xs
xsm
sm
md
lg

มิน่า! ค่าไฟแพง “พี่ศรี” ชี้พิรุธ กฟผ.ซื้อรถเข็นก๊องแก๊งคันละ 1.5 แสนบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ จรรยา” เผยพิรุธ กฟผ.จัดซื้อครุภัณฑ์รถเข็น แบบรถเข็นผัก ราคา 1.5 แสนบาท/คัน ขณะที่ตามท้องตลาดทั่วไปราคา 1-2 พันบาท ชี้เป็นอีกสาเหตุค่าไฟฟ้าแพง จี้ สตง.ตรวจสอบจริงจังตั้งแต่ฝ่ายจัดซื้อไปจนถึงผู้ว่าการฯ

วันนี้ (23 เม.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเปิดเผยและร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาค่าไฟฟ้าแพงมากในรอบบิลที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นปัญหาซ้ำเติมประชาชนในช่วงที่รัฐบาลรณรงค์ขอร้องให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนกระทั่ง รมว.พลังงาน กฟผ. สนพ.และ กกพ.ต้องรีบออกมาแก้หน้าด้วยการเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น

การออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเพียง 3 เดือน เป็นเพียงการแก้ผ้าเอาหน้ารอดในเหตุเฉพาะหน้าของกระทรวงพลังงาน และรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ไม่เคยกลับไปทบทวนว่าต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดราคาค่าไฟฟ้าราคาแพงนั้นอยู่ที่ไหน และอย่างไร ล่าสุดสมาคมฯ ได้ตรวจสอบพบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในสำนักงานและสถานีบริการไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศมีความผิดปกติหลายประการ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหาโดยองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่องจาก ป.ป.ช. อาทิ การจัดซื้อรถเข็น (ลักษณะเดียวกับรถเข็นผักทั่วไป) เพื่อใช้ในแผนงานโครงการ Supply and Construction of 500/230 kv(GIS) ซึ่งมีราคาต่อ 1 คัน คือ 152,956.21 บาท ซึ่งหากไปหาซื้อแถวย่านวรจักร หรือย่านรังสิต ก็ไม่น่าจะเกินคันละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น แต่ทว่า กฟผ.กลับซื้อในราคาที่แพงลิบลิ่ว ซึ่งไม่แน่ใจว่ารถเข็นดังกล่าวทำด้วยทองคำหรืออย่างไร

ปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ของ กฟผ.ดังกล่าวเป็นเพียงฝุ่นใต้พรมที่ไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจกังกล่าวบริหารจัดการเงินแผ่นดินกันอย่างโจ่งครึ่ม ประหนึ่งเป็นบ่อน้ำมันของรัฐวิสาหกิจที่นำมาหล่อเลี้ยงพนักงานเจ้าหน้าที่ถึง 22,413 คน เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังกล่าวจะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการไฟฟ้า และผลักภาระทั้งหมดมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนผ่านค่า FT นั่นเอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ สตง.จะต้องตรวจสอบองค์กรการไฟฟ้าดังกล่าวอย่างจริงจังและรวดเร็ว ตั้งแต่ฝ่ายจัดซื้อเรื่อยไปจนถึงผู้ว่าการฯ ว่ามีส่วนรับรู้การจัดซื้อจัดหาพัสดุหรืออุปกรณ์ในราคาแพงกว่าปกติหรือไม่อย่างไร เพราะแต่ละแผนงานโครงการฯ มีการตั้งงบจัดซื้อนับพันล้านบาท อาทิ สัญญาเลขที่ W100321-222M-SPPC-S-02 มีมูลค่าถึง 1,130,698,504.73 บาท เพื่อที่จะได้นำมาลงโทษและกำหนดมาตรการป้องกันที่เข้มงวดต่อไป





นายศรีสุวรรณ จรรยา(แฟ้มภาพ)


กำลังโหลดความคิดเห็น