342 เมกะวัตต์ ซึ่งที่เหลือจะทยอย COD ไปถึงปี 2565 พร้อมกับขยายการลงทุนอย่างไม่หยุดยั้งและมุ่งเน้นที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศใน AEC อย่างมาเลเซีย เวียดนาม พม่า ซึ่งโครงการในต่างประเทศขณะนี้มีอยู่ 300 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี ล่าสุด GUNKUL ได้งานในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ซึ่งจะมีการลงนามสัญญาโครงการสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลค่า 4,500 ล้านบาท กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมถึงการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดจะเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2563 ส่วนความคืบหน้าการเข้าร่วมประมูลโครงการโซลาร์ กำลังการผลิต 1000 เมกะวัตต์ ในพม่า บริษัทได้แสดงความประสงค์เข้าร่วมประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากรัฐบาลพม่า จากงานที่ชนะประมูลเข้ามาใหม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) ประมาณ 8-9 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ถึงปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้ารายได้รวมทั้งปี 2563 เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะเดียวกัน การลงทุนในต่างประเทศก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเจรจาเข้าลงทุน 2-3 โครงการ คาดว่าจะสรุปข้อตกลงในการเข้าทำรายการได้ไตรมาส 4 ปี 2563 อย่างน้อย 1 โครงการ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งหมายเพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาด 30 เมกกะวัตต์ในประเทศมาเลเซียเดือนพฤศจิกายนนี้ อีกทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ในประเทศญี่ปุ่น ขนาด 75 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนามตั้งเป้าเบื้องต้นที่ 300-500 เมกะวัตต์ แต่การลงทุนนี้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ จึงประเมินไม่ได้ว่าสุดท้ายจะได้มาไซส์ขนาดไหน แต่เป้าหมาย EIRR หรือ Economic Internal Rate of Return (EIRR) ต้องไม่ต่ำกว่า 10% ระหว่างนี้ก็ยังคงเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างระบบไฟฟ้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
"เวียดนามเรามีโครงการที่จะลงทุนกว่า 100 เมกะวัตต์ และผลตอบแทนดีกว่าโครงการเดิมที่เราขายไป เพราะถ้า COD สิ้นปีนี้เราจะรับรู้รายได้ในทันทีปี 64 และไม่รบกวนการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Utsunomiya ในญี่ปุ่น 60 เมกะวัตต์ นั้นขายให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในญี่ปุ่น เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการเกือบ 3 ปี ถึงจะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ประกอบกับมีผู้เสนอเข้าลงทุนและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่บริษัทฯ จะต้องพัฒนาโครงการ และอาจมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ดังนั้น จึงขายโครงการนี้ และบริษัทจะบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนมูลค่าประมาณ 715 ล้านบาทสำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.63 " น.ส.โศภชา กล่าว
สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อยว่า มีกำไรสุทธิ 718.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 661.88 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 3,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 3004.33 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายภายในประเทศ 496.68 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.10 % รายได้จากการขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 576.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41.74% ขณะที่ปีนี้ GUNKUL ยังคงเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% โดยมีความเติบโตสูงขึ้นในทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯ กอปรกับบริษัทฯ มีมูลค่างานก่อสร้างที่ได้รับไว้แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 63 และปี 64
ล่าสุด บริษัท กันกุล อินฟินิท กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GUNKUL ทำสัญญาร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) จากจำนวน 5 แห่ง เพื่อก่อสร้างอาคารให้เช่า พร้อมติดตั้งระบบผลิตโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) สัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งงบในการก่อสร้างและเช่าที่ดินระยะยาวอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งผลตอบแทนดีกว่าการทำ Solar rooftop ขณะเดียวกัน บริษัทได้รับสิทธิในการให้บริการติดตั้ง Solar rooftop ในทุกสาขา และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นกำไรให้ Gunkul ปีละไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปี 2562 GUNKUL ได้งานโครงการติดตั้ง Solar rooftop ให้แก่กลุ่ม CP ระยะที่ 1 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.4 พันล้านบาท
ลุยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม
บริษัทปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้าทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า งานติดตั้ง-งานวางระบบ โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก รวมถึงพัฒนาระบบซื้อ-ขายไฟฟ้าผ่านระบบ "Sand Box" ร่วมกับพันธมิตรด้านการสื่อสาร และสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ คือ เอไอเอสเน็กซ์ และเอสซีบีเท็นเอ็กซ์ พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในการซื้อขายพลังงาน
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม 2 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1.การซื้อ-ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งระบบ รวมถึงผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าไว้บนแอปพลิเคชันเดียว เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้ใช้แพลตฟอร์ม และ 2.การซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบระบบปิด ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการส่งกระแสไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลม จังหวัดนครราชสีมาไปยังมหาวิทยาลัย โครงการพลังงานลม-กฟภ. และโครงการพลังงานลม-กฟผ. และจะเริ่มทดสอบระบบการส่งกระแสไฟฟ้าใน ระบบทรีโอ้ คือ จากโครงการพลังงานลม ไปยังทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร และ กฟภ. เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะพร้อมดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/2564
สำหรับปีนี้ GUNKUL ยังคงเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% โดยมีความเติบโตสูงขึ้นในทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯ กอปรกับบริษัทฯ มีมูลค่างานก่อสร้างที่ได้รับไว้แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 63 และปี 64 มีโครงการติดตั้ง Solar rooftop ให้แก่กลุ่ม CP ระยะที่ 1 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.4 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตในต้นปี 62 บริษัท กันกุล อินฟินิท กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GUNKUL ได้ร่วมพิธีเปิดเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรปราการ ขนาดพื้นที่รวม 12,870 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 324 ล้านบาทอย่างเป็นทางการ จากก่อนหน้านี้ได้เปิดเทสโก้ โลตัส สาขาบางกระดี ขนาดพื้นที่รวม 8,058 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 262 ล้านบาทไปแล้ว
ทั้ง 2 โครงการ บริษัท กันกุล อินฟินิท กรุ๊ป จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) จากจำนวน 5 แห่ง ที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารให้เช่า พร้อมติดตั้งระบบผลิตโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) สัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 20 ปี
น.ส.โศภชา กล่าวต่อว่า เพื่อรองรับเทรนด์ผู้ใช้พลังงานแห่งอนาคต บริษัทฯ จะมีการเปิดตัว Gunkul Spectrum เพื่อดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยได้มีการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้นทุนทางพลังงานที่ถูกลง ประกอบกับ GUNKUL อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 38 ปี จึงมองว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็น และเชื่อมั่นว่าพลังงานมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งในอนาคตเชื่อว่ารูปแบบอุตสาหกรรมพลังงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
"บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าพลังงานลมครึ่งปีหลังจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน ส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังของกลุ่มบริษัทฯ น่าจะเติบโตอย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มั่นใจรายได้ และกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยยังคงเป้าหมายการเติบโตปีนี้ไม่น้อยกว่า 15%" น.ส.โศภชากล่าว
ล่าสุด คือการเปิดแผนงานอย่างอลังการของ GUNKUL SPECTRUM ซึ่ง GUNKUL หวังจะเป็นตัวแทนของแหล่งพลังงานที่จับต้องได้ เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น จริงใจ และยังสามารถสื่อถึงแสง หรือพลังงานที่ส่องไปถึงชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยแสงที่ไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นสุด
ในเชิงธุรกิจ GUNKUL SPECTRUM มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป (End User) ซึ่งเป็นการทำตลาดในรูปแบบ B2C (Business-to-Consumer) หลังจากที่ได้มีการขยายขอบเขตการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เน้นการทำตลาดในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) เป็นหลัก โดยมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Product Innovation) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเจาะตลาดใหม่
