ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เชื่อว่าจะยังมีอีกหลายพื้นที่ กับปมปัญหา"งบประมาณขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ" นอกจากจ.นครพนม ที่สมาชิกสมาคมองค์การบริหารสว่นตำบล (อบต.) จังหวัดนครพนม ตบเท้าออกมาเรียกร้องถึงศาลาลากลาง เมื่อ 26 ก.ย.สัปดาห์ก่อน
กอรปกับ "กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน" ก็เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เช่นกัน ให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงาน"ตรวจสอบการทุจริตและเรียกเก็บหัวคิวงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ ในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมของรัฐบาล งบประมาณ 11,892 ล้านบาท (งบกลาง)" ทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ขุดสระน้ำตื้น เจาะบ่อบาดาล และธนาคารน้ำใต้ดิน
โดยเฉพาะที่ จ.นครพนม ตามหนังสือร้องเรียน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยปีงบประมาณ 2563 ทางรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น เพื่อใช้ดำเนินแก้ปัญหาในพื้นที่ 12 อำเภอ จ.นครพนม ได้รับงบกลาง จัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นเงินกว่า 350 ล้านบาท รวมกว่า 450 โครงการ
แต่กลับมีปัญหาความล่าช้า ยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างได้ ติดขัดเรื่องการจัดทำเอกสารประสานงานระหว่าง "อำเภอ กับอปท."
ข้อร้องเรียนหนึ่ง ระบุว่า "ก่อนนี้ ในการเสนอแบบโครงการเพื่อของบประมาณ ทางจังหวัดได้มอบหมายให้อปท.ดูแล แต่พออนุมัติงบประมาณทางกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ "อำเภอ" เป็นผู้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง"
โครงการส่วนใหญ่จัดหาผู้รับจ้างด้วย "วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ" ในงบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท
เรื่องนี้ มีการอ้างว่า ทำให้เกิดปัญหาในการวิ่งเต้นของผู้รับจ้าง เพื่อหวังรับงานให้ได้มากที่สุด เนื่องจากสุดท้ายหากมี "ขบวนการเรียกหัวคิวสูง" ปัญหาคุณภาพงานจะตามมา และเกิดปัญหาตกมาที่ อปท.เอง
ทราบว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯนครพนมได้รับเรื่อง เพื่อติดตามเร่งรัฐเกี่ยวกับการใช้งบประมาณตามที่กลุ่มผู้บริหาร อปท.ร้องเรียน เพราะเกรงว่างบประมาณจะไม่ทันปีงบประมาณ ภายใน 30 ก.ย.63
ข้อเรียกร้องอีกเรื่องคือ พิจารณามอบหมายให้ อปท. เป็นผู้ดูแล "จัดหาผู้รับจ้าง" เนื่องจากมีความพร้อมเกี่ยวกับบุคลากร และเป็นเจ้าของพื้นที่ ป้องกันปัญหาตามมาภายหลัง เพราะทางอำเภอ จะต้องมาขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของ อปท.ไป ดำเนินการ
ข้อมูลเชิงลึกจากคณะผู้ยื่นหนังสือ ระบุว่า หลังมีการอนุมัติงบประมาณ หาผู้รับจ้าง เกี่ยวกับโครงการภัยแล้งได้มีขบวนการนายหน้า อ้างว่าเป็นเด็กนาย ทั้งสายผู้บริหารระดับสูงของ จ.นครพนม รวมถึงสายนักการเมืองใหญ่ ออกมาวิ่งเต้นล็อบบี้ เอางานไปขายเรียกรับหัวคิวพร้อมมีการเรียกรับเปอร์เซ็นต์สูง ร้อยละ 40 จากงบประมาณโครงการ
"อ้างว่าจะต้องดูแลนาย อีกทั้งการหาผู้รับจ้างส่วนใหญ่ ทางอำเภอจะเลือกเอาพรรคพวกคนใกล้ชิดของ ของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งสายการเมืองรวมถึงสายราชการ เนื่องจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการตกลงราคา ใช้วิธีการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษทำให้มีการวิ่งเต้น ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากภาษีประชาชน"
ขณะที่หนังสือร้องเรียน ของ "กลุ่มธรรมาภิบาลฯ" ลงนามโดยนายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มฯ เมื่อ 30 ก.ย.63 ระบุว่า กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ได้รับแจ้งข้อมูลจากประชาชนและผู้ประกอบการที่สุจริตซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในพื้นที่หลายจังหวัด ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายผลประโยชน์ที่อ้างนักการเมือง และฝ่ายผลประโยชน์ที่อ้างชื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นำงานขุดลอกแหล่งน้ำภายใต้โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการและขายงานต่อ หรือจัดหาผู้รับเหมาทั่วไป ให้มาซื้องานโดยเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวงานละ 35 - 50% ตามความยากง่ายในแต่ละโครงการ
ในฐานะผู้กำกับดูแลงบกลาง จึงต้องดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดต่อขบวนการที่ร่วมกันทุจริตต่อเงินแผ่นดินโดยอ้างการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษกรณี ตกลงจ้างครั้งนี้ ดังนี้
1.ให้ตรวจสอบกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มคุณนาย อ. ว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ“บิ๊ก ฉ.”และ“บิ๊ก ป.”ในการทำสัญญางานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศและเรียกเก็บหัวคิวผู้ประกอบการหรือไม่อย่างไร และหากพบว่ามีการเชื่อมโยงในการกระทำผิดให้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุดต่อไป
2. ให้ตรวจสอบการทำสัญญาขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ 18,927 โครงการ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหรือมีการนำผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องเข้าเป็นคู่สัญญาเพื่อนำงานไปขายต่อหรือไม่
3. ให้ตรวจสอบการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ ทั้ง 18,927 โครงการ ว่าได้ดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามแบบTOR และสัญญาหรือไม่
ก่อนการยื่นหนังสือ แค่ 1 วัน จันทร์ที่ 28 ก.ย. "นายฉัตรชัย พรหมเลิศ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งแนวทางปฏิบัติไปยังทุกจังหวัด โดยในหนังสือย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ส่วนราชการส่วนกลางที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจ
โดยเฉพาะตามมติ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.63 และ วันที่ 15 ก.ย.63
"โดย มติครม.เมื่อ 13 ส.ค. เป็นโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ 18,927 รายการ งบประมาณ 9.95 พันล้านบาท ส่วนโครงการตามมติครม.15 ก.ย. เป็นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน 65 แห่ง วงเงิน 23.6 ล้านบาท กทม. 1 โครงการจัดหาเครื่องดูดตะกอนดิน และเครื่องแยกตะกอนดินเลน 2 ชุด 340 ล้าน และโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง 1,726 แห่ง วงเงิน 815.3 ล้านบาท"
หนังสือฉบับนี้ ยังสั่งการให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน โดยให้ภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาหรือกลไกของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อ วันที่ 16 ส.ค.ปีเดียวกันนี้ นายฉัตรชัย เพิ่งทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0211.5 /ว4857 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินตรวจสอบแผนโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังครม. อนุมัติงบประมาณภายในกรอบวงเงิน 11,892.8711 ล้านบาท
โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยรับงบประมาณ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการดังกล่าว 18,927 รายการ วงเงินงบประมาณ 9,947.8344 ล้านบาท
ข้อมูลจากมติครม. 13 ส.ค. 63 ยังระบุว่า "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบกลาง) วงเงิน 11,892,871,100 บาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วม พื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอครม. พิจารณา โดยพล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าว เสนอครม.
เหตุผลตามเอกสารแนบของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 62/63 อันเนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 63 ลดความเสี่ยงจากน้ำหลาก ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมเจ้าท่า ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ให้ความเห็นชอบการขอรับการจัดสรรงบกลางรายการดังกล่าวแล้ว
จากตัวเลขงบประมาณ "กระทรวงมหาดไทย" ได้รับจัดสรร 2 โครงการ งบประมาณ 10,093 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ 18,927 รายการ งบประมาณ 9,957 ล้านบาทเศษ และโครงการจัดหาครุภัณฑ์ เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช 805 ลำ งบประมาณ 135 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ยังมี “โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ เพิ่มเติม”เมื่อเดือน มิ.ย.63 "นายฉัตรชัย" มีหนังสือด่วนที่สุดถึงหัวหน้าส่วนราชการ 26 หน่วยงาน หลายกระทรวง แจ้งแผนงานที่ผ่านการเห็นชอบในโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง (เพิ่มเติม) ที่รับผิดชอบโครงการขอรับสนับสนุนงบประมาณให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ดำเนินการ
ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกองทัพ เช่น โครงการของกองทัพอากาศ 1 โครงการ “ขุดบ่อเก็บน้ำที่กองบิน”มี “กองบิน 7”เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน 20,320,000 บาท บนพื้นที่ 14 ไร่ ,โครงการของกองทัพบก 25 โครงการ ของมณฑลทหารบกที่ 37 โครงการที่รับผิดชอบโดยมณฑลทหารบกที่ 210 โครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โครงการของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ยังเพิ่มเติม ให้กับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย อีก 14,712 โครงการ รวมถึงล่าสุดโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม "ขุดลอกแหล่งน้ำ โครงการใหม่" ในพื้นที่ 30 จังหวัด และของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 734.2688 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.ย. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้เร่งดำเนินการขอรับสนับสนุนงบกลางปี 63 รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 63 และเมื่อ 18 ก.ย. ปลัดมท. ก็แจ้งให้ 30 จังหวัด และอปท. เร่งจัดซื้อจัดจ้าง แล้ว
จะเห็นได้ว่า ตลอด 1 ปี 63 ถึง 64 ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีงบประมาณที่ได้รับจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อกำกับนโยบายบริหารจัดการน้ำกว่า 11,855.3 ล้านบาท
ขณะที่ใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ปี 63 ยังมีงบประมาณที่จัดสรรให้ "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" รวม 3,946,300 บาท เพื่อเป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 64 ยังพบว่า "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เสนอจัดสรรงบประมาณ รวม 680,124,900 บาท ในแผนเดียวกันยังมีงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่พร้อมจะถูกโยกมาใช้ในภารกิจ "บริหารจัดการน้ำ" ทุกเมื่ออีก 9.9 หมื่นล้านบาท ดู "วงเงินงบประมาณแล้ว!" เหตุใด? เมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทำไมถึงมีส.ส.พร้อมจะก้มกราบ