“บัญญัติ” วิเคราะห์ 3 ความหวังในการแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ 7 ประเด็นเนื้อหาที่ต้องแก้ไข ระบุที่มานายกฯ ไกลประชาธิปไตยไปหน่อย ย้ำต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองและคนรุ่นใหม่เข้าร่วมคณะร่าง รธน.
วันนี้ (25 ส.ค.) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคฯ ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคเป็นประธาน ได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom หัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางออก ทางรอด” นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำหนดประเด็น ข้อเสนอและรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กับสาขาของพรรค ตัวแทนพรรค และสมาชิกพรรคได้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายบัญญัติได้กล่าวในงานสัมมนาถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคฯ ได้แสดงออกไว้ตั้งแต่ในช่วงของการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่การแสดงออกทางการเมืองโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เปิดช่องอะไรมากด้วยซ้ำ แต่คนของพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น และตน ก็ได้แสดงออกชัดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งการพิจารณารัฐธรรมนูญว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ควรแก่การรับหรือไม่นั้น ควรมอง 3 ส่วน คือ 1. ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2. กระบวนการจัดทำ และ 3. เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ
นายบัญญัติกล่าวว่า ในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอย่างน้อย 7 ประเด็นที่น่าจะนำไปสู่การพิจารณาดังกล่าว ประเด็นที่ 1 คือ มีเนื้อหาที่สร้างความยุ่งยากหลายเรื่อง ซึ่งมีอย่างน้อยมี 5-6 ยุ่งที่มองเห็นชัดเจน คือ
1. การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใช้เวลาในการประกาศผลช้าที่สุด โดยตามปกติทุกครั้งเวลาที่มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ผ่านมา เพียง 1-2 วันก็ทราบผลแล้ว แต่ฉบับนี้ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน กว่าจะประกาศผลได้ เพราะสูตรการนับคะแนนยุ่งไปหมด 2. การคำนวณบัญชีรายชื่อพรรค ภายใต้สูตรของระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยเฉพาะคำว่า “จำนวน ส.ส.ที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ” ก็ยังเถียงกันไม่จบสิ้น 3. บางคนได้เป็น ส.ส.ภายใต้ระบบการเลือกตั้งนี้ เพียง 1 สัปดาห์ในปีแรกที่มีการเลือกตั้งใหม่ มีการนับคะแนนใหม่ แต่ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ไป 4. มีพรรคการเมืองมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมากกว่า 20 พรรค เฉพาะในรัฐบาลก็มีตั้ง 19 พรรค เมื่อการนับผลคะแนนเลือกตั้งล่าช้า ก็ทำให้การตั้งรัฐบาลก็ล่าช้าออกไป เป็นผลให้การพิจารณางบประมาณออกมาได้ช้าซึ่งส่งผลต่อการอัดฉีดระบบเศรษฐกิจมีปัญหาตามมา
ประเด็นที่ 2 ปัญหาจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 60 ยังเป็นการทำลายความรู้สึกของนักประชาธิปไตย ที่มีความเชื่อว่า ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ส่งเสริมจุดแข็งในเรื่องนี้แต่กลับทำลายจุดแข็งนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่ไม่น่านิยมชมชอบแต่ประการใด โดยเฉพาะระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่บอกว่าทุกคะแนนมีความหมาย ทุกคะแนนไม่ตกน้ำนั้น ฟังดูดี แต่เป็นระบบการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเน้นคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง มากกว่าที่จะเน้นพรรคการเมือง ซึ่งกรณีนี้หากใช้บังคับไปนานๆ จะทำให้ความสำคัญของพรรคการเมืองที่เป็นจุดสำคัญในรัฐธรรมนูญจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป และเมื่อความสำคัญของพรรคการเมืองลด ส่งผลให้ ส.ส.หลงตัวเองมากขึ้น และคิดว่าตัวเองได้รับเลือกตั้งมาด้วยตัวเอง ก็จะทำให้ความภักดีต่อพรรค วินัยพรรค การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคเกิดขึ้นตามมา
