“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
สังคมไทยจะไปทางไหน ความมุ่งหวังของคนหนุ่มสาวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไปเป็นสาธารณรัฐเป็นความฝันที่เกิดจากความไตร่ตรองของพวกเขาจริงๆ หรือพวกเขาได้รับการเสี้ยมสอนมาจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทั้งที่ฝังใจเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งที่มีพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายเป็นที่ประจักษ์ตลอดชีวิตการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน
เหตุการณ์ 6 ตุลา แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อยากจำของสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อโค่นล้มระบอบและทำลายศรัทธาของคนอีกกลุ่มนั้นย่อมจะต้องถูกต่อต้านด้วยความรุนแรง
ถ้าวันนั้นที่นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การนำทางความคิดและการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์สามารถชนะด้วยกำลังของประชาชนปฏิวัติ(People's uprising) ประเทศไทยวันนั้นก็ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงวันนี้ แล้วคิดดูว่าในความเป็นจริงใครจะงอมืองอเท้าเพื่อให้ถูกโค่นล้มลง ในขณะที่เชื้อพระวงศ์ลาวต้องลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย แล้วไปอยู่ในฝรั่งเศสในที่สุด
ดังนั้น 6 ตุลาแม้จะเป็นความรุนแรงที่น่าเศร้าระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
วันนี้ ความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบอบกลับมาอีกครั้ง สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกท้าทายยิ่งกว่าครั้ง 6 ตุลา 2519 ที่ตอนนั้นขบวนการเปิดแพร่ความคิดมาร์กซิสต์และคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างเอิกเกริก แต่ปัจจุบันการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งในวงเสวนา ในงานวิชาการ หรือในช่องทางสื่อต่างๆ
ก็คงได้แต่ภาวนาว่า ความรุนแรงเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จะไม่เกิดขึ้นอีกในพ.ศ.นี้
ทุกวันนี้ประวัติศาสตร์ 2475 ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 กลายเป็นประวัติศาสตร์จำเพาะของคนไม่กี่กลุ่มที่แสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เหมือนกับว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ร่วมที่เป็นความทรงจำร่วมกันของทุกคนในชาติ
อะไรคือความคิดความหวังที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่า จะทำภารกิจของคณะราษฎรที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วกลายเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังคนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมว่าเป็นตัวแทนของคณะราษฎรในวันนี้ ทั้งที่ภารกิจของคณะราษฎรมันจบไปหมดแล้ว ยกเว้นแต่ยอมรับว่า เป้าหมายของคณะราษฎรคือการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐอย่างที่คนหนุ่มสาวยกชูขึ้นมา
แต่คำถามว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐนั้นมันเป็นเรื่องของคนหยิบมือหนึ่งหรือ ตราบใดที่ไม่สามารถก่อฉันทามติในนามของประชาชนปฏิวัติ(People's uprising)ได้ สิ่งที่จะตามมาก็จะกลายเป็นความรุนแรงเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั่นเอง
อย่าได้หลงคิดไปว่า ภาพของประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมนั้นคือเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ อย่าคิดเชียวว่า เมื่อเหตุมวลชนออกมาร่วมชุมนุมเยอะนั้นหมายถึงการทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เพราะในช่วงสิบกว่าปีมานี้มันพิสูจน์ชัดแล้วว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น จนทหารอ้างเหตุยึดอำนาจ ก็ไม่มีผู้ชุมนุมกลุ่มไหนจะสั่นคลอนรัฐบาลได้เลย
