xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนซ้ำซากครูทำร้ายเด็ก/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวคราวกรณีที่เด็กอนุบาลถูกครูทำร้ายและถูกนำมาเผยแพร่ผ่านคลิปจนกลายเป็นประเด็น Talk of the Social Media สร้างความสะเทือนใจให้กับบรรดาคนเป็นพ่อแม่ และผู้คนในสังคมอีกครั้ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก!


หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังไม่แก้ปัญหานี้จริงจัง นี่ก็จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอีกเช่นกัน สังคมนี้จะต้องเจอปัญหานี้แบบซ้ำซาก และต้องลุ้นเอาว่าเด็กคนไหนจะเป็นเหยื่อรายต่อไป และจะรุนแรงกว่านี้หรือไม่

กรณีที่เกิดขึ้นคงไม่ต้องตอกย้ำหรือประณามคนเป็น “ครู” ว่ากระทำกับเด็กอนุบาลเยี่ยงนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสังคมยอมรับไม่ได้ และไม่มีวันยอมรับได้ ตอนนี้ก็ต้องดูที่กระบวนการหลังจากนี้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งล่าสุดผู้บริหารโรงเรียนได้ไล่ครูที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกแล้ว และแม้แต่ผู้บริหารโรงเรียนเองก็ทำท่าว่าจะไปไม่รอด

จากนี้ก็เป็นเรื่องของกฎหมายแล้วว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไรบ้าง เพราะดูเหมือนจำเลย และพยานทั้งบุคคลและวัตถุ มีมากเกินบรรยาย

แต่เรื่องก็ไม่ควรจบเพียงเท่านี้!

เพราะผู้บริหารของโรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ ทั้งกระบวนการรับครูปฐมวัย และพี่เลี้ยงเข้ามาอย่างไร มีกระบวนการคัดสรร ติดตาม และประเมินผลหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องดูแลเด็กเล็ก ผู้บริหารของโรงเรียนได้มีความใส่ใจในมาตรการดูแลความปลอดภัยแค่ไหน และจากนี้ไปจะแก้ไขปัญหาอย่างไรที่เป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่เพียงไล่ครูที่ก่อเหตุเท่านั้น

ในขณะที่ภาครัฐเอง กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้อย่างไร ปล่อยไปตามยถากรรม หรือมีมาตรการจริงจังในการดำเนินการทั้งในเรื่องการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลเด็กให้ปลอดภัยหรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุด ได้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง

เรื่องเด็กถูกทำร้ายจากครูเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กที่ถูกกระทำซ้ำ ๆ มีแนวโน้มจะก้าวร้าว มีปัญหาทางจิตใจ และมีแนวโน้มจะใช้กำลังกับผู้อื่นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ผลวิจัยของกรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออสตินในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เคยศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการทำโทษด้วยการตีเด็ก มีการสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 160,927 คน พบว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าการทำโทษเด็กด้วยการตบตีทำให้เด็กมีผลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการได้จริง แต่การที่เด็กอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น

ความจริงเรื่องการทำร้ายเด็ก ไม่ใช่เป็นเรื่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่การทำร้ายทางด้านจิตใจก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย เพราะครูที่ไม่ตีเด็ก แต่ใช้วิธีดุด่า ต่อว่า ด่าทอ หรือตวาดเสียงดังใส่เด็ก กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่กลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด หรือกดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเตือนใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่เองก็ต้องมีวิธีในการปกป้องลูก และใกล้ชิดลูกเพียงพอที่จะมองเห็นปัญหาเช่นกัน

เริ่มตั้งแต่เวลาเลือกโรงเรียนให้ลูก ก็ไม่ใช่ดูเพียงแค่ชื่อเสียงของโรงเรียน สถานที่ใหญ่โตสวยงาม ห้องเรียนมีเครื่องปรับอากาศ ห้องน้ำสะอาดมีเฉพาะสำหรับเด็ก หรือเพราะโบชัวร์ที่ดูดี เพราะเท่ากับว่าเรากำลังดูแค่เปลือกภายนอกเท่านั้น

แต่การเลือกโรงเรียนให้ลูกต้องดูที่แนวทางการศึกษา การเรียนการสอน การได้ไปทดลองดูห้องเรียน ได้พูดคุยกับผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่งต้องพูดคุยถึงทัศนคติ มุมมอง วิสัยทัศน์ รวมไปถึงแนวทางการดูแลเด็กเล็ก แม้อาจจะดูได้เบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็เป็นเบื้องต้นที่ผ่านด่านแรก จากนั้นเมื่อถึงวันเปิดเทอมเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่ต้องพูดคุยกับครูประจำชั้น การสังเกตทั้งการกระทำ พฤติกรรม ที่ครูทำกับเด็กเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีวิธีสังเกต

แต่ประเด็นที่เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ต้องมีความใกล้ชิดกับลูก มีเวลาให้ลูก ถ้าสามารถไปรับไปส่งลูกเองได้ ก็จะมีช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกับครูประจำชั้น พี่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน สำหรับเด็กเล็กเป็นเรื่องจำเป็นที่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีเครือข่ายพ่อแม่ในการพบปะ เพราะสามารถช่วยเหลือดูแลเด็ก ๆร่วมกันได้

ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ได้สังเกตด้วยว่าลูกของเราเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละวัน มีความสุขดี หรือเกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียนหรือไม่

เมื่อกลับถึงบ้าน ถ้าพ่อแม่มีเวลาก็แนะนำให้ดูแลลูกด้วยตัวเอง เช่น ช่วงเวลาอาบน้ำ กินข้าว ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะทำให้มีโอกาสได้พูดคุย สอบถามถึงเพื่อนที่โรงเรียน คุณครูเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะสังเกตถึงพฤติกรรมของลูกได้ว่าแสดงออกอย่างไร

สัญญาณเตือนสังเกตได้จากอะไรบ้าง

หนึ่ง – สัญญาณจากร่างกาย


ช่วงเวลาที่อาบน้ำ พ่อแม่ควรจะต้องสังเกตตามร่างกายของลูกด้วยว่ามีรอยแผลอะไรหรือเปล่า ซึ่งเป็นธรรมดาที่เด็กเล็กมักจะมีแผลกลับบ้านให้เห็นอยู่เสมอ เช่น รอยช้ำ แผลข่วน แผลถลอก ฯลฯ ก็ควรสอบถามลูกว่าไปโดนอะไรมา สำหรับเด็กเล็กมักจะไม่ปิดบัง หรือถ้าปิดบังเพราะถูกขู่มาไม่ให้บอกพ่อแม่ ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกจะจับได้ ฉะนั้น ควรใช้วิธีค่อย ๆ พูดคุย อย่าคาดคั้น พร้อมทั้งบอกลูกว่าพ่อแม่รักลูก มีอะไรก็ขอให้บอกพ่อแม่ เพราะไม่ควรมีใครทำร้ายลูกได้ เป็นสิ่งที่ผิด

สอง – ลูกไม่อยากไปโรงเรียน


การไม่อยากไปโรงเรียนของลูก อย่าตีความว่าลูกขี้เกียจ หรือลูกหาเรื่องไม่โรงเรียน แต่พ่อแม่ควรต้องมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นด้วยว่าทำไมลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียน อาจเกิดจากการทะเลาะกับเพื่อน หรือโดนครูทำร้าย หรือเพื่อนทำร้าย หรือเรียนหนักเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องสังเกต และค่อย ๆ พูดคุยหาสาเหตุด้วย เพราะประเด็นอาจต่อเนื่องมาจากข้อแรกทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนก็ได้

สาม – ลูกซึมลง


พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น ลูกซึมลง กินข้าวน้อยลง ไม่ค่อยพูด ทั้งที่ปกติลูกเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส ก็ต้องสังเกตว่าเป็นพฤติกรรมที่กลับจากโรงเรียน หรือกลับจากที่ใดหรือไม่ เพราะถ้าพ่อแม่ปล่อยเอาไว้ ลูกอาจมีความกดดัน ซึ่งเด็กที่ถูกทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ

สี่ – ฝันร้ายบ่อย ๆ


หากลูกมีปัญหาเรื่องของการนอนไม่หลับ ฝันร้าย ผวา ละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากความเครียดที่มาจากการที่ลูกถูกทำร้ายก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรหาสาเหตุเพื่อที่จะแก้ไขอย่างทันท่วงที

ห้า – โผเข้าหาพ่อแม่


ถ้าปกติลูกไม่เคยโผเข้ากอดพ่อแม่หลังไปรับ แต่จู่ ๆ ลูกวิ่งโผเข้าหาพ่อแม่ หรือร้องไห้เข้าใส่ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจมีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นกับลูก หรือบางครั้งลูกอาจแสดงอาการงอแงทันทีที่ถึงบ้านเพราะอยู่ต่อหน้าครูที่โรงเรียนแล้วไม่กล้า

จริง ๆ ผู้เป็นครูไม่ใช่ว่าทำโทษเด็กที่ทำผิดไม่ได้ เพราะครูที่ดีก็ควรมีจิตวิทยาในการดูแลเด็ก ถ้าเด็กทำผิดต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ ก็มีวิธีแก้ปัญหาก่อนที่จะลงโทษ ครูต้องกำหนดกฎเกณฑ์ภายในห้องเรียนก่อน การกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ รวมไปถึงวินัย และการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน เป็นการสอนให้เด็กรู้ว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์ภายในห้องเรียนก็ต้องปฏิบัติตาม และต้องใช้เหตุผลในการพูดคุยด้วย จากนั้นก็ค่อยกำหนดบทลงโทษกรณีที่ทำผิดแบบมีขั้นตอน เช่น ว่ากล่าวตักเตือน งดขนม ฯลฯ

และถึงที่สุด สิ่งที่คนเป็นครูควรรู้ ก็คือ เรื่องการทำร้ายเด็กคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งน่าตกใจที่มีคุณครูจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

นี่ยังไม่นับรวมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ (1) สิทธิในการอยู่รอด (2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ (4) สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทย ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535

แต่สิ่งสำคัญที่สุด โปรดระลึกไว้ด้วยว่าถึงเราจะเป็น “ครู” แต่ก็ไม่ใช่จะกระทำอะไรลูกศิษย์ก็ได้

ลองนึกดูว่าถ้า “ครู” มี “ลูก” ในฐานะแม่คนจะยอมให้ใครคนไหนมากระทำเช่นนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น