xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ลั่น“สายสีส้ม”ไม่มีค่าโง่-งัดเอกสารยันถูกต้อง-จ่อฟ้องกลับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - รฟม.ยัน ปรับเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้า “สายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังไม่มีผู้ได้รับความเสียหาย ชี้ “บีทีเอส” ฟ้องคุ้มครอง ไม่เรียกค่าชดเชยใดๆ มั่นใจมีหลักฐานชี้แจงได้ทุกประเด็น จ่อฟ้องแพ่งกลับ กรณีทำรัฐเสียหาย คาดต้นปี 64 สรุปผลประมูล

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า จากที่นายศรีสุวรรณจรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และล่าสุด ได้ยื่นร้องต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กรณีที่รฟม. ปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา โดยระบุว่า หากรฟม.แพ้คดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง อาจจะเสียค่าโง่และค่าชดเชย นั้น ยืนยันว่า ในการดำเนินงานของรฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 มาตรา 35,38,39 และเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการ PPP

ทั้งนี้ คดีที่ บีทีเอส เป็นผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 ก.ย.63 ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ผู้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน มติคณะกรรมการมาตรา 36 ที่เห็นชอบปรับปรุงวิธีการประเมินและขยายเวลา และ เพิกถอนเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ที่ปรับปรุงวิธีการประเมิน และคำขอท้ายฟ้องคดีหลัก ผู้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการประมูลไปก่อนจนกว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสิน

“คำร้องและคำฟ้องไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าชดเชยใดๆ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่หากรฟม.แพ้คดี จะทำให้รัฐเสียค่าโง่หรือต้องเสียค่าชดเชยแต่อย่างใด"

โดยในวันที่ 14 ต.ค.ซึ่งศาลนัดไต่สวน นั้น รฟม.พร้อมจะชี้แจงในทุกประเด็น พร้อมเอกสารอ้างอิงและข้อกฎหมายที่คณะกก.มาตรา 36 ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้รฟม.พร้อมปฎิบัติตามคำสั่งศาล หากศาลยกคำร้อง การประมูลจะเดินหน้าตามกระบวนการ พร้อมกันนี้ รฟม.อาจจะพิจารณายื่นฟ้องแพ่ง กรณีที่ทำให้รฟม.ในฐานะหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหาย แต่หาก กรณีศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง รฟม.จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

“ไม่ว่าคำสั่งศาลจะออกมาอย่างไร ทั้ง2 ฝ่ายมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งรฟม.มั่นใจว่า จะไม่ยืดเยื้อ เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องต้องเป็นผู้เสียหายจากคำสั่งทางปกครอง แต่เรื่องนี้ ผู้ฟ้องยังไม่ได้รับความเสียหาย รฟม.ไม่ได้มีการเพิกถอนสิทธิ์ประมูล ใดๆ และการขยายเวลาทำข้อเสนอ45 วัน ผู้ซื้อซองทุกรายได้สิทธิ์เหมือนกัน"

ทั้งนี้ หากยังไม่มีคำสั่งศาล หลังรับซองในวันที่ 9 พ.ย. 63 กก.มาตรา 36 จะประชุมเพื่อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การให้คะแนนทางเทคนิค จากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอคุณสมบัติ ในวันที่23 ต.ค.63 ใช้เวลาพิารณาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ยื่นซอง จากนั้นจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติและเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านการเงินพร้อมกัน คาดว่าจะสรุปผลการประมูลได้ต้นปี 2564

โดย คณะกก.มาตรา 36 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน การลงทุน กฎหมาย บริการขนส่งสาธารณะ รฟม.เชื่อมั่นในเกณฑ์การพิจารณาที่จะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด และยืนยันว่าการนำคะแนนข้อเสนอทางเทคนิค 30% รวมกับข้อเสนอการเงิน70% เนื่องจากแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่อ่อนไหว อาคารเก่า พื้นที่อนุรักษ์ จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอ จะต้องหาวิธีการและเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ดีที่สุด ต้องมีการดูแลความปลอดภัยในการเจาะใต้แม่น้ำ ส่วนการเดินรถนั้น จะต้องออกแบบระบบที่มีอุปกรณ์และมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ โดยโครงการจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยรัฐจะจ่ายคืนค่าก่อสร้างไม่เกิน 96,012 ล้านบาทในระยะเวลา 7 ปี โดยเริ่มจ่ายหลังก่อสร้างไปแล้ว 2 ปี

ผู้สื่อข่าว ถามถึงกรณีที่เคยมีเอกชน ยื่นเสนอขอให้รฟม.พิจารณาเทคนิครวมกับการเงินมาแล้ว แต่รฟม.ไม่ได้ดำเนินการแต่กลับมาปรับเกณฑ์ภายหลังที่ปิดขายซองไปแล้ว และพอดีกับที่มีเอกชนบางรายยื่นขอให้ปรับเกณฑ์พอดี ถือ เป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะบางรายหรือไม่ นายภคพงศ์กล่าวว่า การรวมคะแนนเทคนิคและการเงินนั้น มีการพิจารณามาตั้งแต่การทำ RFP แต่เนื่องจากระยะเวลาค่อนข้างเร่ง คณะกรรมการมาตรา 36 จึงมีมติRFP ไปก่อน โดยสงวนสิทธิ์การปรับ หากเป็นประโยชน์กับรัฐและประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น