“หงา คาราวาน” ฝากปริศนา ยุค 6 ตุลา 19 เข้าป่าไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยก็เป็นภาระ “พรรคคอมมิวนิสต์” อดีตอธิการบดี มธ.ชี้ละครแขวนคอในอดีตแค่สะท้อนเหตุการณ์ ไม่ได้หมิ่น ไม่ได้จาบจ้วงใดๆ อดีตรอง ผอ.ข่าวกรองระบุสมัยก่อนได้รับเครดิตประชาชน ไม่มีนักการเมืองทำลายพลังบริสุทธิ์ แต่ยุคนี้ตรงกันข้าม ชี้ต้องไม่ข่มขู่คุกคาม ใช้ความรุนแรง ไม่งั้นหมดความชอบธรรม
วันนี้ (6 ต.ค.) เมื่อ 44 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษา ประชาชน ในบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้เข้าป่าจับปืนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในโซเชียลมีเดียได้มีการกล่าวถึงมุมมองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น นายสุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติ นักร้อง นักดนตรีเพลงชื่อชีวิต กล่าวในเฟซบุ๊ก “สุรชัย จันทิมาธร” ระบุว่า “การเข้าป่าของคนจำนวนมาก เป็นร้อยเป็นพันถึงหมื่นแสนสมัยนั้น (2519) ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยก็กลายเป็นภาระให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในการจัดสรรเลี้ยงดู ปูผ้ายาง กางเปลให้กับลูกหลานแห่งบ้านเมือง”
นายสุรชัยยังแต่งกลอนระบุว่า “ภาษากายลึกซึ้งไปถึงแก่น มันอินเตอร์ชั่นแนลซั่นดอกหวา ขยับนิ้วคิ้วคางหรือหางตา ก็รู้ว่ามวลมิตรคิดอย่างไร”
ด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” ระบุว่า “ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพราะขณะนั้นยังอยู่ในระหว่างเรียนอยู่ต่างประเทศ เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2521 นอกจากสอนหนังสือแล้ว ผมยังทำงานดูแลกิจกรรมนักศึกษา จึงได้คลุกคลีใกล้ชิดกับนักกิจกรรมจำนวนมากที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา มาหมาดๆ ในขณะนั้น นักกิจกรรมเหล่านี้กำลังเรียนปี 3 หรือบางคน ปี 4 จนทุกวันนี้ นักกิจกรรมเหล่านี้ยังนัดรวมตัวกันมาทานข้าวกันที่บ้านผมปีละครั้ง ทุกปี ดังนั้น ผมจึงรู้เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มากพอสมควร
เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงอยากเล่าเรื่องการแสดงละครแขวนคอ ที่ยังมีคนเข้าใจผิดอีกไม่น้อยว่า นักศึกษาตั้งใจแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์ ที่ก่อนหน้านั้น มีพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คน ช่วยกันติดโปสเตอร์โฆษนาการชุมนุม ภายหลังถูกฆ่าแขวนคอ ทั้ง 2 คน ชุมนุมศิลปะและการแสดง เป็นผู้รับผิดชอบจัดแสดงละคร ผู้จัดละครส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้มีหัวรุนแรงทางการเมือง เพียงรับมอบหมายให้จัดการแสดงเพื่อตรึงผู้ร่วมชุมนุมไว้เท่านั้น ผู้ที่แสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอมีหลายคน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ผู้แสดงคนหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และ Bangkok post นำภาพซึ่งอาจมีการแต่งเติม ไปลงหน้า 1 เป็นชนวนเหตุที่ทำให้มีการสังหารโหดอย่างบ้าคลั่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้แสดงคนดังกล่าว ที่จริงแล้ว เป็นนักกรีฑา ไม่ได้หมกมุ่นกับการเมืองสักเท่าใด มาเป็นตัวแสดงก็เพราะช่วยเพื่อน แต่เคราะห์ร้าย ทำให้ต้องติดคุกถึง 3 ปี จึงได้นิรโทษกรรม รวมทั้งผู้จัดละครและแกนนำนักศึกษาอีกหลายคนที่ต้องรับชะตากรรมเดียวกัน ภายหลังผู้แสดงคนนี้ เป็นนักถ่ายภาพใต้ทะเลที่มีฝีมืออันดับต้นๆของประเทศ สมัยนั้น นอกจากถูกกล่าวหาเรื่องแสดงละครแล้ว บนเวทีการชุมนุม ไม่มีใครขึ้นพูดในทางเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ต่างจากในช่วงนี้ ที่มีการพูดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่กลัวฟ้า ไม่กลัวดิน
งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ปกติผู้พูดหรืออภิปราย ก็จะเป็นผู้ที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลามาก่อน แต่ปี 2519 ทั้งนายเพนกวิ้น นางสาวรุ้ง และทนายอานนท์ ยังไม่เกิด สิ่งที่ทั้ง 3 คนตั้งใจจะพูด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเขาก็ทราบดีว่าจะถือโอกาสพูดเรื่องอะไร ดังนั้นหากมีทั้ง 3 คน ขึ้นพูด มหาวิทยาลัยจะอนุญาตให้จัดงานไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แค่ไม่ได้แจ้งความกรณีพังประตูเมื่อวันที่ 19 กันยายน ก็มีคนจ้องจะเล่นงานข้อหา 157 อยู่แล้ว
อีกไม่นาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะมีการสรรหาอธิการบดีกันใหม่ ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยบอกผมว่า การตัดสินใจวันนี้ของอธิการบดี เกี่ยวกับม็อบ ธรรมศาสตร์และการชุมนุม อาจมีผลบวกหรือลบต่อตัวท่านอธิการบดีเองในการสรรหาอธิการบดีที่กำลังจะมีขึ้นก็ได้ แต่ท่านกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือลบก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความถูกต้อง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความอยู่รอดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยรวม ผมเห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่งครับ”
ส่วน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ “เด็กรุ่นใหม่กับการเมือง” ระบุว่า “เด็กๆ ในเมืองไทย ถูกจัดเป็นกลุ่มที่ได้รับความเอ็นดู และปรารถนาดีเป็นพิเศษ ด้วยคำพูดที่ถูกสอนมาว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า หรือเด็กคืออนาคตของชาติ
ในอดีต คุณลักษณะของเด็กไทย คือ ความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กจะไม่มีนิสัยก้าวร้าว การชุมนุมทางการเมืองในอดีต ขบวนการนักศึกษาจะได้รับเครดิตจากประชาชน นักศึกษาจะระวังตัว ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาก้าวก่าย แทรกแซงหรือชี้นำ เพื่อไม่ให้พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะถูกครอบงำและแสวงประโยชน์ แต่ทุกวันนี้มันกลับตรงกันข้ามประเด็นความเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้องของนักศึกษา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนักการเมือง
การชุมนุมทางการเมือง คนมาชุมนุมจะมากหรือจะน้อย ไม่ใช่ประเด็น แต่การชุมนุมต้องไม่ใช่การข่มขู่ คุกคาม การยั่วยุ การใช้ความรุนแรง มิเช่นนั้น การชุมนุมเหล่านั้นจะหมดความชอบธรรม”