รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.รับทราบรายงาน ป.ป.ช. เรื่องผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พบยังมีปัญหาอุปสรรค เสนอให้จัดให้มีเพียง 1 แนวทางการปรับใช้สำหรับแต่ละหลักสูตร
วันนี้ (18 ส.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2562 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ซึ่งมีทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ หลักสูตรแรก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน่วยงานนำไปใช้ 52,040 แห่งจาก 56,283 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.46 หลักสูตรที่ 2 หลักสูตรอุดมศึกษา มีหน่วยงานนำไปใช้ 39 แห่ง จาก 157 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 24.84 หลักสูตรที่ 3 หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ มี 2 หน่วยงานนำไปใช้คือกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิดเป็นร้อยละ 100 หลักสูตรที่ 4 หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช.และบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ มีหน่วยงานนำไปใช้ 44 แห่ง จาก 76 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 57.89 และหลักสูตรสุดท้าย หลักสูตรโค้ช มีหน่วยงานนำไปใช้ 77 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 100
อย่างไรก็ตาม ได้พบปัญหาและอุปสรรคดังนี้ คือ มีบางหลักสูตรที่หน่วยงานเป้าหมายไม่สามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรมีรายละเอียดน้อย ผู้สอนไม่มีความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับหลักสูตร ซึ่ง ป.ป.ช.ได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยให้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากคู่มือหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและกรณีตัวอย่างคดีเพิ่มเติมจากสำนักงาน ป.ป.ช. และควรมีสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย มีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการบริหารจัดการ ติดตามและรายงานผลการนำหลักสูตรไปปรับใช้เป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังรายงานด้วยว่า มีอุปสรรคเรื่องที่ไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์เฉพาะหลักสูตรได้ เนื่องจากแนวทางการนำหลักสูตรไปปรับใช้เดิมมีรูปแบบที่หลากหลาย จึงเสนอให้จัดให้มีเพียง 1 แนวทางการปรับใช้สำหรับแต่ละหลักสูตร โดย ครม.วันนี้ยังได้มีมติให้หน่วยงานต่างๆพิจารณานำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ดังนี้ คือ ในกลุ่มของสถานศึกษาของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เปิดรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนกลุ่มหน่วยงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้จัดทำเป็น 1 รายวิชา 3 หน่วยกิต และกลุ่มสุดท้ายคือ ทุกกระทรวงที่เสนอของบประมาณตามแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดฝึกอบรมสัมมนาให้แก่ข้าราชการและบุคลากรของหน่วยงาน