แม้กระทั่งการชุมนุมของ กปปส.จะมีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมาก ถึงกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศให้หัวหน้าหน่วยราชการทั้งหมดมารายงานตัวกับตัวเองก็เป็นเพียงเรื่องที่ตลกขบขันเท่านั้น เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องยึดอำนาจมาให้ได้กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์เสียก่อน ดังนั้นอย่าคิดเลยว่า ถ้าไม่มีใครสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงแล้วผู้ชุมนุมจะสร้างแรงสะเทือนให้กับรัฐบาลได้
ยิ่งประชาชนมีความแตกแยกแบบนี้ ความฝันเรื่องประชาชนปฏิวัตินั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจะมีประชาชนอีกกลุ่มออกมาสนับสนุนรัฐบาลนั่นเอง
ประชาชนปฏิวัติจึงเป็นเพียงความเพ้อฝันที่ผู้ใหญ่ใช้หลอกเพื่อให้เด็กกลายเป็นเครื่องมือเท่านั้น
6 ตุลา 2519นั้นนักศึกษาถูกจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาแทรกซึมในเมือง พ.ศ.นี้นักศึกษาถูกปลุกปั่นด้วยความคิดของนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปผลลัพธ์ของความรุนแรงอาจจะไม่แตกต่างกันนัก
อย่าไปเชื่อนะครับว่า นักศึกษายุค 6 ตุลาไม่ได้มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ถูกล้อมปราบแล้วต้องหนีไปพึ่งพิงคอมมิวนิสต์ในป่าอย่างที่บางคนจะพูดให้เข้าใจไปอย่างนั้น วันนี้แม้ความรู้จะมีอยู่ทั่วไปและหามาอ่านมาศึกษาได้ต่างจากในอดีตก็ไม่มีใครเชื่อหรอกว่า นักศึกษาจะบรรลุความคิดขึ้นมาเองโดยไม่ถูกผู้ใหญ่บางคนปลุกปั่น
แม้กระทั่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาและเป็นคีย์แมนสำคัญของฝ่ายต่อต้านระบอบกษัตริย์ ยังเคยแสดงความเห็นไว้ว่า มีบางประเด็นที่เขียนไม่ตรงนัก คือ นักศึกษาไม่ได้เป็น “คอมมิวนิสต์” เมื่อเข้าป่าหลัง 6 ตุลา แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือขบวนการนักศึกษาในความเป็นจริงเป็นขบวนการเมืองคอมมิวนิสต์(อยู่ภายใต้การนำทางความคิด การเมืองและจัดตั้งของพคท.) ตั้งแต่ก่อนเข้าป่า คือ ตอนเกิด 6 ตุลาก็เป็นแล้ว
6 ตุลา 2519 ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตที่มีคนสามารถออกมาเล่าแง่มุมที่แท้จริงได้หลากหลายมากกว่าแง่มุมที่เลือกเล่าเพื่อให้เห็นภาพของผู้กุมอำนาจเป็นมารเพียงฝ่ายเดียว วันนี้คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นอยู่ทั้งสองฝั่งความคิดที่แตกแยกในสังคมไทยวันนี้ น่าคิดว่าทำไมบางคนยังใฝ่ใจเจ็บ บางคนเปลี่ยนแปลงความคิดไปและดำรงอยู่อย่างยอมรับความจริงและมองเห็นความผิดพลาดของตัวเอง
ต้องยอมรับให้ได้ว่าอำนาจรัฐนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยประชาชนตามลำพัง รัฐประหาร 2475ก็เกิดมาจากกำลังของทหารที่ถืออาวุธเข้ามายึดอำนาจแล้วเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นคณาธิปไตยที่เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเองของคนในฝ่ายคณะราษฎรด้วยกัน เพราะอำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวลไม่ว่าใครได้มากก็หลงลืมอุดมการณ์สวยหรูเสียหมดสิ้น ไม่ว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือปรีดี พนมยงค์ก็ตาม
ดังนั้นการตามหา role model ที่เป็นคนต้นแบบนั้นจึงไม่ใช่การมองแต่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องมองจุดมุ่งหมายทั้งชีวิตของเขา
การตื่นตัวของคนหนุ่มสาวเป็นเรื่องที่ดี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องไตร่ตรองเสียก่อนว่า เราเป็นเครื่องมือของการสร้างชาติในอุดมคติหรือเป็นเครื่องทางอำนาจของใคร ความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองย่อมไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เราก็ต้องชั่งใจให้ได้ว่า ความคิดและอุดมการณ์อันหลากหลายบนโลกใบนี้นั้นมันสามารถถอดแบบลงมาครอบสังคมไทยของเราได้ไหม
