xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเสนอตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการแก้ รธน.แล้วชงเข้ามาใหม่ พ.ย.ปัดยื้อชี้โหวตไปก็ทางตัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ที่ประชุมรัฐสภา
“วิรัช” เสนอตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการแก้ รธน.แล้วพิจารณาใหม่ ปัดยื้อเวลา แต่โหวตไปก็ถึงทางตัน ขอกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ก่อนเสนอเข้ามาโหวตใหม่ พ.ย. “ชลน่าน” ขอเลือกทางออกประเทศ อย่าตัดสินใจผิดพลาดเป็นตราบาปเหมือน 14 ตุลา

วันนี้ (24 ก.ย.) ความคืบหน้าการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาว่าะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ที่ประชุมรัฐสภาได้ให้แต่ละฝ่ายอภิปรายสรุปญัตติ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า วาระนี้เป็นวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ ใครจะเห็นด้วยกับร่างหรือญัตติใดก็เป็นสิทธิ์ของบุคคล แต่กรณีที่มีสมาชิกถามว่า ถ้าลงมติไปแล้วไม่รับหลักการร่างที่ 3-6 แต่รับร่างที่ 1 หรือ 2 แล้วจะนำไปพิจารณาในชั้น ส.ส.ร. ได้อีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า ส.ส.ร. สามารถทำหน้าที่ตามกรอบของ ส.ส.ร. คือ สิ่งที่ทำไม่ได้ คือ ข้อห้ามที่ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 แต่ยังสามารถพิจารณามาตราอื่นตามญัตติ 3-6 ที่ตกไปได้ เพราะไม่มีข้อห้าม และตนขอชี้แจงว่าแม้ตกในสมัยประชุมนี้ ก็ยังสามารถพิจารณาได้ เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ก็สามารถนำมาพิจารณาในสมัยประชุมหน้าได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดต้องแก้ไขยาก แต่ต้องไม่ยากเกินจนเป็นปัญหา และต้องสามารถแก้ในสิ่งที่จะเป็นปัญหาได้ แต่ถ้าในช่วง 2 ปีนี้ นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา หรือมีการเปลี่ยนแปลง ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายในรัฐธรรมนูญใน 4 มาตรา ที่พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านจะยื่นฉบับเดียว คือ แก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. แต่ถ้าไม่รับก็สามารถที่จะเลือกเฉพาะมาตราที่ต้องการจะแก้ไขและเป็นว่าเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองอีก 4 ญัตติได้

ส่วนกรณีที่หลายคนไม่เห็นด้วยมีเหตุผลหลายประการ เช่น การทำประชามติก่อนการเลือกว่าจะร่างทั้งฉบับหรือไม่ ตนเห็นว่าให้โหวตญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมก่อนที่จะไปให้ประชาชนทำประชามติเลือกว่าจะเอาหรือไม่ ดีกว่าการทำประชามติแค่ว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพราะจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่า ว่า ถ้าไม่เอา ถ้าไม่เอาก็จะไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. ประเด็นต่อมาคือ คำถามว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง และเกิดมาจากรัฐธรรมนูญตามที่สมาชิกหลายคนได้ชี้แจงไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคือ บ้านพังทั้งหลังก็ต้องซ่อมบ้านใหม่ ซึ่งดีกว่าซ่อมทีละจุด บางคนบอกว่า รัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้ หลายคนอภิปรายไปแล้วว่ามีปัญหาทั้งระบบและคนใช้รัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติก็มีปัญหา ที่มาก็มีปัญหา ดังนั้น ต้องแก้ที่ระบบก่อน ส่วนที่หลายคนกลัวว่าาจะยกเลิกสิ่งที่ดีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนเห็นว่า สามารถเก็บสิ่งที่ดีไว้ได้ และสามารถเพิ่มเติมในดีขึ้นได้ในการยกร่าง อีกเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย คือ สิ้นเปลืองงบประมาณ ตนมองว่า คุ้มค่าและใช้งบประมาณประชามติ 3 ครั้ง ไม่ถึง 15,000 ล้านบาท บางคนกล่าวว่ากลัว ส.ส.ร. มาจากตัวแทนของพรรคการเมือง แต่ตนเห็นว่า ถ้าเชื่อมั่นและไม่มีการบิดเบือนก็จะไม่ตกในอาณัติของใคร เราต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นต้องประณาม อย่าโทษระบบต้องโทษที่การกระทำ ส่วนข้อที่บอกว่า นำรัฐธรรมนูญ 2560 ไปใช้แล้วยังไม่เกิดปัญหา นี่เป็นเหตุผลใหญ่ที่ต้องแก้ ประชาชนสะท้อนมาตลอดว่าเกิดปัญหา ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และถือว่าเป็นการส่งเสียงของประชาชน เป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ หรืออย่างเช่น ไอลอว์รวมชื่อมากว่าแสนชื่อ ก็เป็นเสียงสะท้อนของประชาชน และเมื่อเป็นความต้องการของประชาชน กระแสเรียกร้องนี้ก็จะเพิ่มความรุนแรง ดังนั้น จึงต้องใช้พื้นทีสภาในการลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน การรับหลักการในวาระที่ 1 ไม่ได้ก่อความเสียหายใด รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังใช้อยู่ และร่างใหม่ก็ต้องทำประชามติ มีโอกาสพิจารณาในรายละเอียดอยู่ ตนขอเรียกร้องว่า อำนาจเป็นของประชาชนให้ประชาชนตัดสิน ตั้ง ส.ส.ร. ประชาชนก็ตัดสิน และเมื่อได้ร่างแล้ว ประชาชนก็ต้องทำประชามติอีกทีก่อนโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมต้องปิดกั้น ไม่รับหลักการทำให้ประชาชนเสียโอกาส ดังนั้น สิ่งที่ไม่ทำคือการตัดโอกาสประชาชน และที่บอกว่าทุกคนทำเพื่อประชาชน ตอนนี้มีโอกาสแล้ว

