xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “สารสาสน์” “ครูไทย” ทำร้ายเด็ก “ครูฝรั่ง” ไม่มีใบอนุญาต ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 การใช้ความรุนแรงของ “ครูจุ๋ม” ที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อีกหนึ่งดรามาร้อนๆ เติมเชื้อไฟให้  “กระทรวงศึกษาธิการ”  ชนิดที่เรียกว่าสะท้านสะเทือนไปทั้งวงการครู สืบเนื่องจากกรณี  “ครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็ก”  หลังจากมีการนำคลิปครูโหดทำร้ายเด็กอนุบาลมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่เพียงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนัก ยังกลายเป็นไฟลามทุ่งเนื่องจากพบครูอีกหลายรายมีพฤติกรรมรุนแรงไม่ต่างกัน นำสู่การตรวจสอบขยายผลและดำเนินคดีทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังมีการนำทัพเข้าตรวจสอบนำโดย  “ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์”  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ  ผู้บริหารและครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์  พร้อมย้ำว่าไม่มีมวยล้มอย่างแน่นอน ด้วยสไตล์ดุดันสุดปังปุริเย่ ก็พอจะสร้างความมั่นให้กับผู้ปกครองขึ้นมาได้บ้าง

ข้อเท็จจริงกรณีจาก “น.ส.อรอุมา ปลอดโปร่ง” หรือ “ครูจุ๋ม” ครูพี่เลี้ยง ประจำชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ก่อเหตุมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทำร้ายเด็กอนุบาล ทั้งผลักเด็ก จับหัวดึงผม ใช้ไม้กวาดตีเด็ก โขกหัวเด็ก โดยครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีใครห้าม คลิปวิดิโอเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นประเด็น Talk of the town ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบพฤติกรรมครูพี่เลี้ยงหลายคนใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายเด็กเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่าครูพี่เลี้ยงตัวปัญหา ไม่มีใบวิชาชีพครู  จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งกรณี  “ครูมาวิน”  หรือ  ”นายมาร์วิน ลิวานัก โอเรโฮล่า”  ครูต่างชาติชาวฟิลิปปินส์ ที่เป็นครูร่วมห้องเรียนกับครูจุ๋ม ซึ่งเข้าทำงานอย่างผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการยืนยันสถานะของ “ครูจุ๋ม ผู้ก่อเหตุ” ว่าเป็นเพียง  “พี่เลี้ยงเด็ก”  ไม่ได้มีสถานะเป็น “ครู”  ล่าสุด ถูกไล่ออกและดำเนินคดีตามกฎหมายฐานความผิดการทำร้ายร่างกายจนเกิดเหตุ ทำให้ได้รับอันตรายทั้งกายและจิตใจ และฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ส่งผลต่อเด็ก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อเเจ้งข้อหาครูพี่เลี้ยงที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับเด็กให้ครบทุกคน

ขณะที่ “ครูมาวิน” นั้น เข้าประเทศไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว อยู่ในประเทศได้ 30 วัน โดยเข้ามาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 63 ยื่นเอกสารขออยู่ถึงวันที่ 26 ก.ย. 63 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนั้นยื่นเรื่องขออยู่ต่อถึงวันที่ 26 ต.ค. 63 อยู่ระหว่างรออนุมัติ ก่อนสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนดังกล่าว ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนละ 20,000 บาท และหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้อง ศาลแขวงจังหวัดนนทบุรี พิพากษาว่า “ครูมาวิน” มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 8 , 101 วรรคหนึ่ง ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 5,000 บาท

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดปกติของบุคคลากรในแวดวงการศึกษาไทย การใช้อำนาจข่มเหงรังแกนักเรียน รุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู และสะท้อนกลับไปยังสถาบันการศึกษาถึงเกณฑ์การเลือกรับบุคคลากรคุณภาพต่ำ โดยมุ่งเน้นเพียงแต่ผลกำไร

ทั้งนี้ หลังเกิดคำถามในสังคมขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นตรรกะวิปริตของผู้บริหารสะท้อนผ่านคำสัมภาษณ์ถึงเกณฑ์ในการเลือกพี่เลี้ยงมาสอนเด็กอนุบาล  “นายพิบูลย์ ยงค์กมล”  ประธานโรงเรียนสารสาสน์ เปิดเผยผ่านรายรายการโหนกระแส ทำนองว่าให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพี่เลี้ยงที่หน้าตาดูสะอาด ปากไม่เหม็น ให้ขูดหินปูนฟรี แต่ไม่มีเกณฑ์คัดกรองอื่นใดมากกว่านี้

ทว่า ในเวลาต่อมา  นายพิสุทธิ์ ยงค์กมล  ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ผู้เป็นลูกชาย แก้ตัวให้กับผู้เป็นพ่อว่า “จากที่นายพิบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในสื่อหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา อาจจะมีการสื่อสารจากการโทรศัทพ์ด้วยเสียงที่ไม่ชัด ทำให้นายพิบูลย์พูดและสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด ซึ่งนายพิบูลย์ไม่มีเจตนาตามที่หลายคนเข้าใจ และนายพิบูลย์ ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือ ให้ความยุติธรรมกับนักเรียน เพราะนายพิบูลย์เป็นครูมาตลอด 70 ปี ดังนั้นปัญหาทุกอย่างจะได้รับความคลี่คลายและทุกคนจะได้รับความยุติธรรม”

พร้อมกับกล่าวด้วยว่า “ผมไม่มีอะไรจะฝากถึงผู้ปกครอง นอกจากคำว่าขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราขออภัยผู้ปกครอง ขออภัยพี่น้องประชาชน ขออภัยพ่อแม่ที่ได้ให้ความไว้วางใจกับสารสาสน์แล้วเราทำให้ผิดหวัง แต่ขอยืนยันว่าทุกอย่างจะดีขึ้น” 

ขณะที่  นายสุทธิพงศ์ ยงค์กมล  เปิดเผยถึงแนวทางของเครือสารสาสน์ในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า นอกจากจะมีมาตรการเยียวยานักเรียนและผู้ปกครองแล้ว ทางโรงเรียนที่เกิดเหตุจะปรับโครงสร้างโรงเรียนใหม่โดยคณะทำงานส่วนกลางเข้าไปบริหารจัดการ และทำงานควบคู่กับผู้อำนวยการคนใหม่และจะนำคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องปฐมวัยมาออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน พร้อมกับพัฒนาครูและบุคลากรทุกฝ่ายของโรงเรียนอนุบาล เราจะถือวิกฤตที่เกิดขึ้นมาทบทวนอย่างจริงจัง จะปฏิรูปและตรวจสอบโรงเรียนในเข้มงวดยิ่งขึ้น

 กล่าวสำหรับโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เป็นสถานศึกษาเอกชนในกลุ่มโรงเรียนสารสาสน์ที่มีเครือข่าย 42 สาขา มีนักเรียนนักศึกษาในเครือข่ายกว่า 90,000 คน ปี 2562 กำไรสะสม 4,556,749,524 บาท เคยเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีรายได้มากที่สุดในประเทศ 

สุทธิพงษ์ ยงค์กมล (ซ้าย) และ  พิสุทธิ์ ยงค์กมล (กลาง) 2 ทายาทของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ธุรกิจการศึกษาเอกชนที่เก่าเก่าและมีผลกำไรมหาศาล | นายพิบูลย์ ยงค์กมล ประธานโรงเรียนสารสาสน์ (ขวา)
อย่างไรก็ดี หากกล่าวว่าเป็นโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแตะหลักแสน แต่คุณภาพสวนทางกับราคาที่จ่ายก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะพบปัญหาว่าเครือข่ายกลุ่มโรงเรียนสารสาสน์ 34 แห่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครอง ปัญหาอันดับ 1 คือ การบูลลี่ภายในโรงเรียน อันดับ 2 การเก็บค่าธรรมเนียมที่แพงเกินจริง และการทำร้ายร่างกายในโรงเรียน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษา ยังมีครูโหดทำร้ายเด็กอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ถูกเปิดเผยตัวตน ไม่ปรากฎหลักฐานกระทำผิดโจ่งแจ้งดังเช่นกรณี ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนสารสานส์วิเทศราชพฤกษ์

