ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าอนาถใจ! พวกฉวยวิกฤตเป็นโอกาส กอบโกยประโยชน์ใส่ตัวแบบไม่ละอายในยามศึกสงครามไวรัส “โควิด-19” แม้จะมีประกาศิตจาก “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ห้ามทุจริตเด็ดขาด แต่ก็ยังไม่วายเว้นและมีกลิ่นทะแม่งๆ ปรากฏให้เห็น ที่โจ่งครึ่มกันอยู่เวลานี้ก็คือ “งบจังหวัดและองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)” ใต้จมูก **“เสือเงียบแห่งคลองหลอด” นี่แหละที่กำลังล่อกันมันปาก
หาก “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล้าลงมือเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นตัวอย่าง โยกย้ายข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พัวพันการทุจริตออกนอกพื้นที่ เอาถึงขึ้นติดคุกกันเห็นๆ ถึงจะแสดงให้เห็นว่า “พี่น้องสาม ป.” รักกันจริง เพราะถ้าขืน “เสือเงียบ” ปล่อยให้ลูกน้องพังนั่งร้านที่ตัวเองนั่งอยู่ด้วยมีหวังเรือเหล็กรัฐบาลลุงล่มทั้งลำ
ต้องไม่ลืมว่าอารมณ์ของสังคมและชาวประชาเวลานี้อยู่ในโหมดขุ่นมัว หากินฝืดเคือง หวั่นไหวจะอดตายกันทั้งบ้านทั้งเมือง ขณะที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นกลุ่มที่ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนใดๆ จากการแพร่ระบาดของไวรัส-โควิด 19 แล้ว ยังจะมีบางคนฉวยโอกาสโกงกินจากงบจัดซื้อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันโควิด แบบหวานๆ อ้วนท้วนเปรมปรีดิ์ มันออกจะสวนกระแสอารมณ์สังคมมากไปแล้ว
ถึงเวลาที่ นายกฯลุงตู่ ต้องขันนอต สะกิด “เสือเงียบคลองหลอด” ให้ส่งเสียงปรามดังๆ เล่นงานพวกคนโกงให้หนักๆ ได้แล้ว ไม่งั้นแย่แน่ๆ เพราะหลายเรื่องชักมะรุมมะตุ้มเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จ่ายเยียวยาก็ยังจบไม่ลง
และดูจากเรื่องอื้อฉาวล่าสุดที่ฉีกหน้าผู้ว่าฯ จังหวัดพิษณุโลก สายบังคับบัญชาของ “เสือเงียบแห่งคลองหลอด” ก็คือ กรณีเจ้าหน้าที่ อสม.นับร้อยคนออกมาชูป้ายหน้าศาลากลาง เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบเรื่องเบี้ยเลี้ยง 240 บาท ที่ได้รับคำสั่งให้ออกไปตรวจคัดกรองโควิด-19 ของคนในชุมชน เป็นเงิน 5,040 บาท แต่กลับเบิกจ่ายไม่ได้ ซึ่ง ป้าย อสม.ขอคำตอบจากผู้ว่าฯ ก็เช่น “240 ก็ไม่ได้ 120 ก็ไม่ได้ ได้เท่าไรแน่คะท่านผู้ว่าฯ” เป็นต้น
อย่างที่รู้กันว่า ศึกสงครามไวรัสฯรอบนี้ เป็นศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จู่โจมอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทุกซอกทุกมุมของโลก การรับมือต้องเค้นสมองคิดและวางแผนรบรอบด้านทั้งการป้องกัน เยียวยา ซึ่งต้องสอดประสานกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงปฏิบัติการในพื้นที่
แต่ในทางความเป็นจริง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งบังคับบัญชา แบบ single command ย่อมไม่สามารถสั่งการและควบคุมทุกการปฏิบัติการได้ทั่วถึง จึงมีเรื่องที่ส่อไปในทางทุจริตปูดขึ้นมาไม่เว้นวัน และลามปามกันกระทั่ง ป.ป.ช. ออกโรงเข้มสั่งสแกนละเอียดยิบ จ้องฟันพวกที่งาบเงินหลวงจากข้ออ้าง “โควิด-19” ซึ่งถ้าเอาจริงอีกไม่นานเกินรอคงได้เห็นผลงาน
ย้อนไปก่อนหน้าเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วงที่มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) จากต่างประเทศเพื่อนำมาตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข แล้วมีข่าวอื้อฉาวเกิดขึ้น ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และป้องกันไม่ให้มีการทุจริต และเรียกรับผลประโยชน์ กระทั่ง “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
ในจังหวะเวลาเดียวกัน ข่าวคราวการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ตรวจและป้องกันโควิด-19 ที่ลงไปยังจังหวัดและอปท. ก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” และสำนักข่าวอิศรา เกาะติดในหลายจังหวัด เช่น สมุทรปราการ ตรัง สระบุรี ปทุมธานี ลำพูน ฯลฯ โดยดำเนินการส่อทุจริตในหลากหลายรูปแบบ
แต่ “เสือเงียบแห่งคลองหลอด” ยังวางเฉยเป็น “เสือซุ่ม” คล้ายๆ จะรอดูพวกปล่อยของกันให้เต็มที่เพื่อสาวเส้นทางเงินทอนกันทีหลัง หรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะถึงเวลานี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจาก “บิ๊กป๊อก” ว่าจะเอายังไงกับพฤติการณ์ของลูกน้อง “ทีมปฏิบัติการ” ในท้องถิ่นที่แหกคอก ไม่สนใจคำสั่งของหน่วยเหนือ หรือผู้บัญชาการรบในสงครามโควิด ที่ห้ามการทุจริต เป็นคำสั่งเด็ดขาด?