อีกทั้งการแก้รัฐธรรมนูญนี้ไม่เกี่ยวกับการลดอำนาจ ส.ว. เลย ส.ว. แต่ละคนมาจากคนที่โดดเด่นในสายงาน แม้ว่าการทำหน้าที่ของ ส.ว. ก็ต้องทำไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมที่บังคับให้กระทำ โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่บังคับให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าแก้มาตรานี้ ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก ส.ว. ให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ตอนนี้ที่พึ่งของประชาชนอยู่ที่รัฐสภา ถ้าเราไม่ตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด ถ้าเกิดปัญหาเกิดขึ้นก็จะเป็นตราบาปว่าเป็นเพราะการตัดสินใจพลาดเพียงนิดเดียว ไม่อยากให้เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ขอให้พวกเรามาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ หาทางออกให้ลูกหลานเยาวชน ตอนนี้ประชาชนไม่ได้มากดดัน แต่มารอฟังข่าวดีที่รัฐสภาจะรับหลักการให้โอกาส แล้วถ้าวาระ 2-3 ไม่เห็นชอบ ก็ไม่เป็นไร ตอนนั้นสถานการณ์ก็จะดีขึ้น ขอให้โอกาสในการลดความขัดแย้ง

ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสรุปว่า บางครั้งที่มีการอภิปราย เราจะเห็นความรู้สึกว่าสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาก็จะมีความสามัคคี แต่วันนี้เราจะเห็นถ้อยคำแปลกๆ ที่เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน วันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะมีคนถามถึงแต่ร่างรัฐธรรมนูญ เอาร่างไหน แก้แล้วประชาชนได้อะไร ตนจะไม่อ้างถึง 16 ล้านเสียง ที่ยืนยันรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตอนนี้เป็นทางที่จะต้องเลือกว่าจะเดินหน้าต่อไป หรือเดินต่อแล้วหยุดเพื่อพูดคุยกัน ทุกคนรักชาติบ้านเมืองเหมือนกันหมด แต่ทำอย่างไรที่จะได้พูดคุยกัน เราไม่มีคณะกรรมาธิการร่วมที่จะได้เจอกันบ่อยๆ ข้อบังคับการประชุม 121 วรรค 3 เขียนขึ้นเพื่อที่จะมีโอกาสให้คนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มาคุยกันก่อน ถ้าตนเดินมาแล้วหยุดอยู่ตรงจุดนี้ ก็จะไม่ยอมให้ร่างแก้ไขรัฐะรรมนูญที่ตน และ ส.ส. เสนอมาให้ตกไป แต่ถ้าจะช้าไปสักเดือนก็คุ้มค่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราก็จะไม่แตะ แต่ถ้าเดินหน้าแล้วไม่ได้รับความไว้วางใจโหวตเห็นชอบ ตนเห็นว่า เสียง ส.ว. มีความจำเป็นในการแก้ไขมาตรา 256 ตนคิดว่า ถ้าใช้เวลาพูดคุยกันบ้างไม่เกิน 30 วัน ร่างที่ตนเสนอเข้ามาก็จะกลับมาใหม่ในการประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา ตนได้รู้ว่าตนยังทำไม่ครบในร่างอีกหลายอย่าง อยากถาม ส.ว. ว่ายังขาดหรือต้องเติมในส่วนไหน ขอย้ำว่า ไม่ได้ประวิงเวลา ถ้าเดินไปข้างหน้าก็ตัน แต่ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการตามข้อบังคับ 121 วรรค 3 ตนคิดว่า เดือนพฤศจิกายนจะได้ผ่านร่างทั้ง 6 ร่าง และมีการโหวต ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ตนเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. มีวุฒิภาวะและตั้งใจทำงานเต็มที่ ตนขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการก่อนรับหลักการ และเลื่อนการพิจารณาเข้ามาเป็นสมัยหน้า และบอกฝ่ายค้านว่า ทำไมเราไม่มาร่วมมือกันแก้ปัญหา ถ้าวันนี้ได้เลยตนก็ไม่ขัด แต่วันนี้ถ้าทำแล้วเป็นทางตัน ตนก็จะหยุดรออีก 1 เดือน แล้วกลับมาใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น