บทความเรื่อง “บทเรียนซ้ำซากครูทำร้ายเด็ก” โดย ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ mgronline.com สะท้อนว่าผู้บริหารของโรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ตลอดจนภาครัฐโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะดำเนินการอย่างไร

ที่น่ากังวลที่สุด คือ กรณีเด็กถูกทำร้ายจากครูเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กที่ถูกกระทำซ้ำ ๆ มีแนวโน้มจะก้าวร้าว มีปัญหาทางจิตใจ และมีแนวโน้มจะใช้กำลังกับผู้อื่นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 “ผลวิจัยของกรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออสตินในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เคยศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการทำโทษด้วยการตีเด็ก มีการสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 160,927คน พบว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าการทำโทษเด็กด้วยการตบตีทำให้เด็กมีผลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการได้จริง แต่การที่เด็กอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น” 

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ระบุว่าเรื่องการทำร้ายเด็ก ไม่ใช่เป็นเรื่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่การทำร้ายทางด้านจิตใจก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะครูที่ไม่ตีเด็ก แต่ใช้วิธีดุด่า ต่อว่า ด่าทอ หรือตวาดเสียงดังใส่เด็ก กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่กลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด หรือกดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

ข้อเตือนใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง เริ่มตั้งแต่เวลาเลือกโรงเรียนให้ลูก ไม่ใช่ดูเพียงแค่ชื่อเสียงของโรงเรียน สถานที่ใหญ่โตสวยงาม ห้องเรียนมีเครื่องปรับอากาศ ห้องน้ำสะอาดมีเฉพาะสำหรับเด็ก หรือเพราะโบชัวร์ที่ดูดี เพราะเท่ากับว่าเรากำลังดูแค่เปลือกภายนอกเท่านั้น

การเลือกโรงเรียนให้ลูกต้องดูที่แนวทางการศึกษา การเรียนการสอน การได้ไปทดลองดูห้องเรียน ได้พูดคุยกับผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่งต้องพูดคุยถึงทัศนคติ มุมมอง วิสัยทัศน์ รวมไปถึงแนวทางการดูแลเด็กเล็ก แม้อาจจะดูได้เบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็เป็นเบื้องต้นที่ผ่านด่านแรก จากนั้นเมื่อถึงวันเปิดเทอมเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่ต้องพูดคุยกับครูประจำชั้น การสังเกตทั้งการกระทำ พฤติกรรมที่ครูทำกับเด็ก เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีวิธีสังเกต

“สิ่งที่คนเป็นครูควรรู้ ก็คือ เรื่องการทำร้ายเด็กคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งน่าตกใจที่มีคุณครูจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก นี่ยังไม่นับรวมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ (1) สิทธิในการอยู่รอด (2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ (4) สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทย ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535” ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ระบุ

 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นโต้โผใหญ่ สรุป 3 แนวทางแก้ไข 1. ให้โรงเรียนปรับแนวทางการบริหารใหม่ทั้งหมด ตามกรอบระยะเวลา15-30 วัน หลังพบในหลายปัญหา 2. หากไม่สามารถปรับแนวทาง แก้ไข ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อาจต้องให้โรงเรียน งดรับนักเรียนในชั้นที่มีปัญหาการศึกษานั้นๆ และ 3. ขั้นสูงสุด หากโรงเรียนไม่สามารถปรับแก้ปัญหาได้ และยังพบการกระทำผิดซ้ำ อาจต้องให้โรงเรียนงดการเรียนสอนชั่วคราว 


ทั้งนี้ เงื่อนไขการรับครูในการสอนของโรงเรียนเอกชน เบื้องต้นจะต้องเป็นครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู ถ้าเป็นครูฝึกสอนหรือนักศึกษาฝึกสอนจะต้องมีใบอนุญาตจากทางสภาครู ขณะที่การรับพี่เลี้ยงที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนจะเป็นผู้จัดสรรบุคลากรเอง

