"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๔ กันยายน ๒๕๖๓ มีประเด็นสำคัญที่คิดว่าควรนำมาชำแหละและวิพากษ์นั่นคือ การให้เหตุผลของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
มาดูกันว่าพวกเขาเหล่านั้นแสดงความคิดและเหตุผลอะไรบ้างที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเหตุผลเหล่านั้นฟังขึ้นหรือมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด
การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดมาจาก ส.ว. แต่บางส่วนก็มาจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเองทั้งจากส.ส..พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายจุมพล จุลใส ส.ส.จังหวัดชุมพร สำหรับเหตุผลทั้งหมดที่ผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาสรุปได้ดังนี้
๑.การให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติจากประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมาแล้วจึงมีความชอบธรรม หากจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องนำไปให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรแก้หรือไม่ หากไม่ทำก็ถือว่าเป็นการทรยศประชาชน จะเห็นได้ว่าข้ออ้างนี้ผู้อ้างละเลยไม่ได้นำกระบวนการทำประชามติ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกควบคุมกำกับโดย ค.ส.ช. และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการจับกุมและไม่ยอมให้กลุ่มที่คัดค้านรัฐธรรมนูญเรณรงค์เผยแพร่ความคิด ขึ้นมาเป็นประเด็นในการพิจารณาแต่อย่างใด การทำประชามติจึงเป็นการบีบบังคับและกีดกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแบบแผนการลงประชามติในประบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ จึงการลงประชามติแบบด้อยค่าและขาดความชอบธรรม
๒.การอ้างเรื่องระยะเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญว่าเพิ่งใช้ได้ ๒ ปี เท่านั้น ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบแก้ไข ข้ออ้างเรื่องเวลาในการใช้สะท้อนว่า ผู้อ้างไม่ได้พิจารณาปัญหาเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจากการมีและใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นและถูกนำไปใช้ไม่ว่าจะเป็นเวลาสั้นหรือยาวเพียงใด แต่หากมีสร้างปัญหาที่รุนแรงตามมา เรื่องเวลาในการใช้ไม่ใช่เกณฑ์หลักที่จะนำมาตัดสินใจได้ หากแต่ต้องดูว่าสิ่งที่นำมาใช้สร้างความเสียหายหรือมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใดมากกว่า การอ้างเรื่องเวลาเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด
๓.การอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีเพราะเป็นรัฐธรรมนูฐปราบโกงจึงไม่ต้องแก้ไข การเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้เป็นความเชื่อเชิงมายาคติ ที่ปราศจากความจริงรองรับแต่อย่างใด ข้อมูลเชิงประจักษ์เท่าที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำให้การทุจริตคอรัปชั่นลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับไร้ประสิทธิภาพและไร้สมรรถภาพอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถทำอะไรได้กับรัฐมนตรี และส.ส.ที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับทุจริตได้แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกปิดทรัพย์สิน กรณีนาฬิกายืมเพื่อน หรือ การเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด หรือ การบุกรุกที่ดินสาธารณะ ก็ตาม
๔.การอ้างว่าไม่อาจกระทำพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับที่เคยทำในอดีตได้ ข้ออ้างนี้มาจาก ส.ส.บางคนที่เคยรณรงค์ให้ประชาชนรับรัฐธรรมปี ๒๕๖๐ การอ้างเช่นนี้ด้านหนึ่งดูคล้ายกับว่าเป็นคนที่มีจุดยืนมั่นคง แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนเป็นคนที่มีความคิดคับแคบและยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์เท่าใดนัก เพราะการที่เคยทำสิ่งใดในอดีต ก็เป็นการตัดสินใจภายใต้บริบทของอดีต ซึ่งอาจเหมาะสมในช่วงเวลานั้น แต่ครั้นเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลง ผู้มีปัญญาก็ย่อมต้องพิจารณาประเมินว่าการกระทำแบบเดิมยังเหมาะสมอยู่อีกหรือไม่ การกระทำแบบหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งอาจส่งผลด้านบวกต่อสังคม แต่การกระทำเดียวกันในอีกช่วงเวลาหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางลบก็ได้ ดังนั้นการอ้างว่าอดีตทำเช่นไร ปัจจุบันและอนาคตก็ทำเช่นนั้นอีก จึงเป็นข้ออ้างที่ขาดน้ำหนัก
๕.การอ้างเชิงเทคนิคว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วในอดีตว่าแก้ไขไม่ได้ ในประเด็นนี้ก็ได้มีการชี้แจงจาก ส.ว.บางคนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คนอ้างเข้าใจคลาดเคลื่อน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้เพราะว่า การแก้ไขครั้งนี้ไม่เหมือนกับในอดีตและผู้เสนอร่างแก้ไขก็ไม่มีเจตนาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐแต่อย่างใด
๖.การอ้างเรื่องการสิ้นเปลืองงบประมาณ โดยกล่าวว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องเสียเงินเป็นหมื่นล้านบาทในการทำประชามติ น่าจะนำเงินไปแก้ปัญหาโรคโควิดจะดีกว่า สำหรับข้ออ้างเรื่องนี้มีสองแง่มุม นั่นคือ เมื่อมีความจำเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ก็กำหนดให้มีการลงประชามติ นั่นหมายความว่า รัฐได้ยอมรับต้นทุนทางการเงินสำหรับการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาๆไว้แล้ว จึงไม่มีข้ออ้างใด ๆ ว่าเปลืองงบประมาณอีกต่อไป เพราะหากคิดประหยัดหรือเสียดายงบประมาณก็ไม่ควรมีการกำหนดให้มีการลงประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น
สำหรับแง่มุมที่สองคือ การเลือกตั้งหรือการลงประชามติสามารถมองในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้ เพราะมีการใช้จ่ายในการจ้างงานและสร้างรายได้แก่บุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นวิธีการใช้เงินที่ดีและมีประสิทธิผลยิ่งกว่าการนำเงินไปแจกแก่ประชาชนเปล่า ๆ โดยไม่ต้องทำงานดังที่รัฐบาลได้กระทำมาโดยตลอดในปีนี้
๗.การอ้างว่า การร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับตีเช็คเปล่า จึงไม่สามารถให้ได้ ข้ออ้างนี้หมายความผู้อ้างทึกทักเอาเองว่า พวกตนเองเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจอธิปไตยและมีสิทธิ์ในการสร้างกติกาปกครองประเทศ ส่วนประชาชนคนอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ไม่น่าไว้วางใจ เชื่อไม่ได้ และไม่ควรให้อำนาจในการร่างกฏเกณเกณฑ์ของบ้านเมือง รวมทั้งการกล่าวหาผู้เสนอร่างแก้ไขมีเล่ห์เหลี่ยมหวังให้ตนเองได้ประโยชน์และพ้นจากความผิด การกล่าวหาแบบนี้มีลักษณะเป็นการใส่ร้ายป้ายสีปราศจากความจริงหรือหลักฐานใดเชิงประจักษ์มารองรับ เป็นการกล่าวที่ขาดความรับผิดชอบและขาดจริยธรรมอย่างยิ่ง
การกล่าวว่าการตีเช็คเปล่า ยังสะท้อนทัศนคติที่ดูถูกประชาชน หลงตนเอง และสะท้อนถึงความปรารถนาในการควบคุมอำนาจเอาไว้ที่กลุ่มตนเอง การคิดว่ากลุ่มของตนเองมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในการออกแบบและสร้างกติกาปกครองประเทศเพียงกลุ่มเดียวย่อมไม่สอดคล้องกับค่านิยมและบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย การอ้างเรื่องการตีเช็คเปล่าจึงขาดน้ำหนักและเป็นตรรกะวิบัติ
๘.การอ้างว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่จะไม่มีประเด็นที่ตนเห็นว่าดี เช่นประเด็นเกี่ยวกับการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือ ประเด็นการห้ามฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปแทรกแซงเรื่องบประมาณ ข้ออ้างนี้เป็นการตีตนไปก่อนไข้ หวาดระแวง และคิดว่ามีแต่พวกตนกลุ่มเดียวที่สามารถสร้างเรื่องที่ดีได้ อันที่จริงเรื่องดีที่ผู้อ้างเชื่อว่าดี ก็เป็นเพียงความเชื่อและค่านิยมชุดหนึ่งเท่านั้นเอง
สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีความหลากหลายของกลุ่มผู้ร่างมากกว่าเดิม และมีแหล่งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมเป็นหลักประกันและมีความชอบธรรมมากกว่ากลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ที่มาจากการแต่งตั้งด้วยอำนาจของการรัฐประหารอย่างไม่อาจเทียบกันได้ ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการกำหนดประเด็นที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมและของประชาชนในขอบเขตที่กว้างและครอบคลุมมากกว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เสียด้วยซ้ำ
ในประเด็นเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ๓ ประการหลักคือ ประการแรกได้แก่ มีการอ้างว่าสถานภาพและอำนาจของ ส.ว.ผ่านการลงประชามติแล้ว จึงไม่ควรแก้ ข้ออ้างนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับการอ้างเพื่อคัดค้านไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ นั่นเอง ดังนั้นจึงไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใด เพราะที่มาของ ส.ว. ขาดความชอบธรรม และมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เพราะได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ที่กรรมการสรรหามีผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นเอง
ประการที่สอง ส.ว.อยู่ยังไม่ถึงสองปี ยังไม่ครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงควรให้อยู่ต่อจนครบ และอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีก็มีเพียงแต่ ๕ ปี ขณะนี้ก็เหลือไม่กี่ปีก็หมดหน้าที่แล้ว ข้ออ้างนี้ย่อมฟังไม่ชึ้น เพราะหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่า ส.ว.ทำหน้าที่ตอบสนองผู้แต่งตั้งตนเองยิ่งกว่าประชาชน ดังนั้นยิ่งอยู่ก็ยิ่งเป็นผลเสียต่อประชาชน
ประการที่สาม การจะลงมติให้ตัวเองไม่ทำงาน (การตัดอำนาจในการเลือกนายกฯ) ทำไม่ได้ เพราะอาจละเมิดลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ในเรื่องการละเว้นๆไม่ปฏิบัติหน้าที่ ข้ออ้างนี้อ้างแบบเอาสีข้างเข้าถู เพราะให้อำนาจและเป็นความอิสระ ส.ว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนอยู่แล้ว
จะเห็นได้ว่า โดยใช้เหตุผลที่คัดค้านการแก้ไขรัฐรัฐธรรมนูญเป็นล้วนแล้วแต่เป็นที่เหตุผลขาดความชอบธรรมและมีความโน้มเอียงไปในทางตรรกวิบัติ รวมทั้งการสร้างภาพและจินตนาการที่เกินจริง ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าประสงค์ใหญ่ประการเดียวคือ การรักษาสถานภาพ อำนาจ และความเป็นอภิสิทธิ์ชนของพวกตนให้อยู่ต่อไปนั่นเอง