xs
xsm
sm
md
lg

อะไรที่คณะราษฎรใหม่จะทำ และประเทศที่ฝากไว้ในมือพวกเขา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

  
ดูเหมือนแม้ม็อบจะประชิดรั้วทำเนียบรัฐบาลก็ไม่อาจแผ้วพาลรัฐบาลประยุทธ์แม้แต่น้อย และต้องม้วนจบลงในคืนเดียวหลังประกาศยุติการชุมนุมก่อนที่ตำรวจจะเข้าสลาย พร้อมการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่รัฐบาลก็อย่าได้ย่ามใจว่า ความชอบธรรมและการลอยนวลในอำนาจนั้น จะทำให้รัฐบาลนิ่งนอนใจและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องในทุกด้าน เพราะเห็นแล้วว่า ความสงบที่เราหมายปองจากรัฐบาลนั้นไม่อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ได้เลย
 
ทางออกที่สำคัญที่สุดที่จะเอาการเมืองออกจากท้องถนนก็คือ ต้องทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีกติกาที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และกลับไปสู้กันในหีบเลือกตั้งที่ประชาชนเสียงข้างมากจะเป็นคนตัดสิน

ต้องยอมรับว่าหลักใหญ่ใจความที่แท้จริงที่ม็อบไม่อาจประสบความสำเร็จได้นั้น เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับบารมีของแกนนำและความก้าวร้าวเหิมเกริมจนเกินไปของหัวขบวน แม้ฉาก 2475 และ 2563 จะมีจุดร่วมของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนง่ายที่จะชักนำมวลชนให้เข้าร่วมเพื่อโค่นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบที่คณะราษฎร 2475 ทำสำเร็จมาแล้ว

และยิ่งการแสดงความเหิมเกริมป่าเถื่อนด้วยการล้อมขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินี โห่ฮาป่าสำรอกคำถ่อยเถื่อนด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่คนไทยส่วนใหญ่จะยอมรับได้

ไม่มีใครคิดหรอกว่าความสำเร็จของ 2475 นั้นจะมาจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มันมีปัญหาปากท้องปัญหาเศรษฐกิจเจือปนอยู่ด้วย รวมถึงผลกระทบของชนชั้นกลางที่เป็นกระบวนการสำคัญทางการเมืองได้รับความเดือดร้อนจากการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น หรือการดุลราชการ
 
แต่ปัจจุบันชนชั้นกลางเกิดวิกฤตศรัทธาจากการเมืองของนักการเมืองนับตั้งแต่การก่อเกิดระบอบทักษิณที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลจนกระทั่งพบว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เครื่องมือในการคัดเลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ แต่เพียงอย่างเดียว คล้ายกับความคิดเรื่องราชาปราชญ์ของเพลโต แน่นอนว่า ความคิดแบบนี้มันเป็นเส้นแบ่งบางๆระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย 
   
และความคิดของชนชั้นกลางในยุคนี้ก็ถูกฝ่ายต่อต้านหยิบฉวยไปเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเรียกชนชั้นกลางว่า เป็นพวกนิยมเผด็จการ จากนั้นก็เอาชนชั้นกลางไปบวกกับชนชั้นสูงว่า หวงแหนอำนาจและผลประโยชน์ที่เสียไป เพราะฝ่ายประชาธิปไตยแบบระบอบทักษิณนั้นเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นล่างมากกว่าจนกระทั่งเกิดวาทกรรมว่า ทักษิณถูกขับไล่เพราะอิจฉาที่ทักษิณได้รับความรักความนิยมจากชนชั้นล่าง

แล้วความคิดแบบแบ่งฝ่ายตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็ใช้ได้ผล เพราะมันสอดคล้องกับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เป็นพวกต่อต้านกระแสเก่า ต่อต้านสถาบัน(Anti-Establishment)อยู่แล้ว และยิ่งผู้นำทางการเมืองเป็นทหารที่เปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการมาเป็นยุคกึ่งประชาธิปไตยด้วยแล้ว มันยิ่งขัดแย้งกับความคิดและวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวมาก

เพราะพวกเขาเพิ่งผ่านพ้นจากชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ของโรงเรียนและพ่อแม่มา พวกเขาจึงไม่อยากเจอผู้นำแบบนี้ในชีวิตประจำวันอีก แล้วบุคลิกแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชอบแสดงอารมณ์ด้วยแล้ว มันเลยเป็นโลกคู่ขนานของพวกเขา จนง่ายที่จะถูกคู่แข่งทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ชักนำพาไปในวิถีทางที่พวกเขาต้องการ

แม้เราจะได้ยินคนรุ่นใหม่เรียกร้องการเมืองที่ดี เพราะความเชื่อว่า การเมืองที่ดีที่ส่งผลที่ดีในด้านต่างๆ ตามมา แต่เห็นได้ว่า พวกเขาคิดสั้นเพียงๆว่า เพราะการเมืองแบบเผด็จการนี่แหละที่นำการเมืองไม่ดีจนส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา ในขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งเคยเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหมุนกลับมาต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้งนั้น เพราะพวกเขามองเห็นว่า การเมืองแบบนักการเมืองนี่เองที่นำพาประเทศไปสู่วิกฤตและความล่มสลาย

เพียงแต่ทำอย่างไรอย่าให้ความขัดแย้งทางช่วงวัยของคนต่างรุ่นกลายเป็นความรุนแรงที่ซ้ำเติมวิกฤตของชาติที่ทับซ้อนเพิ่มขึ้นจากสิบกว่าปีของวิกฤตการณ์ทางการเมือง แม้วันนี้เราจะเห็นว่าพวกเขากลายเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่มีความแค้นส่วนตัวคอยบ่มเพาะทัศนคติที่ชวนให้พวกเขาออกห่างจากความเชื่อเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วชวนกันย้อนยุคกลับไปไกลถึงปี 2475 

ความคิดเรื่องสืบสานสิ่งที่คณะราษฎรยังทำไม่สำเร็จจากคำพูดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคณะราษฎรใหม่นั้นเป็นคำถามให้ชวนคิดว่าคืออะไร

ถ้าคณะราษฎรใหม่ได้อำนาจรัฐเขาจะปกครองเราอย่างไร หลังข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเขาคือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ให้เปิดสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะถ้าเดินไปตามนี้แล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังรักษาการต่อไป หรือเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังบังคับใช้อยู่ แล้วต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ขึ้นมาบังคับใช้โดยไม่มีเงื่อนไขไหม รวมทั้งจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรในเมื่อพระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 2475 แล้ว

ในการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ห้องประกอบหุตะสิงห์อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ธนาธรกล่าวถึงคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ บนเวทีหัวข้อ “อภิวัฒน์สยาม 2562 ความหวังและอนาคตประเทศไทย” ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการอภิวัฒน์ 2475 เป็นผู้นำเสรีไทยและเป็นผู้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและมีอีกหลายเรื่องที่ปรีดีได้ทำรวมทั้งเป็นผู้วางรากฐานการปกครองสมัยใหม่ในประเทศไทยไว้

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้วและมีความสำคัญอย่างมากคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐผมอ้างตามคำพูดของอาจารย์ณัฐพล ใจจริงนะครับว่า 2475 คือสัญญาประชาคมใหม่ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดถ่ายโอนอำนาจสูงสุดนั้นไปสู่พลเมืองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรองรับสิทธิและเสรีภาพที่ว่าของประชาชนสัญญาที่ว่านี้หลักใหญ่ใจความคือกษัตริย์คืนอำนาจให้กับประชาชนแต่ผ่านมา 86 ปีเรารู้กันว่าจนถึงปัจจุบันประชาชนก็ยังไม่ได้รับผมคิดว่านี้คือเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่าหลักการความเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสถาปนาหลักการที่เป็นเสาค้ำยันการอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายยังไม่ได้ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย” 
 
ธนาธรกล่าวต่อว่าสถานะพลเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 คือการยึดหลักเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นการยกสถานะตัวเองจากผู้ที่ถูกปกครองเป็นสู่การเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในการกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกันซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ยังไม่มีในสังคมไทย