วันนี้ได้ยินคนหนุ่มสาวนักเรียนพูดว่า ถ้าการเมืองดีจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ กระทั่งสามารถถูกคอนเสิร์ต k-popได้ในราคาถูก แต่เราเคยถามไหมว่า การเมืองแย่ที่ระบอบหรือที่ตัวบุคคล เราต้องเปลี่ยนตัวบุคคลหรือเปลี่ยนระบอบ การเมืองแย่เพราะนักการเมืองเลวหรือรัฐธรรมนูญเลว การเมืองแย่เพราะประชาชนเลือกนักการเมืองเลวหรือไม่
แน่นอนรัฐบาลประยุทธ์ไม่ใช่รัฐบาลที่ดีที่สุด และเราไม่เคยมีรัฐบาลที่ดีที่สุดมาก่อนนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความรักความชอบของประชาชนต่อรัฐบาลนั้นแตกต่างกันไป จะทำอย่างไรไม่ให้เราเอาความรักความชอบรัฐบาลมาเป็นเหตุในความแตกแยกกระทั่งประชาชนกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่แย่งชิงอำนาจกันแล้วขึ้นมาปกครองเรา
วันนี้เรากำลังเอาความรักประยุทธ์ ความรักทักษิณ ความรักธนาธรมาเป็นโทสะใส่กันและกัน เรายอมเดินตามคนที่เรารักผลักให้เดินไป โดยไม่ได้คิดว่า มันค่อยสุมความแตกแยกในหมู่ประชาชนด้วยกัน ทำให้เพื่อนแตกแยก และทำให้ครอบครัวแตกแยก ทำให้นักการเมืองฉกฉวยประโยชน์ ทั้งที่เมื่อนักการเมืองแสวงอำนาจแล้วไม่ได้แตกต่างกัน มันแตกต่างกันตรงความรักและความเชื่อของเราเท่านั้นเอง
บางคนบอกว่า หนุ่มสาวเขาลุกขึ้นมาเพื่อเลือกอนาคตของเขา เขาไม่สามารถอยู่ในประเทศแบบนี้ได้อีกต่อไป แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่เป็นพ่อแม่ของเขา เราเคยคิดไหมว่า ข้อจำกัดของประเทศนี้มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ตัวนักการเมืองหรือระบอบที่ดำรงอยู่
สังคมไทยไม่เคยมีการแบ่งแยกชนชั้น ไม่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ คนที่อยู่บนแผ่นดินนี้ไม่ว่าเชื้อสาย เขมร ลาว มอญ จีน แขก ล้วนแล้วแต่มีโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ไม่นั้นคนจีนที่อพยพเข้ามาคงไม่สามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ คนอินเดียที่แตกต่างทั้งรูปลักษณ์และหน้าตาเข้ามาอาศัยแผ่นดินนี้คงไม่สามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ ดังนั้นต้องตอบให้ได้ว่า อะไรกันแน่ที่ปิดโอกาสในการเติบโตของเราในสังคมนี้
อย่าคิดเชียวว่าบทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐบาลประยุทธ์ เพราะรัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลอื่นที่เคยมีมา เพียงแต่บทเรียนกว่าสิบปีที่มองเห็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน ทั้งเป็นผู้เล่น เป็นสื่อมวลชน เป็นนักโทษทางการเมืองนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเรากลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจไม่ว่าฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง และผลพวงที่ตามมาก็คือคดีความที่พันธนาการเราไปทั้งชีวิต แต่นักการเมืองทุกคนยังอยู่และแย่งชิงอำนาจกันเหมือนเดิม
นับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย มันเป็นกงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพวกนิยมสาธารณรัฐ พวกนิยมกษัตริย์ พวกอนุรักษ์นิยม หรือพวกเสรีนิยม อาจจะเปลี่ยนไปเพียงจากเดิมที่มีการแย่งชิงอำนาจของขุนศึกกับศักดินา มาเป็นการแย่งชิงอำนาจกันของนายทุน ขุนศึก ศักดินาเท่านั้นเอง
ไม่ว่าตัวละครเหล่านั้นจะเป็นใคร แต่เมื่อได้อำนาจทางการเมืองไปแล้ว พวกเขาก็มองประชาชนเป็นเบี้ยไพร่ ในประเทศนี้จะมีใครกี่คนที่หลั่งหยาดเหยื่อเพื่อประชาชนของเขาบ้าง
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan