เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่าหากเป็นไปตามกำหนด ในกลางดึกวันที่ 24 กันยายน ก็จะทราบแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถเริ่มนับหนึ่งได้หรือไม่ นั่นคือ จะสามารถผ่านการโหวตรับหลักการในวาระแรก ได้หรือไม่ สามารถผ่านการลงมติรับรองในวาระแรกเป็นญัตติร่างแก้ไขฉบับใด จากที่เสนอไปจำนวน 6 ฉบับ ที่เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอให้แก้ไข มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยสัญญาว่าจะไม่แตะต้อง หมวด 1 ที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง และ หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ และ อีก 4 ฉบับ เป็นของพรรคฝ่ายค้าน ที่แยกเป็นญัตติเสนอแก้ไขรายมาตรา
หากประเมินกันล่วงหน้าในแบบที่ยังไม่ทราบผลโหวต ก็ต้องเห็นแนวโน้มว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอแก้ไข มาตรา 256 มีโอกาสมากที่สุด อีกทั้งยังมีหลักการใกล้เคียงกับร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอเข้ามาแบบเดียวกันอีกด้วย
ดังนั้น สิ่งที่ต้องลุ้นก็คือ ต้องรอดูว่าฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะต้องได้เสียงไม่ต่ำกว่า 84 เสียง ถึงจะได้ไปต่อ แต่เอาเป็นว่า นาทีนี้ ร่างของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอแก้ไข มาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.มีโอกาสมากที่สุดก็แล้วกัน
แม้ว่าในร่างแก้ไขรายมาตราบางฉบับ ก็อาจมีลุ้น เช่น ให้แก้ไข มาตรา 272 ที่ให้ลดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี และร่างแก้ไขที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ที่น่าจับตา เนื่องจากมี ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการแก้ไข “แบบเลยเถิด” อีกทั้งยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนนับหมื่นล้านบาท และใช้เวลานาน
ขณะที่การแก้ไขรายมาตรา เช่น ให้ลดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกฯ และแก้ไขให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ก็มีคนเห็นด้วยไม่น้อย แต่ก็นั่นแหละมันมีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ เพราะเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติเข้าไปแล้ว ก็ต้องสนับสนุนญัตติของตัวเอง
ดังนั้น เชื่อว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะผ่านวาระแรก และได้ไปต่อ เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้ว คงจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากมีหลักการโดยรวมเหมือนกัน นั่นคือ การตั้ง ส.ส.ร. และไม่แตะหมวดที่ 1 และ 2 ดังกล่าว อีกทั้งยังเชื่อว่าในนาทีสุดท้ายแล้ว ทางฝ่าย ส.ว.ก็คงจะมี “ข้อมูลใหม่” เข้ามาและโหวตหนุนเพิ่มเติมจนน่าจะมีเสียงเกิน 84 เสียง หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีหลายคนที่แสดงจุดยืนสนับสนุนให้แก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังมีท่าทีไม่ชัดเจน
เมื่อผ่านวาระแรกไปแล้ว ก็ต้องเข้าสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ไปจนเสร็จสิ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำประชามติ การมี ส.ส.ร. และกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วไปจนถึงการทำประชามติอีก อย่างน้อย 1-2 ครั้ง ซึ่งเพียงแค่นี้ก็พอหลับตามองเห็นภาพแล้วว่า ต้องใช้เวลานานเป็นปี หรือเกือบสองปี
ซึ่งยังมั่นใจว่าหากไปถึงขั้นการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. หากไม่ออกนอกลู่นอกทางจนป่วนในที่สุดแล้วก็คงผ่าน นั่นคือ ผ่านโดยรัฐสภา และผ่านการลงประชามติ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากัน ก็คือ “มันต้องใช้เวลา” เป็นปี และในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ตาม แต่เขาก็ต้องอยู่เป็นรัฐบาลต่อไป เพราะนี่คือ “กระบวนการ” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับที่ว่าไม่ว่าจะรังเกียจ หรือด่าว่า ส.ว.แค่ไหน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพึ่งมือของพวกเขาในการยกมือสนับสนุน หากต้องการให้การแก้ไขโดยสันติ และผ่านขั้นตอนทางรัฐสภา
นอกเหนือจากใช้วิธีปฏิวัติประชาชน ซึ่งนาทีนี้ยังมองไม่เห็น รวมไปถึงยังมองไม่เห็นศักยภาพของบรรดาแกนนำม็อบ ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก รวมไปถึง นายเพนกวิน อะไรนั้น หรือแม้แต่คนที่ถูกระบุว่าอยู่เบื้องหลังคนพวกนี้ เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็คงไม่น่าจะมีพลังจนสามารถพลิกฟ้าคว่ำดินลงได้แน่นอน อย่างมากก็คงแค่ป่วน สร้างความรำคาญเท่านั้น
เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ก็คงต้องเดินไปตามเส้นทางรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ นานเป็นปี แต่ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นมันก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังอยู่ในอำนาจต่อไป โดยก่อนหน้านี้ ก็ย้ำว่า “ไม่ขัดขวาง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาว่ากันไป ความหมายก็คือเขา “ลอยตัว” ผลออกมาอย่างไรก็รับได้ ด้วยเหตุผลประชาธิปไตยเสียอีก พรรคร่วมรัฐบาลก็อยู่ร่วมกันต่อไป
ขณะเดียวกัน กระบวนการนอกสภาก็มีการผ่อนแรงกดดันลงไปทีละเปลาะ ล่าสุด ก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่แย้มออกมาแล้วว่า จะเริ่มการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนภายในเดือนธันวาคมปีนี้ แล้วถึงตอนนั้นทุกพรรคก็จะไปสาละวนกับการคัดตัวผู้สมัคร การแย่งกันส่งตัวแทนชิงตำแหน่ง อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเลยจากขั้นตอนวาระแรก ยังไม่ถึงวาระที่สาม ความน่าสนใจก็จะจางหายไป ถึงตอนนั้น “ลุงตู่” ก็จะหายใจหายคอได้โล่ง
ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปไหนก็ตาม หากผ่านวาระแรกโดย เฉพาะในการแก้ไข มาตรา 256 ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. ที่ตามกระบวนการต้องใช้เวลานานเป็นปี ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ “ลอยตัว” อยู่ยาวไปจนจบเกมนั่นแหละ !!