สถานภาพของรัฐบาลประยุทธ์ ณ เวลานี้นั้น ต้องเรียกได้ว่ากำลังนับถอยหลังเข้าไปทุกที กว่าจะหาคนมาเป็นรัฐมนตรีคลังก็แทบกระอัก เพราะมีแต่คนส่ายหน้า สุดท้ายต้องไปวิงวอนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาช่วยขัดตาทัพ ก็ยังไม่รู้เลยว่า ใช้คนได้ถูกกับงานไหม ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังย่ำแย่เพราะพิษโควิดที่เก่งมาจากไหนก็รอดยาก
หนึ่งปีกว่าของรัฐบาลเลือกตั้งสะท้อนชัดแล้วว่า นายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ว่าเอาใครที่ไหนมาเป็นก็ได้ เพราะเห็นถึงความสามารถอันจำกัดของคนเป็นนายกรัฐมนตรี ต่างกับ 5 ปีใต้รัฐบาลรัฐประหารที่สังคมต้องจำยอมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ถ้าจะว่าไปแล้วปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจความเดือดร้อนของประชาชนทุกหย่อมหญ้านั้น ก็มีเหตุผลมากพอแล้วที่จะทำให้คนออกมาชุมนุมบนท้องถนน เพื่อต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลที่ดีกว่า ไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมานับทศวรรษที่กลับมาคุกรุ่นบนท้องถนนอีกจากแรงระเบิดที่ถูกกดทับไว้นานจนปะทุออกมา
จริงๆ แล้วถ้าม็อบออกจากความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองมุ่งที่ความเดือดร้อนของประชาชนและประสิทธิภาพของรัฐบาลแล้วน่าเชื่อว่าจะสามารถสร้างฉันทมติร่วมของประชาชนทุกฝ่ายได้ไม่น้อย เสียดายแต่เพียงว่า ความแตกแยกของประชาชนที่ยังคงแบ่งเป็นสีเสื้อนั้นต่างหากเล่าที่ยังเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลชุดนี้ และม็อบก็สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับคนอีกฝ่าย
ความจริงตอนม็อบปลดแอกชู 3 ข้อ เลิกคุกคาม แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภาฯ ก็มีคนแห่แหนไม่น้อย และสามารถสร้างแนวร่วมได้ไม่ยาก ผมด้วยก็คนหนึ่งล่ะที่เห็นว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม ไม่ใช้ 250 ส.ว.เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญที่ร่างมาสำหรับพวกเขา แล้วกลับไปสู้กันใหม่ในหีบเลือกตั้ง
แต่เพราะมีอีกกลุ่มมาเลยธงกลายเป็นม็อบล้มเจ้า ด้วยวาจาก้าวร้าว หยาบคายจนสังคมรับไม่ได้ นั่นแหละที่ทำให้ม็อบฝ่อ เห็นได้จากม็อบ 19 กันยาที่นำโดยเพนกวิน รุ้ง อานนท์ ที่คุยว่าจะมาแบบม็อบเบิ้มๆ แต่สุดท้ายก็จบเห่ คนรุ่นใหม่ไม่ออกมา ต้องปักหมุดหน้าเวทีเคลื่อนไปต่อไม่ได้เพราะมวลชนร่อยหรอ
ทั้งคนส่วนใหญ่ยังเห็นว่า เบื้องหลังของม็อบนักเรียนนักศึกษาก็คือกลุ่มแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่เสียผลประโยชน์นั่นเองที่ทำให้คนเขาเบื่อว่า เป็นวาระของการแย่งชิงอำนาจเป็นความขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่วาระเพื่อชาติและประชาชน
แต่นี่ 14 ตุลาม็อบจะมาอีกแล้ว พูดกันเหมือนเดิมว่าจะมาแบบม็อบเบิ้มๆ นัดกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนเสื้อแดงบอกมาแน่จะเป็นกองหนุนช่วยนักศึกษาเพื่อชุมนุมยืดเยื้อปักหลักปักค้าง ก็ต้องรอดูว่าของจริงจะเท่าไหร่จากม็อบเบิ้มๆ จะเป็นม็อบแฟบๆ ไปต่อไม่ได้แบบ 19 กันยาอีกไหม เพราะคนเขารู้ว่า ม็อบที่นำโดยเพนกวิน รุ้ง อานนท์นั้น เป็นม็อบล้มเจ้าไม่ใช่ม็อบเพื่อประชาชน เป็นม็อบที่มีจุดหมายทางการเมืองหนุนหลัง
ปัญหาของม็อบก็คือ การมีผู้ใหญ่บางคนที่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตมาก่อน พยายามให้ท้ายเพียงเพื่อจะใช้เด็กสะสางความแค้น และลบล้างความทรงจำอันเศร้าสร้อยของตัวเอง แนวทางการเคลื่อนไหวจึงไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล กลายเป็นความฝันว่าจะล้มล้างสถาบัน
มาครั้งนี้ ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข พิธีกรวอยซ์ทีวีของโอ๊ค พานทองแท้ ก็เอาอีกแล้ว เขาบอกว่า การนัดชุมนุม 14 ตุลา แกนนำม็อบคงเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า ประยุทธ์น่าจะแย่แล้ว เจ้าของอำนาจก็น่าจะมองเห็นว่าถ้าต้องการลดแรงกดดัน ต้องหาทางเปลี่ยนตัวเพียงแต่จะใช้สูตรไหน รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกาล ฯลฯ
