xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.-องค์กรต้านทุจริตสาวปมเทอร์โมสแกนสกัดโควิด-19 ลำปางส่อแพง-พังเร็ว จี้เทศบาลฯ เจรจาคืนของ-คืนเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - ป.ป.ช. ร่วมกับชมรมสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริตฯ ลงพื้นที่สาวปมเทศบาลนครลำปางซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 แจก 43 ชุมชน ส่อแพงเกินจริง เทอร์โมสแกนเออเรอร์ พังเร็ว เปิดทางคืน เปลี่ยน หรือคืนเงินเต็มจำนวน


นางวรรณภา ปัญญาผูก เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ ป.ป.ช.ลำปาง ที่ได้รับมอบหมายจากนายณรงค์ เสาเหม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายสถิตย์ นิตย์สมบูรณ์ รักษาการแทนประธานชมรมสตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.ลำปาง และคณะกรรมการชมรมฯ ลงพื้นที่พบ อสม.ชุมชนพื้นที่เทศบาลนครลำปาง ตลอดวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน และมีการเผยแพร่ข่าวไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 11 รายการ ที่เทศบาลนครลำปางจัดซื้อ และได้ทำพิธีมอบให้แก่ 43 ชุมชน เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าวัสดุอุปกรณ์บางตัวราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครื่องวัดอุณหภูมิราคาสูงถึงเครื่องละ 3,900 บาท ที่แจกให้ชุมชนวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ วัดได้เพียง 2-3 คน เครื่องก็จะไม่สามารถทำงานได้ ขณะที่เครื่องที่หน่วยงานอื่นๆ จัดซื้อมาใช้ราคาถูกกว่า ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อก็มีราคาแพงกว่าที่จำหน่ายในท้องตลาดมาก


เบื้องต้น อสม.แจ้งต่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ตัวแทนชมรมสตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริตลำปาง ว่าเทศบาลนครลำปางเป็นผู้ดำเนินการจัดทำโครงการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่าง และให้ อสม.ไปรับมอบสิ่งของ โดยกองทุนส่งเสริมสุขภาพเทศบาลนครลำปางโอนเงิน จำนวน 28,000 บาทเข้าบัญชีของชุมชน และให้ชุมชนเบิกเงินสด จำนวน 26,300 บาท มาให้ จนท.เทศบาล

และเจ้าหน้าที่ได้ให้ อสม.ซึ่งเป็นผู้มารับของเซ็นรับมอบสิ่งของ เซ็นรับเงิน เพื่อแลกกับวัสดุอุปกรณ์ที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการประสานงานจัดซื้อให้ โดยไม่สามารถตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ใดๆ ได้ และเมื่อรับวัสดุอุปกรณ์มาแล้ว ก็นำมาใช้งานและก็เกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ จึงสร้างความอึดอัดให้แก่ อสม.มาก เพราะเครื่องวัดอุณหภูมิมีความจำเป็นต้องใช้งานตลอด



นอกจากนี้ คณะเจ้สหน้าที่ ป.ป.ช. ชมรมสตรองจิตพอเพียง ทั้งหมดได้เดินทางไปยังสำนักงานเทศบาลนครลำปาง เพื่อพบนายกเทศมนตรีนครลำปาง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่นายกเทศมนตรีไม่อยู่ มีเพียงนายชาตรี สุขารมย์ ปลัดเทศบาลนครลำปาง นายยุทธนา ศรีสมบูรณ์ รองปลัดเทศบาลนครลำปาง และนายวิชญ์ศิคภัทร์ วงศ์มณี ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เข้าชี้แจงและให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว

ป.ป.ช. และคณะกรรมการชมรมสตรองจิตพอเพียง ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง สอบถามถึงประเด็นที่เกี่ยวกับที่มาของงบประมาณที่มีการจัดสรรจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ขั้นตอนการดำเนินงานและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ปลัดเทศบาลนครลำปาง และรองปลัดฯ ได้ระบุว่า กองทุนส่งเสริมสุขภาพ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพแห่งชาติตามรายหัว ซึ่งเทศบาลนครลำปาง ได้รับงบมาปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท เทศบาลฯ สมทบอีก 1.5 ล้านบาท เพื่อบริการด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยหน่วยงาน ประชาชน รวมถึงชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบสามารถเขียนโครงการเข้ามาขอใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพเทศบาลนครลำปางได้

เมื่อเขียนโครงการมาแล้วจะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการ หากคณะกรรมการเห็นชอบก็อนุมัติและจะโอนเงินให้แก่ผู้ที่เสนอโครงการให้ไปดำเนินการ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะให้ผู้เสนอโครงการสรุปการดำเนินงานส่งมาให้กองทุนฯ หากเงินที่สนับสนุนไปใช้ไม่หมดผู้เสนอโครงการก็ต้องคืนเงินกลับเข้ากองทุน

ผอ.กองสาธารณสุข ยอมรับว่าโครงการนี้นายกเทศมนตรีได้ให้เจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายพัสดุอำนวยความสะดวกให้ ช่วยทำโครงการ ประสานงานบริษัทเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดจริง แต่ทำด้วยความหวังดีเพราะต้องการให้ชุมชนมีอุปกรณ์มาใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 เพราะขณะนั้นของหายาก และเชื่อว่าชุมชนไม่น่าจะหาซื้อเองได้


ประกอบกับเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวน่าจะมีวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานเพราะได้รับการบอกต่อมาจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ส่วนที่อยู่ตนเองไม่ทราบว่าอยู่ไหน เพราะไม่ได้เป็นคนประสานงาน เพิ่งรู้จักตัวแทนบริษัทตอนที่มาสาธิตการใช้เครื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ส่วนการโอนเงินก็ให้โอนเงินเข้าชุมชนและให้ชุมชนเบิกเงินนำมาจ่ายให้ตัวแทนชุมชนที่ตั้งขึ้นมา 4 คนตามเขต เพื่อรวบรวมและส่งให้บริษัท สำหรับกรณีชุมชนที่วัสดุอุปกรณ์มีปัญหาสามารถเปลี่ยนได้เพราะบริษัทรับประกัน 1 ปี หรือหากจะขอเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่นทางบริษัทยินดีเปลี่ยนให้พร้อมกับจะมีของแถมให้ด้วย

ทั้งนี้ทาง ป.ป.ช. และคณะกรรมการชมรมสตรองจิตพอเพียง ได้ขอข้อมูลการดำเนินงานจัดทำโครงการ และข้อมูลบริษัททั้งหมดที่ีมีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้ง 11 รายการ พร้อมแนะนำให้ จนท.แจ้งกับชุมชนทั้ง 43 ชุมชน ให้ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าวัสดุอุปกรณ์ทั้ง 11 รายการที่ได้รับไปนั้น หากไม่ประสงค์จะใช้หรือชำรุดบกพร่องสามารถส่งคืนโดยบริษัทจะต้องคืนเงินตามจำนวนให้ชุมชน หรือเปลี่ยนสินค้าได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม และได้ฝากเรื่องการทำงาน ขอให้คำนึงถึงระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับประชาชนต้องให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น