“บอร์ดอีอีซี” รับทราบการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ยังคงเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดจะทำให้เกิดการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านบีโอไอกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ปักหมุดสนับสนุน 3 กลุ่มธุรกิจลงทุนเพิ่ม
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้รายงานถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จนถึงปัจจุบันได้ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563)
การลงทุนประกอบด้วย 1. งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561-2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565-2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท 2. โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และ 3. ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยบีโอไอส่งเสริมการลงทุนให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น
ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งจะเร่งรัดช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาที่จะส่งมอบพื้นที่ ให้เอกชนดำเนินงานเดือน ม.ค.-ก.พ. 64 ช่วงดอนเมือง-พญาไท ม.ค. 65 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมายปี 2567 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 อยู่ระหว่างนำเสนออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษาต่อ กพอ. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป ทั้งหมดก็จะยังเดินหน้าโดยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนรับเอกสารข้อเสนอ (RFP) ฉบับใหม่” นายคณิศกล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสานกระทรวงต่างประเทศสร้างความร่วมมือเอกอัครราชทูตเจาะลึกชวนนักลงทุนทั่วโลก เบื้องต้นได้จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เจาะลึก และจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับเอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ แล้ว ได้แก่ สหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐอเมริกา 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท ซึ่งแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี สกพอ.ได้สร้างกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์
2. กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G และ 3. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart logistics) ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา
“เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี สกพอ.ได้ร่วมือกับทุกส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรตรงตามความต้องการ Demand driven ภาคเอกชนร่วมจ่าย (อีอีซีโมเดล) โดยประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จำนวน 475,000 อัตรา พร้อมพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะบุคลากร 200 หลักสูตรใหม่ โดยอีอีซีโมเดล ปี 2564 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรให้ได้ 20,000-30,000 คน” นายคณิศกล่าว