“ปรัญชาของ GUNKUL SPECTRUM เกิดจากความเชื่อที่ว่า Energy is a Human Right พลังงานเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่พึงจะได้รับ GUNKUL SPECTRUM จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงด้านพลังงานไปกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มุ่งทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์แหล่งพลังงานใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงให้เกิดขึ้นในทุกตารางเมตรของประเทศอย่างแท้จริง ภายใต้วิสัยทัศน์ของ Thailand’s First Energy Trendsetter ที่ได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายขององค์กร" นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head of Energy Innovation Pioneer กรรมการบริหาร/ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ ของ GUNKUL และถือเป็นผู้บริหารเจเนอเรชันที่ 2 ของ GUNKUL กล่าวไว้
GUNKUL เด่นงานใหม่ ให้ "ซื้อ" ราคา 3.30 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBS ระบุถึง GUNKUL ว่าคงประมาณการกำไรปกติปี 2563 ที่ 2.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน แม้กำไรปกติครึ่งปีแรก 2563 จะคิดเป็น 25% ของประมาณการทั้งปี อย่างไรก็ตาม Major Earnings Contribution ของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3-4 จากการเข้าช่วง High Season ของ Solar (ในญี่ปุ่น) และ Wind Farm ในไทย
นอกจากนี้ ยังได้โครงการใหม่โซลาร์เวียดนาม (Tri Viet 1+ Bach Khoa A Chau 1) ขนาด 60 เมกะวัตต์ รับรู้รายได้เข้ามาเต็มครึ่งปีหลัง 2563 เป็นอีกปัจจัยหนุน ในขณะที่ธุรกิจรับเหมาการดำเนินการงานที่เซ็นสัญญาไปแล้วกลับมาเดินหน้าก่อสร้างได้ตามปกติ ประเมินจะทำให้ Downside ต่อประมาณการของ KTBS จำกัดราคาเป้าหมาย 3.60 บาท อิงวิธี SOTP 1.ธุรกิจ Power Producer อิง DCF (WACC 5.7% No TG) ได้มูลค่า 3.30 บาท 2.ธุรกิจ EPC อิง วิธี PER (ใช้ PER 16 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม Construction Service ย้อนหลัง 5 ปี-1 SD) ได้มูลค่า 0.30 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุถึง GUNKUL ในบทวิเคราะห์ว่า คาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2563 จะบันทึกกำไรพิเศษ 715 ล้านบาท จากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการ Utsunomiya ในญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการขาย 5,965 ล้านเยน หรือประมาณ 1,680 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น และสามารถนำเงินมาลงทุนในโครงการใหม่ในเวียดนามที่คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ ได้ทันที ฝ่ายวิเคราะห์จึงปรับประมาณการกำไรทั้งปี 2563 ของ GUNKUL ขึ้น 21% และปรับประมาณการกำไรปี 2564 ขึ้นอีก 5% พร้อมคงคำแนะนำ "ซื้อ" โดยปรับไปใช้มูลค่าเหมาะสมปี 2564 ที่ 3.30 บาท
ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มผลประกอบการของ GUNKUL หลังจากขายเงินลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นขนาด 69.83 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะมีกำไรพิเศษ 715 ล้านบาท รับรู้ในไตรมาส 3/63 ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 จะเติบโตสูงทั้งจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันคาดว่ากำลังการผลิตใหม่จากการ M&A จะมาหนุนกำไรปกติในไตรมาส 4/63 ให้กลับมาโดดเด่นได้อีกครั้ง
ขณะที่งบแกร่งกำลังผลิตใหม่หนุน ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/63 คาดมีกำลังการผลิตใหม่ในเวียดนาม ที่เพิ่งเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 1/63 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซียขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 39 MW จะเริ่ม COD เต็มไตรมาสในไตรมาส 4/63 (ถือหุ้น 70%) และจะรับรู้รายได้งานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ค่อนข้างมากในไตรมาส 4/63 ปัจจุบันมี Backlog อยู่ 8,000 ล้านบาท ดังนั้น ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อ" หุ้น GUNKUL และให้ราคาเป้าหมาย 3.26 บาท มี Upside gain 38.1% จากปัจจุบันซื้อขายด้วย PER ปี 63-64 ต่ำเพียง 13.9 เท่า และ 10.9 เท่า พร้อมผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 3.2% และ 4.1% ตามลำดับ
บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า GUNKUL แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังปีนี้จะสดใสขึ้น เพราะจะ COD โรงไฟฟ้าในเวียดนาม 60 เมกะวัตต์ โซลาร์ที่มาเลเซีย 21 Equity เมกะวัตต์ และเป็น High Season ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริษัทยังคงเป้ากำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบัน secured แล้ว 638 เมกะวัตต์ และ COD แล้ว 424 เมกะวัตต์
ส่วนธุรกิจ EPC มี Backlog ราว 8 พันล้านบาท จะรับรู้ราว 800-1,000 ล้านบาทในครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจุบันมี PE เพียง 9.8 เท่า PBV ที่ 1.7 เท่า คาด Dividend yield ที่ 5% ราคาเป้าหมาย 3.80 บาท แนะนำให้ "ซื้อลงทุน"