สิ่งที่พูดนั้นเป็นเพียงการปลุกขวัญเด็กให้ฮึกเหิมเท่านั้น ใบตองแห้งนี่ก็เป็นคนเดียวกับที่เชียร์ว่าม็อบจะเบิ้มๆ ครั้งก่อน คนเดียวที่ถูกจตุพร พรหมพันธุ์ อัดกลับเพราะไปวิจารณ์จตุพรเปลี่ยนข้างที่เตือนนักศึกษาว่าอย่าก้าวล่วงสถาบันนั่นแหละ
ตอนนั้นจตุพรจวกใบตองแห้งว่า “คุณก็รู้ประวัติศาสตร์ วิจารณ์คนย้ายขั้ว ย้ายข้าง คุณก็ย้ายข้าง มีอะไรดีกว่าคนอื่นเขาล่ะ ผมยังยืนของผมอยู่ที่เดิม เพียงแต่ผมเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจวัยคนหนุ่มคนสาว เพราะเราผ่านอันนี้มาก่อน และไม่เคยยืนลับหลังใคร หรือคอยยุยงส่งเสริมให้คนไปตาย แต่ตัวเองมีสิทธิ์ตายเท่ากับคนอื่นทุกครั้งในเหตุการณ์ที่รับผิดชอบ”
ใบตองแห้งก็คือคนเดียวกับที่เคยหมิ่นคนเสื้อเหลืองตอนยิ่งลักษณ์เรืองอำนาจว่า ม็อบหมดพลังแล้ว ไม่เหลือมวลชนแล้ว แต่แทบกระอักเมื่อเห็นมวลมหาประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ถ้าฝั่งกองเชียร์ประยุทธ์มีพวกสุดโต่งอย่างหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ฝ่ายตรงข้ามกับประยุทธ์ก็มีคนอย่างใบตองแห้งนี่แหละ
ดังนั้น จึงน่าเสียดายแทนที่ม็อบคนรุ่นใหม่จะพุ่งเป้ามาที่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หรือประสิทธิภาพของรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรี กลับกลายเป็นเครื่องมือของคนรุ่นเก่าที่ต้องการสะสางความแค้น หรือแสวงหาความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบไปเป็นสาธารณรัฐ จะเปลี่ยนแปลงประเทศโดยให้นักการเมืองขึ้นมาเป็นประมุข ทั้งที่เราเห็นความเลวร้ายของนักการเมืองมากว่า 80 ปี
คนรุ่นใหม่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าพวกเขาคือตัวแทนของคณะราษฎรที่ต้องการทำภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาของคณะราษฎรเต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเองและเล่นพรรคเล่นพวก และ 80 กว่าปีมานี้บ้านเมืองมีพลวัตเปลี่ยนแปลงไปเกินกว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไปไกลแล้ว สิ่งที่ยังหลงเหลือกันอยู่จากยุคคณะราษฎรก็คือ การแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองที่วันนี้มีคนหนุ่มสาวกลายเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง
สิบกว่าปีมานี้ประชาชนถูกแบ่งฝ่าย เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายประชาธิปไตย เพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และประชาชนต่างก็หลงเชื่อว่า นักการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนเท่านั้นที่สามารถนำพาบ้านเมืองให้ก้าวรอดไปได้ กระทั่งการเลือกข้างทางการเมืองกลายเป็นความขัดแย้งบาดหมางจนถูกนักการเมืองเอาไปใช้ประโยชน์
ฝ่ายอนุรักษนิยมกลายเป็นฝ่ายนิยมเจ้า และฝ่ายประชาธิปไตยถูกนักการเมืองและนักวิชาการที่มีความแค้นเคืองต่อสถาบันทำให้เข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่กว่า 60 ปีหลังสิ้นยุคคณะราษฎรพระมหากษัตริย์ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจำนวนมากยิ่งกว่านักการเมืองที่ผลัดกันขึ้นมาบริหารประเทศทุกคนรวมกัน
การพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้การนำของเพนกวิน รุ้ง อานนท์นั้น ทำให้ประชาชนที่ศรัทธาต่อสถาบันไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ ทั้งที่หากพุ่งเป้าที่ประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์แล้วอาจมีคนเห็นด้วยจำนวนมาก ทั้งนี้เห็นได้จากการที่คนขานรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อในช่วงแรก เพราะมองเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติลงได้ จะต้องทำกติกาบ้านเมืองให้เป็นธรรม
การกระทำของเพนกวิน รุ้ง อานนท์นั้นเหมือนกบน้อยในสระจ้อยที่ถูกผู้ใหญ่ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองอยู่นั้นคือทะเลใหญ่กลางมหาสมุทรนั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan