xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบล้มเจ้า 19 ก.ย. จุดเปลี่ยนของเกม

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



ปลายสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน สถานการณ์การเมืองไทยพลิกผัน เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันชนิดที่คาดไม่ถึง

การพลิกผัน เรื่องแรก คือ สมาชิกวุฒิสภาผนึกกำลังกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาลสกัดความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการตั้ง กรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านทั้ง 6 ร่าง ซึ่งจะต้องลงมติรับหรือไม่รับในการประชุมร่วม ส.ว.-ส.ส วันที่ 24 กันยายน เป็นผลให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องชะลอออกไป 30 วันเพื่อรอผลการศึกษา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนที่จัดการชุมนุมต่อเนื่อง ทั้งชุมนุมใหญ่ ชุมนุมย่อยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา โดยการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นวันที่ 16 สิงหาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้กลยุทธ์ไม้นวมใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว โอนอ่อนผ่อนปรน ส่งสัญญาณให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด จนเป็นที่มาของการยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งสิ้น 6 ร่าง ซึ่งเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน

ก่อนหน้านั้น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนำโดย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สองนักศึกษาธรรมศาสตร์ กับอานนท์ นำภา นัดชุมนุมวันที่ 19 กันยายนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการตีปี๊บโฆษณาล่วงหน้าว่า จะเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มีผู้มาร่วมหลายหมื่นกระทั่งถึงแสนคน จะมีการปราศรัยแบบ “บึ้มๆ” จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ จะยึดสนามหลวง จะมีการเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และจะไม่ “กลับมามือเปล่า”

ม็อบ 19 กันยาฯ ที่ย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาชุมนุมที่สนามหลวง ล้มเหลว กลายเป็นม็อบแป๊กมีผู้ร่วมชุมนุมไม่น้อย แต่ก็ไม่มากมายอย่างที่คุยโวไว้ ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง พอถึง “ย่ำรุ่ง” อันเป็นเวลาที่เลียนแบบฤกษ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎร์ที่จะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ผู้ร่วมชุมนุมก็เหลือเพียงหยิบมือเดียว แกนนำต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน และจบการชุมนุมแบบฉับพลัน ชนิดที่ผู้ร่วมชุมนุม และแนวร่วมที่เอาใจช่วยอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนตั้งตัวไม่ทัน ว่าเกิดอะไรขึ้น

ม็อบ 19 กันยาฯ เปลือยตัวตนให้เห็นว่า นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ไม่มีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย ไม่สามารถเปลี่ยนแฮชแทกในทวิตเตอร์ให้เป็นจำนวนผู้ร่วมชุมนุมได้ ขณะเดียวกัน ในหมู่แกนนำก็มีการแตกแยกระหว่างม็อบ 10 ข้อ ของเพนกวิน ที่จ้องล้มสถาบันตามแนวทางของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับม็อบ 3 ข้อในนามคณะประชาชนปลดแอกที่เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกวันที่ 16 สิงหาคมที่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย เพนกวิน และรุ้ง ถูกห้ามขึ้นเวทีม็อบ 19 กันยายนของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ไม่มีแกนนำคณะประชาชนปลอดแอก อย่างเช่น “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และแกนนำจากจุฬาฯ ขึ้นเวทีเช่นกัน

ม็อบ 19 กันยาฯ ยังก่อให้เกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรงจาก “พลังเงียบ” ที่รับไม่ได้กับการปราศรัยที่มีแต่เรื่องการดูหมิ่น โจมตี ให้ร้ายสถาบันอย่างหยาบคาย นักธุรกิจที่ปกติ จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่าง “ปลาวาฬ” วรสิทธิ์ อิสสระ และวรวรรณ ธาราภูมิ ซีอีโอบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง ทนไม่ได้จนต้องออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่กลัว “ทัวร์ลง” จากกองทัพอวตาร ปลาวาฬ และวรวรรณ คือ ตัวแทนของพลังเงียบหลายล้านคน ที่ติดตามการชุมนุม การปราศรัยของม็อบ 19 กันยาฯ ว่า จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไร แต่สุดท้ายแล้ว กลายเป็นเวทีจาบจ้วงโจมตีสถาบันอย่างเดียว ไม่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาการศึกษา ปัญหากระบวนการยุติธรรม ปัญหาปากท้อง ฯลฯ

ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือนการชุมนุมของนักศึกษา นักเรียนที่มีการใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสร้างกระแสให้ดูคึกคัก ยิ่งใหญ่ การออกแบบการเคลื่อนไหวให้มีการชุมนุมในสถาบันการศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การขยายการเคลื่อนไหวลงไปในกลุ่มนักเรียนมัธยมที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า นักเรียนเลว สลับกับการชุมนุมใหญ่เป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม มาจนถึงม็อบ 19 กันยาฯ ไม่ได้มีผู้ร่วมชุมนุมมากพอ แกนนำการชุมนุมไม่มีขีดความสามารถที่จะขับเคลื่อน หรือยกระดับการชุมนุมได้

ม็อบ 19 กันยาฯ พิสูจน์ว่า พลังคนรุ่นใหม่มีอยู่แต่ในโลกเสมือนจริง ที่แสดงออกด้วยการกดไลค์ กดแชร์ และคอมเมนต์ที่รุนแรง หยาบคายต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่อ่อนเปลี้ยในโลกแห่งความเป็นจริง จึงทำให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถเปลี่ยนเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่หวั่นเกรงเลยว่า จะเป็นการเติมเชื้อไฟจุดกระแสการต่อต้านในหมู่นักศึกษาขึ้นมาอีกเฮือกหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ม็อบ 19 กันยาฯ ดึงพรรคก้าวไกลออกมาจากเงาสลัว ให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า มีจุดยืนอย่างไร ในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ การจำกัดหรือกำจัดการเติบโต ขยายตัวของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

ชัยชนะในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ของพรรคอนาคตใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากกระแสความนิยมในตัวหัวหน้าพรรค นโยบายการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย แต่ปัจจัยสำคัญคือ การที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขต เพราะกลยุทธ์แตกแบงก์พัน แยกแกนนำ ออกตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา แต่ด้วยความผิดพลาดในเรื่องตัวหัวหน้าพรรค จนถูกยุบพรรคเสียก่อน ทำให้หลายๆ พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย คะแนนถูกเทไปให้พรรคอนาคตใหม่

อีกปัจจัยหนึ่งคือ พรรคอนาคตใหม่ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้พรรคอนาคตใหม่กวาด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 57 เสียง จาก ส.ส.ของพรรคทั้งหมด 87 เสียง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย เพราะ ส.ส.เขตที่ได้มากที่สุด 137 เสียง มีจำนวนมากกว่า “ส.ส.ที่พึงมี” แล้ว

ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด พรรคเพื่อไทยจะเป็นกำลังสำคัญในการเอาชนะพรรคก้าวไกล ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ซึ่งหมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้น และจะต้องเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยด้วย

นี่คือ ที่มาของประกาศิตจันทร์ส่องหล้า ที่นำไปสู่การล้างไพ่แบบฉุกละหุกเร่งรีบของพรรคเพื่อไทย และเป็นที่มีอันเนื่องมาจากม็อบ 19 กันยาฯ ที่สาดแสงให้เห็นกันว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังพลังคนรุ่นใหม่ แม้จะอ่อนแรง แต่ด้วยวัยอันมุทะลุดุดัน และอัตตาที่ถูกส่งเสริม สามารถที่จะทำเรื่องที่นึกไม่ถึงได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องจำกัดการขยายตัว หรือกระทั่งกำจัดการมีอยู่ ทั้งแกนนำการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และบทบาทของพรรคก้าวไกลในสภาฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น