หลังจากเหตุการณ์ครูพีเลี้ยงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับเด็ก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะจัดทำแนวการอบรมในการดูแลเด็กปฐมวัยให้กับพี่เลี้ยงทุกคน ก่อนที่ทางโรงเรียนเอกชนจะรับเข้าไปทำงาน รวมถึงโรงเรียนเอกชนจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลของครูผู้สอนว่ามีใบประกอบวิาชีพหรือไม่ ตลอดจนข้อมูลรายละเอียดประวัติครูพี่เลี้ยง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ โรงเรียนต้องเผยแพร่กล้องวงจรปิดให้ผู้ปกครองดูได้ เพื่อเป็นการมอนิเตอร์เด็กนักเรียนในห้องซึ่งเป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ปกครอง

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 23/2563 ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องดังกล่าวและรับทราบข้อเท็จจริงอันรับฟังในเบื้องต้นได้ว่ามีเด็กนักเรียนถูกกระทำความรุนแรงในสถานศึกษา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563

อ้างอิง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 71 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมฯ ประกอบกับอนุสัญญาว่า ด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ข้อ 19 กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทั้งปวงในอันที่คุ้มครองเด็กจากความรุนแรงทางร่ายกายและจิตใจ การทำร้ายหรือการกระทำอันมิชอบฯ และข้อ 37 (ก) กำหนดให้รัฐภาคีประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้ายฯ ขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ยังให้การคุ้มครองเด็กและเด็กปฐมวัยให้อยู่รอดปลอดภัยและพ้นจากการถูกล่วงละเมิดไม่ว่าทางใด


 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญฯ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายภายในประเทศ เป็นกรณีที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับสถานศึกษาระดับใด กสม. มีมติให้ตรวจสอบและศึกษากรณีบุคลากรของโรงเรียนกระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเชิงระบบ

ในประเด็นนี้ “ลุงตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฝากถึงครูที่มีอยู่ 4 แสนกว่าคนทั่วประเทศ ว่า การลงโทษเด็ก ขอให้กระทำอย่างระวังที่สุด อย่าให้กลายมาเป็นปัญหา เป็นเงื่อนไขกลับมาที่รัฐบาล

สำหรับปัญหาเรื่อง  “ครูต่างชาติ”  ที่พาเหรดกันเข้ามาสอนหนังสือในประเทศไทย โดยเฉพาะ  “ภาษาอังกฤษ” นั้น ก็ต้องถือเป็นขยะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยบรรดาโรงเรียนต่างๆ ที่เปิดสอนสองภาษามีความต้องการ “ครูต่างชาติ” เป็นจำนวนมาก สวนทางกับ “ครูสอนภาษาชาวไทย” ที่ขาดแคลนทั้งในเรื่องจำนวนและคุณภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่า ครูชาวต่างชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานศึกษา ซึ่งจากการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการครูต่างชาติ เพื่อเข้ามาสอนภาษาต่างประเทศและวิชาชีพ มีความต้องการครูประมาณ 20,000-30,000 คน และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องหาแนวทางในการจัดหาครูชาวต่างชาติมาสอนในสถานศึกษาของไทย เพื่อยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย และครูไทยในการต่อยอดพัฒนาความรู้จากครูต่างชาติ

อย่างไรก็ดี การจ้างครูต่างชาติมีหลายประเด็นต้องพิจารณา ทั้งในเรื่องความหลากหลายของสำเนียงภาษาอังกฤษ, ใบประกอบวิชาชีพของครูสำหรับชาวต่างชาติ ฯลฯ และถือเป็นปัญหาของ “กระทรวงศึกษาธิการ” ในการจัดหา “แม่พิมพ์ต่างชาติ” ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย เพราะในความเป็นจริงชาวต่างชาติที่เข้ามาสอนภาษาในเมืองไทย บางคนไม่ได้เป็นครูจริงๆ เป็นเพียงฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษได้เท่านั้น

 ทั้งสองกรณีศึกษาต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แถมเกิดซ้ำๆ ตามมาซึ่งกระแสวิจารณ์เป็นระยะ นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ข้อใหญ่ของรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจะสะสางปัญหาทั้งหลายทั้งปวงอย่างไร!?* 



กำลังโหลดความคิดเห็น