xs
xsm
sm
md
lg

“บีทีเอส” สู้ไม่ถอย เดินสายร้องแก้เกณฑ์ “สีส้ม” ทำชิงเค้กแสนล้านไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บีทีเอส” เดินหน้าร้องแก้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสีส้มไม่เป็นธรรม ยื่นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นช่วยตรวจสอบ หลังจากได้ศาลขอคุ้มครองฉุกเฉินไปแล้ว ติงต้องเสนอ ครม.ก่อนแก้เงื่อนไขหรือไม่ ด้าน รฟม.เตรียมแถลงชี้แจงวันนี้ (25 ก.ย.) ยันทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) เปิดเผยว่า ได้หารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) พร้อมทั้งยื่นเอกสารเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทางบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นสาระสำคัญในร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ภายหลังจากขายเอกสารไปแล้ว

ทั้งนี้ รฟม.ดำเนินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการศึกษา และต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติ จากนั้นตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 เพื่อจัดทำร่าง TOR ซึ่งจะต้องประชาพิจารณ์ จึงจะประกาศ TOR ตัวจริง และขายซองเอกสาร โดยมีเอกชนซื้อเอกสาร 10 ราย รวมถึงบีทีเอส ทำให้ทราบว่าใครซื้อซองบ้าง แต่ปรากฏว่าหลังปิดการขายซองแล้ว คณะกรรมการมาตรา 36 ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ตัดสินที่เป็นสาระสำคัญ และการหาพันธมิตรเพิ่มทำไม่ได้แล้ว

ส่วนเงื่อนไขคัดเลือกเดิมนั้นใช้วิธีเดียวกับการประมูลแบบ PPP โครงการอื่น กำหนดยื่น 3 ซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองราคา โดยกำหนดผ่านคุณสมบัติก่อน จึงจะพิจารณาเทคนิค ซึ่งจะกำหนดคะแนนผ่าน/ไม่ผ่าน หากผ่านเทคนิคจะพิจารณาซองราคา ผู้ที่มีข้อเสนอราคาดีที่สุดจะได้รับคัดเลือก แต่เงื่อนไขใหม่ ให้นำคะแนนเทคนิคมารวมกับคะแนนราคา มีสัดส่วนเทคนิค 30 คะแนน เกณฑ์ราคา 70 คะแนน ซึ่งข้อเสนอราคานี้ยังแบ่งว่า ผู้เสนอราคาดีที่สุดได้ 60 คะแนน ส่วนอีก 10 คะแนนจะพิจารณาว่าราคาที่เสนอสมเหตุสมผลหรือไม่ จึงจะได้ 10 คะแนนนี้ ส่วนพิจารณาแบบใด ใช้ดุลยพินิจหรือไม่ ต้องถามคณะกรรมการคัดเลือก
ส่วนที่กังวลว่าเอกชนอาจจะทำงานไม่สำเร็จนั้น ไม่จริง เพราะ TOR ได้กำหนดให้บริษัทแม่ของบริษัทที่เข้าร่วมจอยต์เวนเจอร์รับสัมปทานจะต้องออกหนังสือค้ำประกัน หากบริษัทนั้นๆ ทำไม่ได้ตามสัญญาบริษัทแม่จะต้องเข้ามารับผิดชอบ ดังนั้น ที่บอกว่าจะทำอุโมงค์ไม่ได้ก็ไม่มีปัญหา และเรื่องอุโมงค์งานก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย
@ยื่นศาลขอคุ้มครองฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา บีทีเอสได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ และขอให้กลับไปใช้รูปแบบเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดไต่สวน ทั้งนี้ระหว่างที่รอคำตัดสินของศาล ขณะเดียวกัน บริษัทจะยื่นซองในวันที่ 6 พ.ย. 63 ตามที่ รฟม.กำหนดด้วย

สำหรับโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจาก ครม. โดยระบุว่า จะตัดสินโดยใช้ราคาเป็นเกณฑ์ ซึ่งมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงบประมาณ คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลัก เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ

ส่วนที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ตัดสิน โดยอ้างเงื่อนไข ข้อ 35.2 ที่ระบุว่า รฟม.สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลดหรือขยายเวลาของการคัดเลือกตามเอกสาร เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม.และมติของคณะรัฐมนตรี หาก รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกตามเงื่อนไขนี้ ไม่แน่ใจว่า รฟม.จะต้องเสนอ ครม.ก่อนหรือไม่

ตามที่ทราบกัน การเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกครั้งนี้ มาจากมีผู้รับเหมารายหนึ่งยื่นหนังสือขอให้ปรับแก้ ซึ่งเป็นการยื่นหลังจากที่หมดเวลาให้ผู้ซื้อซองยื่นคำถามแล้ว แต่ รฟม.กลับใช้หนังสือนั้นมาเปลี่ยนเงื่อนไข ขณะที่ตอนรับฟังความเห็น ผู้รับเหมารายนี้ได้เคยยื่นเงื่อนไขไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 36 ไม่เห็นด้วย และสรุปให้ใช้ราคาตัดสิน

ด้านนายมานะกล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการโดยตรง แต่ให้ความสนใจประเด็นความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐทั้งหมด องค์กรฯ มีส่วนร่วมหลายโครงการ เพราะการจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องโปร่งใส แข่งขันเสรี จากกรณีเปลี่ยนกติกาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดในประเทศไทย ตามหลัก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเปลี่ยนเงื่อนไขเมื่อประกาศ TOR หลังขายซองแล้วจะทำได้ต่อเมื่อยกเลิกประมูล หรือยกเลิก TOR เดิม เพื่อทำใหม่ เพราะถ้าขายซองแล้วเปลี่ยนกติกาถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เสรี ซึ่งหากยอมรับจะทำให้เสียความเชื่อมั่นการลงทุน

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ BTS ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ซึ่งจะคำนึงเรื่องความเป็นธรรม เพราะกระบวนการทางศาลจะพิจารณาเรื่องกฎหมายอย่างเดียว ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มถือว่าเป็นเส้นทางสายสำคัญ มีมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท รัฐบาลประกาศควรให้เข้าสู่กระบวนการข้อตกลงคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

@ผู้ว่าฯ รฟม.ยัน พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62 ให้อำนาจ กก.มาตรา 36

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า รฟม.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 มาตรา 38 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการมาตรา 36 ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และเป็นไปตาม กม.ลูกของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 ตามประกาศคณะกรรมการ PPP โดยการใช้เกณฑ์ด้านเทคนิครวมกับราคาจะทำให้ได้คุณภาพและราคาที่ดีที่สุด

รฟม.จะแถลงชี้แจง เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 25 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 อาคาร 1 รฟม.




กำลังโหลดความคิดเห็น