xs
xsm
sm
md
lg

กพอ.ปลื้ม“อีอีซี”บูมลงทุน มูลค่า1.58ล้านล. สั่งผุดสะพานชลบุรี-เพชรบุรี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-“บิ๊กตู่”ประชุม กพอ. เป็นปลื้ม “อีอีซี” ช่วยบูมการลงทุนมูลค่ากว่า 1.58 ล้านล้านบาท สั่งเดินหน้าโครงการให้เป็นไปตามแผน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และเร่งการลงทุน มอบ “บัวแก้ว” ถกทูตดึงเป็นรายประเทศ เน้น 3 กลุ่มศักยภาพ พร้อมลุยโปรเจ็กต์ท่าเรือบก เชื่อมท่าเรืออ่าวไทย-อันดามัน และผุดสะพานเชื่อมอีอีซี-เอสอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน วานนี้ (5 ต.ค.) ว่า ได้รายงานถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท สิ้นสุดก.ย.2563

โดยการลงทุนประกอบด้วย 1.งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561–2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565–2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท 2.โครงการร่วมลงทุนรัฐ–เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และ 3.ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยบีโอไอ ส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560–มิ.ย.2563 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น

“ได้รายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่เดินหน้าตามแผน ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนรับเอกสารข้อเสนอ (RFP) ฉบับใหม่”นายคณิศกล่าว

นายคณิศกล่าวว่า ได้มีการประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือกับเอกอัครราชทูตเจาะลึกชวนนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเบื้องต้นได้จัดประชุมเฉพาะกลุ่มแบบเจาะลึก และจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ แล้ว ได้แก่ สหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐฯ 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท ซึ่งแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี สกพอ. ได้สร้างกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี 2.กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G 3.ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics)

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ สกพอ. คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ) และกระทรวงคมนาคม บูรณาการพัฒนา 3 โครงการหลัก เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติในการวางยุทธศาสตร์ให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้า การลงทุน และเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยเน้นร่วมกันศึกษาการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศและประชาชน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง 3 โครงการ

โดยทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการท่าเรือบก (Dryport) ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสกพอ. จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) ดานัง (เวียดนาม) เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี

2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land Bridge) ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบ มะละกา และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวง Motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

3.โครงการสะพานไทยที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทาง เชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2–3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง

“นายกฯ ได้ให้ไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าการทำโครงการนี้ จะต้องมองต้นทุนขนส่งให้ลดลง โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 โดยยืนยันว่าการทำอีอีซี ทำให้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลจะไม่หยุดคิด เราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ”นายคณิศกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น