ประเด็นที่ 3 ว่าผลของระบบเลือกตั้งนี้จะส่งผลต่อไปอีก เนื่องจากเมื่อมีการให้ความสำคัญต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็จะทำให้เกิดการประมูลตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะ ส.ส. ที่อยู่ในสภาเป็นเวลานานๆ ล้วนเคยเห็นเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น ว่าเกิดการประมูลตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชื่อเสียงดีในหลายแห่ง พรรคการเมืองใช้เงินมากขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องอาศัยนายทุน เมื่อพรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องมือของทุนนั้น ก็จะนำไปสู่ “การใช้ทุนสร้างพรรค ใช้พรรคยึดกุมอำนาจรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐเพิ่มทุน” ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคม
ประเด็นที่ 4 การที่ระบุว่า คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ก็ก่อให้เกิดอันตราย เพราะสมัยก่อนเวลาพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะดูว่าสู้ได้หรือไม่ แม้กระทั่งนักเลือกตั้ง นักซื้อเสียง ก็ยังไม่กล้าซื้อเสียงถ้าไม่มั่นใจ แต่ระบบการจัดสรรปันส่วนผสมนี้ซื้อแล้วไม่สูญ เพราะเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแพ้ แต่มีการนำคะแนนที่ได้มาคำนวณบัญชีรายชื่อพรรค ก่อให้เกิดการซื้อเสียง คาดว่าหากระบบนี้ยังใช้ต่อไปการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีการซื้อเสียงมากขึ้นไปอีก
“ประชาธิปไตยในบ้านเมืองจะเดินไปได้ ต้องทำให้ ประชาธิปไตยราคาถูก คือไม่มีการซื้อ ไม่มีการขาย”
ประเด็นที่ 5 ระบบไพรมารีโหวต ที่มีการกำหนดค่าสมาชิกพรรค หากสอบถามสาขาพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ก็กลายเป็นปัญหาได้
สำหรับประเด็นที่ 6 ในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ เรื่องความยากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ โดย 19 ฉบับก่อนหน้านี้ ในส่วนที่เป็นฉบับถาวร มี 13 ฉบับแก้โดยใช้เสียงข้างมากของ สมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน คือเกินครึ่งก็แก้ได้ มีจำนวน 4 ฉบับ ที่ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก 2 สภารวมกัน ซึ่งอาจถือหลักว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้นหากใช้เสียงเกินครึ่งก็อาจดูเหมือนเป็นการแก้ไขกฎหมายธรรมดา จึงได้ให้ความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ และที่สำคัญคือมีเพียงฉบับเดียว คือฉบับปี 2475 หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ที่ให้ใช้เสียง 3 ใน 4
“ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลยที่บอกว่าแม้จะได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายข้างมากเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนเห็นชอบด้วยจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ได้จากสมาชิกวุฒิสภา 84 เสียง ยังไม่พอ ยังเขียนต่อไปอีกว่า ยังต้องได้รับเสียงเห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 20 ในจำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย หรือไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐสภาด้วย ผมบอกว่าหลักอย่างนี้มันไม่ได้เดินตามหลักของประชาธิปไตยที่ว่าใช้เสียงข้างมากเป็นหลักเลย มันกลายเป็นว่าเสียงข้างมากจะมากเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเสียงข้างน้อยที่ว่านี้ (84 เสียง กับร้อยละ 20) ไม่เห็นชอบด้วย”
นายบัญญัติได้กล่าวต่อในประเด็นที่ 7 เนื้อหาในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีบ้าง และอื่นๆ ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไกลประชาธิปไตยมากไปหน่อย ดังนั้น จึงมั่นใจว่าหลังจากมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแล้ว ประเด็นเหล่านี้คงได้รับการนำเสนอต่อ ส.ส.ร.ต่อไป
“ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาที่ประชาธิปัตย์เอง ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นเลย แต่เมื่อวันหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้รับการประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคฯ ก็ต้องเคารพกฎหมาย และปฏิบัติตาม แต่ใจนั้นนึกอยู่ตลอดเวลาว่า โอกาสเปิดช่องเมื่อไหร่ มีโอกาสเมื่อไหร่ต้องแก้ไข”
นายบัญญัติกล่าวว่า ดังนั้นในทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล จึงได้ยื่นเงื่อนไข 3 ต้อง คือ ต้องยอมรับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ม.256 (ซึ่งเป็นมาตราที่แก้ยากที่สุด) และต้องบริหารราชการอย่างสุจริตอีกด้วย
พร้อมกับได้ชี้ให้เห็น 3 ความหวังในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคฯ จะได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งในส่วนการแก้ มาตรา 256 และในส่วนของการเพิ่มหมวดเรื่องจัดการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แบบที่เคยทำมาแล้วในปี 2539 ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 อีกทั้งการแถลงข่าวของประธาน กมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ก็ยิ่งเป็นการสร้างความหวังในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งรวมกันแล้วมีเสียงเกินกว่า 1 ใน 5 ก็สามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 256 ด้วย และที่สำคัญอีกความหวังที่จะได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลก็มีความเห็นร่วมกันว่าจะเดินตามแนวที่ได้คุยกัน กมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจัดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 150 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้ง กฎหมายมหาชน ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือมีความเชี่ยวชาญในการบริหารแผ่นดิน และยังมีการตั้งผู้แทนพรรคการเมือง รวมไปถึงผู้แทนจากกลุ่มนิสิต นักศึกษาเข้าไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่
“เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีก็ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย ส่วนผู้แทนพรรคการเมือง ที่ผ่านมา ในส่วนของ กมธ.ยกร่างฯ นั้นมักจะไม่มี เพราะเกรงว่าหากมีผู้แทนจากพรรคการเมืองเข้าไป อาจจะไปร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ซึ่งตรงนี้ผมเถียงมาตลอด ผมบอกว่าการที่ไม่มีผู้แทนพรรคการเมืองเข้าไปนั่งอยู่ตรงนี้เลย เมื่อคนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมจัดทำร่างฯ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้สะท้อนความเห็นให้คนร่างฯ ซึ่งมากด้วยจินตนาการได้รับความเข้าใจว่า ถ้าเขียนอย่างนั้นมันจะมีปัญหาอย่างนี้ตามมา ซึ่งมันเกิดขึ้นทุกครั้ง เพียงแต่อย่าให้มีจำนวนมากนัก แต่ให้เข้าไปสะท้อนความจริงในฐานะนักปฏิบัติ ก็จะทำให้รอบคอบรัดกุมดี”
นายบัญญัติบอกว่า เมื่อทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอด้วยอย่างนี้ และประธานสภาก็ได้มีการกำหนดวันเวลาไว้ต้นเดือนนี้ จะมีการบรรจุระเบียบวาระ ดังนั้นเมื่อร่างฯ ดังกล่าวได้เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะได้มีการพูดจาถึงความเหมาะสมต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ยังคงมีปัญหาที่อาจต้องอดใจรอดูกันพอสมควรคือเรื่องท่าทีของวุฒิสภา ซึ่งจากที่เคยมีท่าทีไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น และมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก ทำให้มีหลายคนออกมาขานรับกันพอสมควรแล้ว จึงทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้มากขึ้น
นายบัญญัติยังได้กล่าวกับผู้ร่วมฟังการสัมมนาว่า ตนมีความมั่นใจว่าสาขาพรรค และตัวแทนพรรค ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นมาระยะเวลายาวนาน ล้วนเป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อโอกาสเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็คงต้องมีความหวังกันตามสมควร พร้อมกับในช่วงนี้พรรคฯ ได้จัดตั้งตัวแทนจังหวัด ซึ่งทราบว่ามีจำนวนไม่น้อยแล้ว ต้องขอแสดงความชื่นชม ในความมีอุดมการณ์เป็นประชาธิปไตยของทุกคน และคุณสมบัติของคนที่นิยมประชาธิปไตยก็คือต้องมีความอดทน รอคอยความหวัง เพราะการเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตยนั้น เป็นการเดินไปบนเส้นทางที่ต้องทำความเข้าใจล่วงหน้าว่า เกมยาว เห็นหนทางที่จะต้องมีความอดทน เพียงแต่ขอให้ได้มีโอกาสพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นๆ ไม่ถอยหลังเหมือนอย่างที่เคยผิดหวังกันมาแล้ว