xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปั้น “เมกะโปรเจกต์” ล้านล้าน แลนด์บริดจ์-สะพานไทย-ทางด่วน-รถไฟจีน พรึ่บ อุ้มจ้างงาน 1.4 ล้านคน ฝ่าวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมแนวทางการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในยุค New Normal กับนักลงทุน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 1 ตุลาคม 2563
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประหวั่นโรคโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจดิ่งลึกวูบหาย 1.7 ล้านล้าน โค้งสุดท้ายของปีนี้ “รัฐบาลลุงตู่” จึงต้องบูทเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวคือการลงทุนภาครัฐเต็มกำลัง โดยอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนโครงการรัฐปั้นเมกะโปรเจกต์ล้านล้าน พรั่งพร้อมทั้งแลนด์บริดจ์-สะพานไทย-รถไฟ-ทางด่วน ดึง EEC-คมนาคม เป็นหัวหอกเรียกความเชื่อมั่นเอกชนกล้าขยับทุ่มลงทุนตาม แง้มประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ งัดมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เสิร์ฟเคียงคู่ “จ่ายคนละครึ่ง” ให้เลือก พร้อมอุ้มคนว่างงานอีกล้านกว่าตำแหน่งฝ่ามหาวิกฤตลดแรงต่อต้านรัฐบาลที่ขยายวง

การประเมินของธนาคารโลก หรือเวิร์ลแบงก์ ที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยคุมโควิด-19 อยู่หมัดติดชาร์ตอันดับต้นของโลกแต่เศรษฐกิจดิ่งลึกหนักสุดในอาเซียน กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเร่งบูทเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ให้สามารถลากจูงประเทศฝ่ามหาวิกฤตไปให้ได้ ดังนั้น สารพัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่จึงถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพคึกคัก

ว่ากันตามที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตซีอีโอ บมจ. ปตท. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้ว่า การล็อกดาวน์ประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ไตรมาส 2 หดตัวถึง 12.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 8-10% จากฐานจีดีพีประเทศไทยปีที่แล้ว 17 ล้านล้านบาท เท่ากับจีดีพีของไทยหายไปถึง 1.5-1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าความมั่งคั่งของชาติถอยหลังไปนับสิบปี 
   
 สภาพเช่นนี้เหมือนกับว่า ประเทศไทยกำลังเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง คือ “เราชนะการรบแต่แพ้สงคราม” คือ ชนะศึกคุมโควิด แต่ภาพรวมแพ้เพราะเศรษฐกิจดิ่งลึกมาก การล็อกดาวน์ทำให้มีคนตกงานจำนวนมากเหมือนตึกเริ่มพังจากฐาน คนข้างบนยังไม่รู้สึกอย่างข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ จะรู้สึกได้เมื่อตึกทั้งตึกถล่มพังทั้งไปตึก นับเป็นมหาวิกฤตที่ทีม ศบศ. จะต้องแก้ไขสถานการณ์ช่วยพยุงชีวิตคนไทยให้รอด เปรียบ ศบศ.เหมือนรถกู้ชีพต้องนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลคือ ประคับประคองให้ผ่านไตรมาส 4 ไปถึงปีหน้า 2564 คนไข้จะต้องไม่ตายเสียก่อนถึงโรงพยาบาล ฉะนั้นวิธีการคือต้องปั๊มหัวใจด้วยมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว

มาตรการเร่งด่วนสุดๆ ที่ ศบศ.ผ่อนคลายคือให้คนต่างชาติทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจไทยคือการท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศปีก่อนนี้ 2 ล้านล้านบาท หายไปตั้งแต่ไตรมาส 2 นับตั้งแต่ล็อกดาวน์ เพื่อให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ตกงานนับแสนคนได้มีงานทำ การผ่อนปรนต้องทำให้เร็วให้ทันไฮซีซั่นนี้

ถัดมาต้องรีบดึงกลุ่มเอสเอ็มอีและรายเล็กรายย่อย เช่น หาบเร่แผงลอยที่ลำบากสุดๆ เป็นที่มาของโครงการจ่ายคนละครึ่ง ที่รัฐบาลจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนลงไปถึงระดับล่างสุดอย่างแท้จริงแบบเดียวกับที่จีนทำแล้วเศรษฐกิจฟื้นคืนได้ เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน ใช้เงิน 3 หมื่นล้าน ให้คน 10 ล้านคน โดยรัฐบาลช่วยจ่ายวันละ 150 บาท เพื่อให้มีเงินหมุนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะฐานราก หากกลุ่มนี้รอด เอสเอ็มอีก็จะมีโอกาสรอด

นอกจากโครงการ จ่ายคนละครึ่ง แล้ว ที่ประชุมศบศ. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังเคาะมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น โดยเป็นการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ เดือน มีนาคม 2564 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 55,500 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 4 ล้านคน โดยผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือใช้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ.ยังขยายระยะเวลาเราเที่ยวด้วยกันไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์และบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาร่วมในโครงการได้มากขึ้น

สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว เครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐต้องเร่งเต็มที่เพื่อผลักดันการลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจ หวังกระตุ้นการลงทุนของเอกชนให้ตามมา เป็นเครื่องยนต์เดินหน้าคู่กันไปจนกว่าส่งออกและท่องเที่ยวจะกลับคืนมา โดยคัดเลือกเมกะโปรเจกต์ที่จะเดินหน้าต่อ ดังเช่นในกลุ่มรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ที่จะตัดงบลงทุน 20% ศบศ.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปสั่งการให้รัฐวิสาหกิจกลับไปใช้แผนลงทุนเดิมไม่ต้องตัดงบลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศดึงเอกชนมาร่วมลงทุน

เมกะโปรเจกต์ที่คณะอนุกรรมการแผนเศรษฐกิจระยะกลางและยาว ได้เสนอเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไปแล้ว เช่น โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงินงบ 80,500 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติต้นปี 2564 และออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จเดือน มิถุนายน 2565

โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองต่อขยายอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 28,300 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการและรูปแบบการลงทุน, โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ข้ามทางรถไฟสายสีแดง เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวลล์) วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยต้องเร่งเจรจาลงทุนโครงข่าย Missing link กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน กันยายน 2564

การลงทุนโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 107,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้เปิดทดลองใช้รถไฟฟ้าวันที่ 1 กรกฎาคม 2564, โครงการระบบรางรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วงเงิน 135,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565 ทุกเส้นทาง, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โดยกำหนดให้ลงนามสัญญางานโยธาทั้งหมดภายในปี 2564 และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

โครงการศึกษาการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาบริหารกิจการของรถไฟความเร็วสูง โดยตั้งงบประมาณในการศึกษาไว้ 30 ล้านบาท โดยให้เสนอ ครม. ของบศึกษาในปี 2564

การลงทุนที่ใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP ช่วงปานกลาง-ระยะยาว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงิน 48,500 ล้านบาท โดยก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการปี 2570

โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน 35,200 ล้านบาท รวมถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงิน 27,300 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา สายสีเขียว วงเงิน 84,800 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำรายชื่อผู้ชนะการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และประกาศผู้ชนะได้ในปี 2563

การลงทุนที่เร่งรัดการระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) ที่ระดมทุนไปแล้ว 44,000 ล้านบาท ซึ่ง TFFIF ควรเร่งรัดนำเอาเงินไปลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนพระราม 3 และโครงการทางพิเศษสายอื่น เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์การตั้งกองทุน โดยกำหนดให้ใช้เงินไปลงทุนไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2564 รวมทั้งมีการกำหนดให้เร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีกรอบการลงทุนในปี 2563-2564 วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท


ระยะนี้จึงปรากฏกระแสข่าวลงนามสัญญาเดินหน้าโครงการต่างๆ กันคึกคัก ดังเช่นโครงการรถไฟไทย-จีน ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบรับเป็นประธานในการลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563

สำหรับการปักหมุดโครงการใหญ่ที่อลังการงานสร้างก็คือโครงการที่บูทผ่านทางอีอีซี ตามที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนอกจากจะสรุปโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านบีโอไอกว่า 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว อีอีซี ยังวางเป้าผลักดันโครงการใหญ่และหนุนธุรกิจที่มีศักยภาพสูงอีก 3 กลุ่ม

เลขาธิการ กพอ. ได้รายงานการลงทุนจากงบบูรณาการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563) ประกอบด้วย 1. งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561-2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565-2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท

2. โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และ 3. ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยบีโอไอส่งเสริมการลงทุนให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น

ตามรายงานความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะเร่งรัดช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาที่จะส่งมอบพื้นที่ ให้เอกชนดำเนินงานเดือน ม.ค.-ก.พ. 64 ช่วงดอนเมือง-พญาไท ม.ค. 65 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายปี 2567 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 อยู่ระหว่างนำเสนออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษาต่อ กพอ. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนรับเอกสารข้อเสนอ (RFP) ฉบับใหม่

สกพอ.ยังมุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง คือ กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5 จี ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ

แต่ที่เรียกความสนใจจากนักลงทุนและประชาชนที่มีส่วนได้เสีย ต้องพุ่งเป้าไปที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ที่เข้าสู่เฟส 3 และยกระดับเชื่อมโยงกับนานาชาติเสริมสร้างยุทธศาสตร์ศูนย์ขนส่งภูมิภาค โดยการพัฒนาเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เข้ากับอีอีซี เชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ลดระยะเวลาและขั้นตอนการขนส่งสินค้า ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่

โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสกพอ. จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า(ทีอียู)ต่อปี


โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร – ท่าเรือระนอง Land bridge) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา) ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพร เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวง Motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

รายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง แบ่งเป็นการปรับปรุงท่าเรือระนอง ท่าเรือชุมพร 15,037 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 รวมถึงการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ท่าเรือ 45,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 การพัฒนารถไฟทางคู่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2570 และการพัฒนารถไฟทางคู่ประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2564

โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง คาดจะใช้เวลาก่อสร้าง 10-15 ปี ลักษณะโครงการ จะมีอุโมงค์ลอดใต้ทะเลจะฝั่งแหลมฉบังและฝั่งเพชรบุรี เพื่อให้เรือสามารถเดินทางเข้าออกในทะเลอ่าวไทยได้ จากนั้นจะยกระดับขึ้นเป็นสะพานบนเกาะกลางอ่าวไทย รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 990,000 ล้านบาท วางเป้าสร้างเสร็จปี 2575

ทั้ง 3 โครงการ ที่ประชุม กพอ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เป็นหัวหอกบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงคมนาคม และสกพอ. ร่วมกันศึกษาโดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน และจัดลำดับความสำคัญการลงทุนก่อน-หลัง

มาตรการปั๊มหัวใจเศรษฐกิจไทยทั้งหลายทั้งปวงเพื่อกระตุ้นการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ ชะลอการว่างงาน และสร้างงานขึ้นมารองรับแรงงานที่ตกงานอยู่จำนวนหลายล้านคนในเวลานี้ ซึ่งมาตรการรองรับด้านแรงงานในเขตอีอีซี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. บอกชัดว่า เ สกพอ.ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาทักษะบุคลากรตามความต้องการ ภาคเอกชนร่วมจ่าย โดยประมาณการความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซีระยะเวลา 5 ปี จำนวน 475,000 อัตรา พร้อมพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะบุคลากร 200 หลักสูตรใหม่ โดยอีอีซีโมเดล ปี 2564 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรให้ได้ 20,000-30,000 คน

ขณะที่นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสมีงานทำจากโครงการ Co-payment ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 1,048 ราย เปิดรับ 7.8 หมื่นอัตรา ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เปิดสอบบรรจุข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น 4,157 ตำแหน่ง ตามด้วยโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เตรียมจ้าง 6 หมื่นอัตรา ด้านรัฐวิสาหกิจอย่างเช่น กลุ่ม ปตท. เปิดรับ 25,800 ตำแหน่ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีคนไทยตกงานแล้วกว่า 2-3 ล้านคน และมีบัณฑิตว่างงานกว่า 4 แสนคน ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดตลาดนัดแรงงาน “Job Expo Thailand 2020” เมื่อวันที่ 26-28 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน รวม 570 หน่วยงาน มาเปิดรับสมัครงานโดยมีตำแหน่งงานว่างถึง 1,355,187 อัตรา


ปั๊มหัวใจประคองเศรษฐกิจให้รอดก่อนพังถล่ม เป็นงานหนักหนาสาหัสในช่วงรอยต่อปรับสมดุลระหว่างความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั่วทั้งโลกยังอยู่ในอาการสาหัส กับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การปลุกชีพลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่มาพร้อมทั้งเสียงหนุนและเสียงค้านจากผู้มีส่วนได้เสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น