xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญหมื่นล้าน แลกอำนาจนักการเมือง-คุ้มค่า!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา







เชื่อว่าหลายคนที่พอได้เห็นตัวเลขที่ต้องจ่ายราคาแพงกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรดานักการเมืองกำลังเดินเครื่องกันอย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นประชาธิปไตยและปิดทางการสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยเมื่อได้พิจารณาตามขั้นตอนทางกฎหมายที่ระบุว่า หากเป็นการแก้ไขในแบบให้มีการยกร่างใหม่ นั่นคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือหากแก้ไขในหมวดสำคัญ จะต้องผ่านขั้นตอนการลงประชามติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องทำอย่างน้อยสองครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ทั่วประเทศอีก ไม่น้อยกว่า 5 พันล้าน รวมแล้วน่าจะต้องใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท) หรืออย่างต่ำแล้วย่อมไม่หนีหนึ่งหมื่นล้านบาทแน่นอน

แต่บางคนบอกว่าเพื่อประชาธิปไตย และการป้องกันการสืบทอดอำนาจของเผด็จการเสียเท่าไหร่ก็คุ้มค่า อีกทั้งยังอ้างว่าเป็นการกระจายรายได้เสียอีก โดยทางกูรูด้านกฎหมายบอกว่า การทำประชามติจะต้องเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสองครั้ง หรือ 3 ครั้ง นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.ไม่ได้จบที่ผลโหวตของรัฐสภา แต่ตามกระบวนการต้องไปให้ประชาชนตัดสินใจโดยตรง (ประชามติ)

ครั้งที่หนึ่งประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 256 ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.และครั้งที่ 3 ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. หากว่ากันสำหรับร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย แต่หากใช้ฉบับร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีการทำประชามติแค่สองครั้งก็ได้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากความเป็นไปได้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลานี้เชื่อว่า น่าจะมีแนวโน้มไปทางการแก้ไข มาตรา 256 ที่จะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยเป็นร่างที่เสนอพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างญัตติด่วนของพรรคร่วมรัฐบาล และกำหนดให้มีการอภิปรายก่อนลงมติ ในวาระแรกกันในวันที่ 23-24 กันยายนนี้

แม้ว่าล่าสุดยังมีร่างแก้ไขในแบบรายมาตรา โดยเฉพาะการแก้ไขที่มุ่งเน้นใน มาตรา 272 ที่เกี่ยวกับการลดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ซึ่งในร่างของ ส.ส.ฝ่ายค้านกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 13 พรรค ที่ก่อนหน้านี้ รวบรวมเสียงได้ 99 เสียง แต่ในที่สุดแล้วมี ส.ส.จากพรรคฝ่ายรัฐบาลบางคนถอนชื่อออกมาแล้ว ทำให้มีเสียงไม่พอหนึ่งในห้า ของจำนวน ส.ส.คือ 98 ราย ต้องแท้งไปโดยปริยาย ทำให้ยังเหลือร่างแก้ไขแบบรายมาตราของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า จะมีการเสนอเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง โดยในจำนวนที่บอกว่าจะเสนอแก้ไข 4 ประเด็น ก็มีเรื่องการแก้ไข มาตรา 272 รวมไปถึงเรื่องการแก้ไขให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งแบบใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในแบบเดียวกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่จนถึงวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ยื่นญัตติแก้ไขในแบบรายมาตราเข้ามาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เมื่อมาพิจารณาถึงเรื่องการทำประชามติ ที่แม้ว่าในเวลานี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอแล้ว (กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน) ซึ่งยังต้องผ่านการพิจารณาของสภาต่อไป ซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายเห็นว่าจำเป็นก็คงเร่งพิจารณาอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเรื่องการทำประชามติ ซึ่งก็ต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อย่างที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าครั้งละ 4-5 พันล้านบาท หากต้องทำประชามติไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ก็ต้องไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ถึง 15,000 ล้านบาท ถือว่ามีจำนวนไม่ใช่น้อย ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้มันก็ทำให้หลายคนเริ่มคิดมากเหมือนกัน

อีกทั้งหลายคนยังเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อการแย่งชิงอำนาจของพวกนักการเมืองเท่านั้น หรือเพียงเพื่อต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะให้พ้นไปจากอำนาจเท่านั้น และไม่มีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจริง เพราะเชื่อว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาก็จะมีการกล่าวหาว่าเป็นคนของนักการเมือง ของพรรคการเมือง ถูกครอบงำอะไรประมาณนั้น

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า นาทีนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องดำเนินต่อไป เพราะกลายเป็น “กระแส” ที่ต้องเดินตาม เพียงแต่ว่าสิ่งที่ยังไม่มีการพูดถึงหรือพยายามเลี่ยงไม่พูดถึงกันมากนัก ก็คือ การใช้งบประมาณในการทำประชามติที่ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับคำว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่ความหวังที่เชื่อว่าทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟู นำการเมืองพัฒนาไปสู่สากล ซึ่งหลายคนคงตั้งคำถามตามมาว่า จริงหรือเปล่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น