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยตรง คือ ป.ป.ช. ยิงกระสุนเปิดปฏิบัติการปูพรมกวาดล้างอย่างเป็นระบบออกมาชัดเจนแล้ว
ตามถ้อยแถลงของนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานของภาครัฐเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ขณะเดียวกันก็ปรากฏข่าวคราวการทุจริตในทุกระดับ ป.ป.ช.จึงทำแนวทางป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤต โดยปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต โดยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง และคาดการณ์แนวโน้มอนาคต ตามแผนสี่ขั้นตอน
เริ่มจากวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารถึงโอกาสทุจริตท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสฯ และประสานงานกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด รวมถึงเครือข่ายชมรม STRONG สำรวจและวิเคราะห์โอกาสการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ จากนั้นวิเคราะห์และแสดงผลเป็นแผนที่ที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประเด็นที่เสี่ยงต่อทุจริตตามลำดับแล้วประสานกับเครือข่ายทั่วประเทศสอดส่องแจ้งเบาะแสในพื้นที่ของตน และกำกับ ติดตาม อย่างสม่ำเสมอ
ป.ป.ช.ได้วิเคราะห์โอกาสทุจริตในภาวะวิกฤตไวรัสฯ เอาไว้ 3 จำพวก คือ จำพวกแรก การยับยั้งและป้องกันโรค ซึ่งการดำเนินการจะมีการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์แพงที่เกินจริง ไม่มีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นคู่สัญญาของรัฐ ทุจริตการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือเบิกวัสดุที่ใช้ปฏิบัติงานพื้นที่ เบียดบังทรัพย์สินของทางราชการหรือที่มาจากการรับบริจาคเพื่อประโยชน์ส่วนตน เอื้อประโยชน์พวกพ้องเข้าเป็นคู่สัญญารัฐ รับสินบนเพื่ออนุมัติ อนุญาต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนจำพวกสอง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่อาจเกิดทุจริตได้เช่นกัน และจำพวกสาม คือการดำเนินโครงการอื่นๆ เช่น เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ การดูแลซ่อมบำรุงสาธารณูปโภคโดยมิชอบด้วยระเบียบกฎหมาย
ตามมาดูพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในท้องที่จังหวัดต่างๆ สะกิดเตือน “เสือเงียบ” ว่าลูกน้องชักเอาใหญ่แล้วนะท่าน ในการขุดคุ้ยของเพจ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน และสำนักข่าวอิศรา สื่อท้องถิ่น เช่น เชียงใหม่นิวส์ และเครือข่ายชมรม STRONG และประชาชนในพื้นที่ที่แจ้งเบาะแสกันเข้ามาไม่ขาดสาย
ไปดูการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ฯ เครื่องยังชีพสำหรับแจกจ่ายประชาชนที่ จังหวัดลำพูน กันก่อน เอากรณีการใช้จ่ายงบประมาณกว่า 16.3 ล้านบาท ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ในการจัดซื้อถุงน้ำใจหรือ แคร์เซ็ต ให้กับผู้สูงอายุ 70 ปี ที่ต้องอยู่บ้านตามคำสั่งของจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากโรคไวรัสโควิด-19 จำนวน 27,700 ชุด ชุดละ 590 บาท ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแพงไป
ผู้ว่าฯ จึงตั้งคณะกรรมการสอบ และล่าสุด ผลสอบออกมาตามคำชี้แจงของนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ว่าพบการซื้อไม่ชอบด้วยระเบียบ ทำให้เกิดความเสียหายเต็มจำนวน 16.3 ล้านบาท ผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ประมาณ 10 คน จากนี้จะตั้งกรรมการสอบวินัยและชดใช้คืน
สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบว่า อบจ.ลำพูน ใช้งบซื้อเครื่องพ่นเคมีชนิดละอองฝอยมาใช้ในภารกิจป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 สัญญา รวมวงเงินกว่า 1 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากเอกชน 2 ราย ในจังหวัดเชียงใหม่ และยังซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด 594 เครื่อง 1.8 ล้าน ตกเครื่องละ 2,900 บาท ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง หจก.เอ.ที.ซายน์ เทรดดิ้ง จากเชียงใหม่ เช่นเดิมอีกด้วย
พ่วงมาพร้อมกับจังหวัดลำพูน จังหวัดอื่นๆ ก็เจอดีไปตามๆ กัน โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โพสในเฟซบุ๊กของสำนักงานฯว่า ผู้ว่าการ สตง.สั่งให้ตรวจสอบปมทุจริตใช้จ่ายเงินหน่วยงานรัฐป้องกันควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด 3 กรณี คือ ลำพูน, ร้อยเอ็ด และภูเก็ต ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
สำหรับ **จังหวัดร้อยเอ็ด** สตง. สั่งสอบกรณีบริษัทเอกชนเสนอให้ผลประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันและควบคุมโรค โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า กลุ่มเอกชนที่อ้างนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เสนอขายชุดฆ่าเชื้อโควิด โดยเสนอให้ “เงินทอน” ร้อยละ 30
ส่วน **จังหวัดภูเก็ต** กรณีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต เผยแพร่หนังสือจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเวียนให้ นายอำเภอ ทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เทศมนตรีเมืองป่าตอง และเทศมนตรีเมืองกะทู้ เร่งรัดการจัดซื้อเครื่องพ่นสารเคมีชนิดฝอยละออง และน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริเวณสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว โดยแนบเอกสารรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
นอกจากนั้น ใน **จังหวัดปทุมธานี** สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า มีกรณีการซื้อเครื่องพ่นละอองฝอย (ULV) ยี่ห้อ CIFARELLI เพื่อนำมาใช้ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของ เทศบาลตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี ที่มีพฤติการณ์ส่อว่าจะมีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากราคาจำหน่ายในท้องตลาดและระบบออนไลน์ อยู่ที่ราคาเครื่องละ 14,500 ถึง 16,700 บาท แต่ เทศบาลตำบลหลักหก กลับจัดซื้อในราคาสูงถึงเครื่องละ 85,000 บาท แพงกว่าราคาท้องตลาดถึง 68,300 บาท เป็นจำนวน 5 เครื่อง
ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีเทศบาลนครตรัง **จังหวัดตรัง** ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ชมรม strong ต้านทุจริตภาคใต้ เผยแพร่ข้อมูลว่า เครื่องพ่นสารเคมีฝอยละออง (ULV) ที่เทศบาลนครตรังจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงยี่ห้อ STIHL SR 5600 จำนวน 5 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 7.4 หมื่น รวมวงเงิน 370,000 บาท เมื่อตรวจสอบราคาขายในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 20,000 บาท เท่านั้น และเมื่อไปติดต่อสอบถามเอกชนคู่เทียบขายสินค้า บางรายยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการติดต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด
ส่วน **จังหวัดสมุทรปราการ** การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำมาใช้ป้องกันการแพร่เชื้อฯขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ กำลังถูกจับตามอง โดยเพจ 'ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน' เปิดเผยข้อมูลว่า อบจ.แห่งนี้ใช้งบประมาณกว่า 227,000,000 บาท ในการจัดซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือป้องกันโควิด 3 รายการ จำนวน 800,000 ลิตร มีทั้งแบบถังละ 5 ลิตร 20 ลิตร และ 200 ลิตร เฉลี่ยตกลิตรละ 283 บาท ทั้งสามรายการเป็นส่วนหนึ่งของงบโควิดก้อนใหญ่ ที่มีการจัดซื้อรวม 11 รายการ งบรวม 278,336,425 บาท โดยทำสัญญากับบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างสถานีระบายน้ำ ที่ตั้งอยู่ที่ท่าทราย จ.นนทบุรี
สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบกรณีนี้ จากฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 อบจ. สมุทรปราการ ได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ สำหรับการป้องกันและควบคุมใการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 จาก **บริษัท กรีน เทคโนโลยี เอเซีย จำกัด** โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 2 สัญญา รวมวงเงินกว่า 294,500,000 บาท
ทั้งนี้ ในการจัดซื้อฯ จาก บริษัท กรีน เทคโนโลยี เอเซีย จำกัด ทั้ง 2 สัญญา มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของราคากลาง จาก 3 บริษัท เหมือนกัน คือ บริษัท กรีน เทคโนโลยี เอเซีย จำกัด บริษัท รัตนนิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท ดีดี กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด
นอกจากนั้น อบจ.สมุทรปราการ ยังมีการจัดซื้อเครื่องอากาศไร้คนขับ หรือโดรน พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 6 ชุด เพื่อนำมาใช้ในการพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 รวมวงเงินกว่า 1,810,440 บาท โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ เพราะเป็นพื้นที่สีแดงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ขณะที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระบุรี ซึ่งจัดซื้อเครื่องพ่นสารเคมีชนิดฝอยละออง (ULV) แบบสายสะพายหลัง จำนวน 10 เครื่อง วงเงิน 850,000 บาท เฉลี่ยเครื่องละ 85,000 บาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จาก บริษัท เอส บี แอล ซัพพลาย กรุ๊ป จำกัด และจัดซื้อกล้องตรวจจับอุณหภูมิความร้อนพร้อมแสดงวีดีทัศน์เพื่อป้องกันโรคโควิด จำนวน 4 เครื่องๆ ละ 5 แสนบาท รวมวงเงิน 2 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากบริษัท นิภานันท์ เซล แอนด์ เซอร์วิซ จำกัด นั้น หลังจากปรากฏข่าวคราวที่ส่งกลิ่นทะแม่ง อบจ.สระบุรี รีบตรวจสอบข้อมูลสินค้าและราคาใหม่ เห็นว่าอาจจะมีปัญหาจึงสั่งยกเลิกไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า อปท.แต่ละแห่งต่างแห่ซื้อเครื่องฉีดพ่นสารเคมีชนิดละอองฝอยกันแทบทั้งนั้น ทั้งๆ ที่กรมควบคุมโรค ได้ออกมาเตือนแล้วว่าการฉีดพ่นสารเคมีนอกจากจะไม่ได้ช่วยป้องกันกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายฟุ้งไปในอากาศอีกด้วยหากบริเวณดังกล่าวมีการติดเชื้อ และก็ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นสารเคมี บนถนน ทางเท้า ห้องทำงาน หน่วยงาน หรือห้างสรรพสินค้าแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ออกคำแถลง เรื่องการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่เพื่อทำลายเชื้อ SAR-CoV-2 (เชื้อที่เป็นสาเหตุของ COVID-19) ว่า ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด
กรณีอื้อฉาวด้วยเรื่องราวทุจริตลุกลามกันไปใหญ่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (สปท.) โพสเฟซบุ๊ก เรียกร้องว่า... โรคระบาดที่จะเกิดตามมาต่อจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด คือ โรคที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชั่น จากการเอางบประมาณฯไปซื้อของแพงเกินจริง ซึ่งจะระบาดให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ และจะทำให้พวกโกงกินทั้งหลายนอนไม่หลับและอยู่ไม่เป็นสุข
“คนลำบากทั้งประเทศ ก็ยังจะมีพวกโลภทั้งหลายเข้าฉวยโอกาสใช้งบประมาณแผ่นดินไปในทางที่ผิด ทุจริตคอรัปชั่น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตง. ป.ป.ท.และ ป.ป.ช. จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นจริงจัง และหากผิดจริงก็ต้องเอาผิดและลงโทษให้หนัก”
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐในฐานะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เจ้าเก่าก็ประกาศลั่น ไม่ปล่อยผ่านแน่นอน และฝากถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังหาช่องทางทุจริตว่าอย่าฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนที่กำลังเดือดร้อน เมื่อใดที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกและองค์กรรัฐยังเอาคนผิดมารับโทษไม่ได้ ตนเองในฐานะกรรมการ ป.ป.ช.จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายจังหวัดที่มีทุจริตเกิดขึ้น เพราะคนโกงกินพวกนี้ต้องได้รับโทษ
นอกจากนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลที่เตรียมใช้งบประมาณ 1.97 ล้านล้านบาท เพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 ว่า อย่าให้เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต และเชิญชวนประชาชนติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด พร้อมติดแฮชแท็ก “#โกงในช่วง COVID-19 คือโกงชีวิตคนทั้งชาติ : จับให้ได้ จับให้เร็ว ลงโทษให้สาสม”
จะว่าไป การทุจริตงบจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ฯ ของ อปท. ยังเป็นเมนูเคียงและน้ำจิ้ม เมนูหลักจานใหญ่ที่ต้องจับตากันต้องดูการใช้จ่ายงบประมาณก้อนใหญ่ทั้งงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ที่นำมาเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดสมัยประชุมสามัญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีการพิจารณาพระราชกำหนด 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาโควิด-19 และฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล เตรียมยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาด้วย
เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ อย่าให้ใครมาฉวยโอกาสซ้ำเติมวิกฤตให้วิกฤตมากขึ้นไปอีก และเงินแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ต้องใช้เพื่อประโยชน์สุของประชาชนและประเทศชาติ อย่าปล่อยให้พวกโกงกินฉกฉวยเอาเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง!