“ศรีสุวรรณ” แฉอีก กฟผ.จัดซื้อ “เครื่องตรวจสอบคุณภาพแก๊ส” จากจีนตัวละกว่า 1.1 ล้านบาท ทั้งที่ราคาในเว็บอาลีบาบาแค่ตัวละ 2-4 แสน ขณะที่เครื่องญี่ปุ่นคุณภาพดีกว่า ราคาตัวละ 3.8 แสน ซ้ำยังซื้อ “เครื่องวัดความชื้นแก๊ส” จากจีนเครื่องละ 6.3 แสนบาท เครื่องญี่ปุ่นตัวละแค่ 2.9 แสน
วันนี้ (9 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมฯได้เปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างรถเข็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่า 152,956.21 บาท/คัน และเครื่องตรวจจับแก๊สรั่ว มูลค่า 350,431 บาท ซึ่งมีราคาแพงกว่าปกติทั่วไปหลายเท่า อันเป็นต้นเหตุหนึ่งนำไปสู่การกำหนดราคาค่าไฟฟ้าแพง แต่กลับมีความพยายามที่จะแก้ตัวไปแบบน้ำขุ่นเป็นพัลวันนั้น
ล่าสุด สมาคมฯ ยังพบว่ามีการจัดซื้อจัดหา “เครื่องตรวจสอบแก๊ส” หรือ Gas decomposition tester (ใช้ทดสอบคุณภาพแก๊ส SF6 : ซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูออไรด์ ในระบบไฟฟ้าแรงสูง ว่า เสื่อมสภาพหรือยังใช้งานได้อยู่) จากประเทศจีน ในราคาสูงถึงเครื่องละ 1,121,379.20 บาท ในขณะที่เครื่องดังกล่าวที่มีคุณลักษณะเดียวกันผลิตขายในญี่ปุ่นราคาเพียงเครื่องละ 380,869.02 บาทเท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า ทว่า กฟผ.กลับเลือกใช้เครื่องดังกล่าวจากประเทศจีน และเมื่อตรวจสอบราคามาตรฐานที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไปในเว็บไซต์ Alibaba ปรากฏว่า มีราคาซื้อขายเพียงเครื่องละ 6,600-13,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2-4 แสนบาทเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีการจัดซื้อจัดหา “เครื่องวัดความชื้นแก๊ส” หรือ Moisture content measuring device จากประเทศจีน ในราคาสูงถึงเครื่องละ 630,775.80 บาท ในขณะที่เครื่องดังกล่าวที่มีคุณลักษณะเดียวกันผลิตขายในญี่ปุ่นราคาเพียงเครื่องละ 291,252.78 บาทเท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า ทว่า กฟผ.กลับเลือกใช้เครื่องดังกล่าวจากประเทศจีน และเมื่อตรวจสอบราคามาตรฐานที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไปในเว็บไซต์ Alibaba ปรากฏว่า มีราคาซื้อขายเพียงเครื่องละ 1,000-4,999 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 3.2 หมื่น-1.6 แสนบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีครุภัณฑ์ที่ กฟผ. จัดซื้อจัดหามาใช้ในสถานีไฟฟ้าต่างๆ อีกเกือบ 20 รายการ ที่มีราคาแตกต่างจากมาตรฐานราคาที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไป ซึ่งเป็นข้อมูลที่สมาคมฯ ได้จัดส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว โดย กฟผ.จะต้องไปตอบคำถามกับ สตง. และอธิบายกับสังคมให้ได้ว่า การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงๆ มาใช้ในกิจการการผลิตไฟฟ้าเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กรหรือไม่ และเมื่อซื้อมาแล้วจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนทุกครัวเรือนต้องร่วมกันจ่ายนั้น ถูกลงกว่าการซื้อของที่ราคาถูกกว่าใช่หรือไม่
“นอกจากนั้น สมาคมฯ ขอฝากข้อมูลดังกล่าวไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย หรือ “Anti-Fack News Center Thailand” ด้วยว่า หากจะแก้ข่าวเพื่อมาดิสเครดิตศรีสุวรรณหรือสมาคมฯ ว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ก็ควรไปถามคนใกล้ชิดผู้บริหารของ กฟผ.ดูว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ สมาคมฯ จะได้นำหลักฐานมาพิสูจน์เพิ่มกันให้เห็นแจ้งไปเลยว่าใครเฟกกันแน่” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด