“บอร์ดอีอีซี” เห็นชอบให้ สกพอ.จับมือกระทรวงคมนาคมเดินหน้า 3 โครงการ โดยเฉพาะ “สะพานไทย” เชื่อมทะเลตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ สกพอ. คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และกระทรวงคมนาคมบูรณาการพัฒนา 3 โครงการหลักเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ในการวางยุทธศาสตร์ให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าและการลงทุน พร้อมเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยเน้นร่วมกันศึกษาการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศและประชาชน
“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2563 นี้ และจะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 และการพัฒนาท่าเทียบเรืออื่นๆ ให้มีความจุประมาณ 18 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปีภายในปี 2572 เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เชื่อมโยงกับอีอีซี เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ลดระยะเวลาและขั้นตอนการขนส่งสินค้า” นายคณิศกล่าว
สำหรับ 3 โครงการได้แก่ 1. โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ สกพอ.จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) คาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู)ต่อปี
2. โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land bridge) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล และศรีลังกา) โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่ และทางหลวง Motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย
3. โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้ และท่าเรือแหลมฉบัง