“การเลือกตั้งครั้งนี้หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภารกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหังหรือทะนงตนแต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิไร้เสรีและไร้เสรีภาพพูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวังและต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริงธงที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้าคือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2475 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้งนั่นคืออำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ข้อสงสัยที่ตามมาคือ “จำเป็นจะต้องนำภารกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ” คืออะไรการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2475 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้งคืออะไร

ถ้าเริ่มจากประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 มาจนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร จะเห็นว่า บ้านเมืองได้มีพลวัตไปไกลกว่าหลัก 6 ประการนั้นมากแล้ว

หรือว่าจะเป็นสาธารณรัฐ หรือจะปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบยุคนั้น หรือจะเป็นคอมมิวนิสต์เพราะเห็นแกนนำคณะราษฎร2563พากันสวมหมวกดาวแดงของคอมมิวนิสต์กันอย่างโก้หรู

หรือการเดินตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี นั่นคือ การที่รัฐบาลจะใช้พันธบัตรซื้อที่ดินสำหรับการเพาะปลูกทั้งหมด แล้วให้ชาวไร่ชาวนากลายเป็นลูกจ้างของรัฐผมนึกไม่ออกเหมือนกันนะครับว่าถ้าเดินตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีในวันนั้น วันนี้ประเทศไทยจะกลับมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบวันนี้ก่อนหรือหลังรัสเซีย เราจะเป็นสาธารณรัฐไปก่อนสาธารณรัฐประชาชนลาวไหม

หรือการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่ไม่เป็นพวกตัวเอง เพราะระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2475 รัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับและอีกหลายฉบับถูกปิดระหว่างปี 2476 และ 2478 ขณะเดียวกันรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนหนังสือพิมพ์ที่เป็นมิตรกับคณะราษฎร(คริส เบเกอร์,ผาสุก พงษ์ไพจิตร,ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย)

หรือว่าจะตั้งศาลพิเศษขึ้นมาจัดการศัตรูทางการเมือง ยึดเอาพระคลังข้างที่มาแบ่งขายกันเองในราคาถูก

จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของอำนาจทั้งสิ้น หลังได้อำนาจคณะราษฎรก็ขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันเอง จนกระทั่งหมดยุคของจอมพลป.พิบูลสงคราม หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎรในทุกเขตแดนทั่วประเทศที่เสด็จราชดำเนินไปจนเกิดโครงการหลวงมากมายเพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดินขึ้น และทรงกลายเป็นคนกลางที่เข้ามายุติความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง

ดังนั้นมีคำถามว่า การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ในขณะที่การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองนั้นยังดำเนินมาอย่างไม่เคยหยุดนิ่งนับตั้งแต่ปี 2475เป็นต้นมา

แม้คณะราษฎรจะเป็นคนหนุ่มสาวเช่นเดียวกับคณะราษฎร2563 แต่สภาพบ้านเมืองวันนั้นกับวันนี้ต่างกันมาก เพราะวันนี้เรามีเสรีภาพและอิสรภาพที่จะพูดมาก แม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ก็กระทำไปโดยเปิดเผยอย่างไม่เคยมีมากก่อน แม้ในยุคที่สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอหลังยึดอำนาจ 2475 ก็ดูเหมือนคณะราษฎรจะเกรงกลัวบารมีของพระมหากษัตริย์อยู่มาก ดังได้เห็นจากการตั้งรัฐบาลชุดแรกหลังรัฐประหาร2475 และการแต่งตั้งสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

และแม้คณะราษฎร2563จะเป็นคนหนุ่มสาวเช่นเดียวกับคณะราษฎร ที่เราเห็นได้ว่า ความรู้ภูมิปัญญาและวุฒิปัญญาของคณะราษฎรทั้งสองชุดต่างกันมา ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเราพร้อมไหมที่จะให้ เพนกวิน รุ้ง และอานนท์ มาเป็นผู้นำของเรา ถ้าพวกเขาสามารถพลิกคว่ำแผ่นดินไปเป็นระบอบสาธารณรัฐได้ดังใจหมาย

เราเตรียมใจที่จะให้ประเทศชาติถูกนำพาด้วยเขาและเธอเหล่านี้หรือยัง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น